Skip to main content
sharethis

15 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดลำพูน ยกฟ้องชาวบ้าน 15 คนโป่งรู ในข้อหาบุกรุกที่ดิน สปก. ในเขตพื้นที่ ตำบลน้ำดิบ ตำบลมะกอก และตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นคดีตั้งแต่เดือน มกราคม 2545 เป็นต้นมา

กรณีนี้นับเป็น 1 ใน 26 กรณีปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ ซึ่งเรื้อรังมานาน และเป็นหนึ่งในกว่าพันคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องในข้อหาบุกรุก ทำลายทรัพย์สินในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ก่อนถูกดำเนินคดี

ที่ดินผืนที่เป็นปัญหานี้ เดิมทีเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาในปี พ.ศ.2520 ได้มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) นำไปจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน และออกเอกสารสิทธิ สปก. ในเนื้อที่ 303 ไร่ คนที่ได้รับสิทธิกลับเป็นของนายทุน ซึ่งไม่ใช่เกษตรกร

นายอัมพร ปัญญาคำ ชาวบ้านโป่งรู ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนหนึ่งที่พ้นคดีเล่าว่า "เห็นเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หน้าแล้งก็เกิดไฟไหม้ทุกปี ชาวบ้านต้องเข้าไปช่วยกันดับ พอชาวบ้านเข้าไปปฏิรูปที่ดิน ตรวจสาระบบที่ดินจึงรู้ว่าเป็นที่ดิน สปก. แต่แปลกใจว่าทำไมเจ้าของสปก.จึงเป็นคนรวย เป็นเจ้าของโรงงาน ไม่ใช่เกษตรกรในพื้นที่ คนบ้านโป่งรูไม่มีที่ดินตั้งเยอะ ทำไมไม่ได้รับจัดสรร"

ปลายปี พ.ศ.2544 ชาวบ้านตกลงกันที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินผืนดังกล่าว สภาพตอนนั้น มีต้นไม้ใหญ่อยู่ประปราย แต่ส่วนใหญ่เป็นป่าหญ้าคา และไมยราบ ชาวบ้าน 150 ราย จากบ้านโป่งรู อ.ปางซาง บ้านเหล่าแมว กิ่งอ.เวียงหนองล่อง มาร่วมกันแผ้วถางในเวลา 5 วัน และจัดสรรกันคนละ 1 ไร่ 2 งาน ต่างคนต่างปลูกกล้วย และลำไย

แต่ในช่วงปี พ.ศ.2546 พืชผลที่ปลูกไว้และเพิงพักต่าง ๆ ถูกรื้อทำลาย และชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งมีชาวบ้านทั้งหมด 15 คน จากบ้านโป่งรู สันป่าฮัก พระบาท ไร่กอค่า นครเจดีย์ ถูกดำเนินคดีจากการที่ตำรวจส่งรายชื่อไปโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ด้วยความหวาดกลัวสมาชิกเดิมบางส่วนก็ถอนตัวไป แต่ก็มีสมาชิกใหม่มาสมทบจากหมู่บ้านอื่น ๆ รวม 80 คน แบ่งสรรที่ดินกันใหม่รายละ 3 ไร่ และเข้าไปเพาะปลูกอีกครั้ง แต่ต้นไม้บางส่วนก็ขาดน้ำตาย ส่วนที่ดินใกล้อ่างเก็บน้ำพอจะปลูกพืชไร่ได้ผลอยู่บ้าง ซึ่งนอกจากสมาชิกแล้วก็ปรากฏว่ามีชาวบ้านอื่น ๆ เข้ามาใช้ที่ดินปลูกพืชไร่ในพื้นที่นี้ด้วย

โป่งรู กับรูรั่วของรัฐ

แน่นอนว่า ตามกฎหมายนั้นชาวบ้านไม่มี "สิทธิ" ที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินผืนดังกล่าว แต่สิทธิตามกฎหมาย กับความชอบธรรมนั้นอาจเป็นคนละเรื่องกัน

กรณีนี้ ชาวบ้านโป่งรูพยายามจะอ้าง "สิทธิธรรมชาติ" ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่จะใช้แรงงานของตนเองในการทำมาหาเลี้ยงชีพจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็อ้างความชอบธรรมในฐานะที่ตนเองเป็นเกษตรกรคนยากจน ที่ควรจะได้รับ สปก. ตามหลักการของการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งชาวบ้านก็เอาที่ดินมาเจียดแบ่งกันทำกินเพียงคนละไร่สองไร่เท่านั้น

แต่การแจก สปก. และนโยบายปฏิรูปที่ดินของรัฐนั้นต้องมีปัญหาบางอย่าง จึงทำให้นายทุน ซึ่งหลัก ๆ แล้วมีอยู่ 3 รายสามารถครอบครองที่ดินได้ถึง 303 ไร่ ขณะที่เกษตรกรนับร้อยยังขาดแคลนที่ดินทำกิน จนทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปที่ดินกันเอง

"การปฏิรูปที่ดินของชาวบ้าน ทำให้รัฐมีการตรวจสอบการให้สิทธิที่ดิน ที่ผ่านมาเพิกถอน สปก. ไปแล้ว 6 ราย 9 แปลง และเป็นบรรทัดฐานว่าต่อไปต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนกว่านี้ และควรให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปที่ดินด้วย เพราะชาวบ้านจะรู้ว่าใครบ้างที่ขาดแคลนที่ดินทำกินจริง ๆ" นายสุแก้ว ฟุงฟู ผู้ต้องหาซึ่งพ้นคดีกล่าว

เกษม พิญญาหลวง หนึ่งในผู้ต้องหาที่พ้นคดีจากบ้านโป่งรูบอกว่า "เรื่องนี้สู้กันมานานแล้ว และ เตรียมใจไว้แล้วว่า อาจจะแพ้คดีเหมือนบ้านอื่น ๆ แต่ พอผลออกมาแบบนี้ก็โล่งใจ แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องสู้ต่อไป สำหรับที่ดินที่ถูกเพิกถอน สปก. ก็จะประชุมให้พี่น้องชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์มากขึ้น คดีถูกยกฟ้องแล้ว พี่น้องก็จะมีกำลังใจในการทำกินมากขึ้น ส่วนที่ดินที่ยังไม่เพิกถอนก็จะเร่งให้รัฐตรวจสอบ"

กรณีที่ผู้ครอบครอง สปก. ไม่ใช่เกษตรกรแต่เป็นนายทุน เป็นกรณีปัญหาที่คุ้นชินกันดีในสังคมไทย ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานพอ ๆ กับการตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดิน และมีกรณีตัวอย่างให้เราพบเห็นอยู่ตลอดมาในทั่วทุกภาคของประเทศ เงื่อนงำของปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในเชิงกระบวนทัศน์ของนโยบายนี้เลยทีเดียว

ที่ดิน อภิมหาอมตะปัญหาขั้นพื้นฐาน

เมื่อรัฐบาลว่าเปิดรับลงทะเบียนคนจน โดยให้แจกแจงปัญหาความทุกข์ยากในชีวิต มีคนจนกว่า4 ล้านคน ไปลงทะเบียน และปัญหาต้น ๆ ของความยากจน คือ การไม่มีที่ดินทำกิน

รัฐบาลมีแนวทางหลายประการด้วยกันที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว นโยบายหลักคือการจะแปลงเอกสารสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นโฉนดเหมือนกันหมด โดยเฉพาะ สปก. ก็จะถูกแปลงให้เป็นโฉนด

นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐมนตรีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยังมีนโยบายล่าสุด โดยเตรียมจะออกออกพันธบัตรมูลค่า 40,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินมาจัดสรรให้คนจนที่ลงทะเบียนไว้ 4 แสนคน หรือคิดเป็น 10% จากคนจนทั้งหมด 4 ล้านคน ขณะเดียวกันก็จะรับโอนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากกรมป่าไม้นำมาจัดสรรร่วมด้วย

แนวนโยบายเหล่านี้ฟังดูดี แต่ฟันธงได้เลยว่าไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาคนจนได้

30 ปีที่ผ่าน มีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินไป 59 ล้านไร่ และมีการมอบที่ดิน สปก. ให้เกษตรกรไปแล้ว 20 ล้านไร่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการจัดสรรที่ป่าเสื่อมโทรมให้เกษตรกร มากกว่าการนำที่ดินที่กระจุกอยู่กับคนรวยมาจัดสรรให้คนจน

แต่ไม่นานหลังจากที่ได้ที่ดิน เกษตรกรก็นำไปขายต่อให้นายทุน ทั้ง ๆ ที่ตามกฎหมายระบุไว้ว่า สปก.นั้น เป็นสิทธิในการทำเกษตรบนที่ดินโดยห้ามนำไปซื้อขายเปลี่ยนมือกันเด็ดขาด

ที่เป็นแบบนี้จะโทษว่าเกษตรกรผิดเพียงฝ่ายเดียวนั้นไม่ได้ เพราะที่ผ่านมารัฐไม่ได้สนับสนุนภาคการเกษตรเท่าที่ควร ชาวไร่ชาวนาปลูกอะไรก็ล้มเหลวไปเสียหมด เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องขายสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ขณะที่ระบบทุนนิยมเสรี และนโยบายรัฐนั่นเอง ก็ทำให้ที่ดินกลายเป็น "สินค้า" ราคางาม และคงจะเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่เกษตรกรพอจะนำมาแลกเงินเลี้ยงชีพได้

นี่ยังไม่นับรวมกรณีการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการ ที่ทำให้นายทุนและผู้มีอิทธิพลได้รับ สปก. แทนที่จะเป็นเกษตรกรอีก

ดังนั้น จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าหาก สปก. ทุกผืนกลายเป็นโฉนด ตามนโยบายรัฐ "ราคา" มันคงจะงามขึ้นอีกหลายเท่าตัว และก็คงจะส่งกลิ่นหอมหวนไปยังนายทุนผู้หิวโหยทั้งหลายให้พากันกว้านซื้อไปกักตุนเอาไว้เก็งกำไรอีกตามเคย

นโยบายพันธบัตร 40,000 ล้านบาทก็คงจะไปช่วยให้นายทุนปั่นราคาที่ดินของตัวเอง เพราะจะขายให้แก่รัฐในราคาแพง แล้วซื้อกลับคืนมาจากเกษตรกรในราคาถูก ขณะเดียวกันก็จะไปกว้านซื้อที่ดินผืนอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะที่ดินที่เคยเป็นป่าสงวนแล้วรัฐนำไปจัดสรรให้เกษตรกร

ส่วนเกษตรกรผู้ยากไร้ ก็คงจะมีที่ดินผ่านมือเข้ามาชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ก่อนที่มันจะหมุนกลับไปสู่มือของนายทุนเหมือนเดิมอีก

ดังนั้น ภายใต้นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนี้ มันจะเป็นเพียงนโยบายที่ "แปลงสินทรัพย์เป็นของนายทุน" ซึ่งไม่มีวันแก้ไขปัญหาคนจนได้

ทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาอภิมหาอมตะนี้ คือ การให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปฏิรูป ซึ่งที่ผ่านมา เครือข่ายที่ดิน 26 แห่งภาคเหนือก็ได้ดำเนินการนำร่องให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว

อย่างกรณีบ้านโป่งรู แม้ว่าชาวบ้านจะได้ที่ดินมาแบบที่ยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็พยายามสร้างกลไกในการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน มีการวางระเบียบว่าห้ามซื้อขายที่ดินเด็ดขาด หากไม่ทำประโยชน์ก็ให้คืนที่ดินสู่ชุมชน เพื่อนำไปจัดสรรให้ผู้อื่นทำกินต่อไป มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เดือนละ 20 บาท เพื่อสะสมเงินไว้พัฒนาสาธารณูปโภคในที่ดิน หรือเป็นเงินให้สมาชิกยืมใช้ในยามฉุกเฉิน เพื่อจะได้ไม่ต้องขายที่ดินกิน

นี่เป็นแนวทางเบื้องต้นในการจัดการที่ชาวบ้านจะใช้เป็นหลักประกันความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เพื่อให้ยังประโยชน์แก่เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ที่ดินทำกิน เพื่อไม่ให้ที่ดินตกอยู่ในวงจรของการปั่นราคาเก็งกำไรตามกลไกตลาด.

อัจฉรา รักยุติธรรม
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net