Skip to main content
sharethis

ประชาไท-19 มิ.ย.2548WWFประเทศไทย เผยว่า ชะนีมงกุฎในไทยลดลง และเสี่ยงต่อการถูกคุกคามจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก ซึ่งล้วนเกิดจากฝีมือของมนุษย์ ไม่ว่าปัญหาการล่าสัตว์ และทำลายป่า

หลังจากที่ WWF ประเทศไทย ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเปิดเผยผลการสำรวจจำนวนประชากรชะนีมงกุฎและหาแนวทางในการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติและเขตรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจาก 17 พื้นที่ทั่วประเทศอันเป็นแหล่งอาศัยของชะนีมงกุฎ เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา องค์กรอนุรักษ์ ประมาณ 40 คนนั้น

จากการสำรวจในพื้นที่เขตอนุรักษ์ 5 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ในระยะเวลา 1 ปีเต็มพบว่า ในจุดที่ออกสำรวจทั้ง 5 เขตอนุรักษ์ ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 7,024 ตารางกิโลเมตร พบชะนีมงกุฎประมาณ 12,221 ตัว

โดยแต่ละกลุ่มจะแยกอาศัยกระจายเป็นหย่อมๆ ในพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมซึ่งเหลืออยู่ราว 3,700 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น และยังจัดว่าเสี่ยงต่อการถูกคุกคามจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีลักษณะคล้ายเกาะที่ถูกโอบล้อมด้วยหมู่บ้านและพื้นที่กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ รวมทั้งยังมีปัญหาการล่าสัตว์ และทำลายป่า

นางสาวรุ้งนภา พูลจำปา หัวหน้าโครงการศึกษาประชากรชะนีมงกุฎของ WWFประเทศไทย กล่าวว่า จากการประมาณการของศาสตราจารย์ วอร์เรน บร็อคเคลแมน จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ที่พบว่าทั่วประเทศไทยมีชะนีมงกุฎเหลืออยู่ราว 30,000 ตัวในพื้นที่อาศัยที่เหมาะสมราว 50,000 ตารางกิโลเมตร

"และจากการลงพื้นที่สำรวจของเราครั้งล่าสุดทำให้เชื่อว่า ขณะนี้จำนวนประชากรชะนีในประเทศไทยเหลือน้อยลง เพราะถ้าดูจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นชัดเลยว่าพื้นที่ป่ามีขนาดลดลง ซึ่งก็หมายความว่า ถิ่นที่อยู่และแหล่งหากินที่เหมาะสมกับชะนีย่อมลดลงด้วย แต่ถ้าจะให้ระบุชัดเจนว่าลดลงกี่ตัวในเวลากี่ปีคงตอบไม่ได้ เพราะไม่สามารถนำตัวเลขสำรวจครั้งนี้ไปเทียบกับผลงานสำรวจเดิมของผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ได้ เนื่องจากใช้เกณฑ์การสำรวจต่างกัน และขอบเขตพื้นที่ต่างกัน" นางสาวรุ้งนภา กล่าว

สำหรับวิธีการสำรวจชะนีมงกุฎในครั้งนี้ ใช้ทั้งการสำรวจแบบ ฟังเสียง (Listening Post Surveys) เพื่อศึกษาจำนวนและความหนาแน่นของประชากรชะนีมงกุฎ การสำรวจแบบ ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) และแบบสอบถาม เพื่อศึกษาถึงการปรากฏตัวและปัจจัยคุกคามของชะนีมงกุฎ และการวางแปลงศึกษาโครงสร้างสังคมพืชในแต่ละพื้นที่สำรวจ โดยศึกษาความโตของต้นไม้ และความสูงของยอดไม้ เนื่องจากชะนีเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามเรือนยอด ซึ่งส่วนใหญ่มีความสูงราว 20 เมตรขึ้นไป และเมื่อได้ข้อมูลจากการสำรวจทั้ง 3 ส่วน จึงนำมาประมวลผลร่วมกันเป็นข้อสรุป และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อคิดหาแนวทางการจัดการเพื่ออนุรักษ์ชะนีมงกุฎ

นางสาวรุ้งนภา กล่าวต่อว่า เนื่องจากการสำรวจจำนวนประชากรชะนีมงกุฎครั้งล่าสุดนี้ ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่การกระจายของประชากรชะนีมงกุฎซึ่งมีอยู่ใน 17 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศเพราะการสำรวจครั้งนี้ดำเนินการใน 5 พื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น จึงตั้งใจว่าจะเตรียมเดินหน้าขยายโครงการสำรวจออกไปยังพื้นที่อื่นๆอีก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น และครอบคลุมพื้นที่การกระจายตัวของชะนีมงกุฎอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ผลการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์ประชากรสัตว์ชนิดนี้พบว่า ประเด็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชนิดพันธุ์ดังกล่าวลดลงอย่างน่าเป็นห่วงก็คือ การสูญเสียพื้นที่อาศัย อันเนื่องมาจากการบุกรุกและทำลายพื้นที่ป่า การลักลอบล่าชะนีเพื่อนำมาเป็นอาหารและเป็นสัตว์เลี้ยง รวมถึงการขาดข้อมูลทางวิชาการ ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รณรงค์สร้างจิตสำนึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของชะนีมงกุฎให้มากขึ้น และจัดให้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาต่างๆ อันจะนำไปสู่แนวทางการอนุรักษ์ประชากรชะนีมงกุฎอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ ตลอดจนนักวิชาการต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อให้สัตว์ชนิดนี้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์และดำรงอยู่คู่ป่าเมืองไทยสืบไป

ชะนีมงกุฎ (Hylobates pileatus) เป็นชะนีหนึ่งใน 4 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย โดยอีก 3 ชนิดคือ ชะนีมือขาว ชะนีมือดำ และชะนีดำใหญ่ โดยชะนีมงกุฎจัดอยู่ในวงศ์ Hylobatidae ส่วนชะนีแก้มขาวนั้นอาจพบในกรงเลี้ยง ซึ่งเป็นการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สำหรับชะนีมงกุฎจัดอยู่ในสถานภาพแนวโน้มที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Vulnerable) ใน IUCN Red List of Threatened Species และอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ในอนุสัญญาไซเตส โดยพบกระจายอยู่ใน 3 กลุ่มป่าคือ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าเขาพนมดงรัก-ผาแต้ม

สามารถอ่านรายละเอียดโครงการได้ที่http://www.wwfthai.org/thai/project/ongoing_project/CB/pileatedgibbons.asp

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net