นักวิชาการชี้ระบบทุนแบบผูกขาดในธุรกิจน้ำมัน ทำชาติล่มจม

ประชาไท-23 มิ.ย. 48 "โครงสร้างของตลาดน้ำมันในบ้านเรามีไม่กี่เจ้า ทำให้มีผู้ผลิตผู้ขายน้อยรายเกิดการผูกขาดในระบบธุรกิจค้าน้ำมัน และทำให้การกำหนดราคาน้ำมันสามารถทำได้ตามอำเภอใจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีกำไรมหาศาลที่เกิดจากผูกขาดราคาและกำหนดราคาเอง ผลก็คือไทยขาดดุลการค้าอย่างมากใน 4 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา เพราะการส่งออกไม่คุ้มกับการนำเข้าน้ำมัน" รศ.ดร.ณัฐพล ขันธไชย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

วานนี้เวลา ประมาณ 13.00 น. รายการทิศทางเศรษฐกิจ สทท.11 ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานสัมมนาเรื่อง น้ำมันแพง-ขาดดุลพุ่ง วิเคราะห์ทางออกเศรษฐกิจไทย โดยมีที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สส. และสว. ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาเพื่อดูรากฐานของปัญหาและหาแนวทางแก้ไข ณ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต

รศ.ดร.ณัฐพล คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงว่า เป็นเพราะปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศเป็นตัวกระตุ้นให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันของโลกสูงขึ้น ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เมื่อมีการผลิตสูงขึ้นก็ต้องใช้พลังงานมาขึ้นตามไปด้วย แต่ปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการ

รศ.ดร. ณัฐพลกล่าวต่อว่า อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่มาจากปัจจัยภายนอกก็คือ กองทุนเก็งกำไรน้ำมันหรือกลุ่มเฮดฟันด์ ซึ่งเป็นกลุ่มกองทุนเพื่อหวังกำไรระยะสั้น เมื่อมีสภาพความเสี่ยงในการใช้น้ำมันของโลกเกิดขึ้น กลุ่มเฮดฟันด์นี้จะฉวยโอกาสในการซื้อน้ำมันกักตุนไว้ตอนราคาถูกแล้วค่อยทยอยขายออกมาเมื่อราคาสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดมีความผันผวนสูง

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวต่ออีกว่า สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้นก็มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทอ่อนตัวทำให้ต้องซื้อน้ำมันในราคาเงินบาทเพิ่มขึ้นแต่ได้ปริมาณเท่าเดิม เพราะใช้เงินสกุลดอลล่าห์สหรัฐฯ เงินตัวกลางในการซื้อขาย วิกฤติภัยแล้ง ซึนามิ ไข้หวัดนก ฯลฯ และที่สำคัญคือโครงสร้างของตลาดน้ำมันในประเทศมีการผูกขาดจากเจ้าของธุรกิจ

"จะเป็นได้ว่าการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจของธุรกิจน้ำมันทำให้มีการผูกขาดแบบเอกชน ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์แถมยังสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชน เพราะเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นแต่รายได้ประชาชนเท่าเดิม จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ อำนาจซื้อของประชาชนลดลง ดังนั้นรัฐที่ดีควรดูแลไม่ให้มีการผูกขาดเกิดขึ้น" รศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ในขณะที่ผศ.ดร.บุญมาก ศิรินวกุล กล่าวเกี่ยวกับเรื่องใช้นโยบายประหยัดพลังงานของรัฐบาลว่า การจัดการของรัฐไม่มีประสิทธิภาพ เพราะในเบื้องต้นรัฐวางตัวบุคคลที่จะแก้ไขไม่สอดคล้องกับปัญหา ซึ่งอาจทำให้การการแก้ไขออกไม่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ขาดการพยากรณ์และการบอกล่วงหน้าแก่ประชาชนถึงสถานการณ์ของน้ำมันหรือพลังที่จะเกิดขึ้นพร้อมวิธีรับมือแก้ไข

"หนทางแก้ไขวิกฤติน้ำมันแพงในตอนนี้ก็คือ การหันมามองเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพราะเงินมันเฟ้อ ประชาชนต้องลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยและอดทน ทางรัฐบาลหรือนายกฯ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงการบริหารที่เป็นแบบคอร์รัปชั่น เป็นแบบเศรษฐี ให้หันมามองที่รากฐานความจริง และไม่ต้องสร้างข่าวมากลบข่าวอีกต่อไป" อดีต สส.ราชบุรีกล่าว

ด้านนายภาคิน สมมิตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สส.ระบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ในเรื่องของนโยบายการประหยัดพลังงานต่าง ๆ นั้น รัฐบาลได้ทำดีที่สุดแล้วในการหาหาแนวทางแก้ไข และจะเร่งจัดทำแผนรณรงค์เพื่อจูงใจประชาชนให้ลดใช้พลังงานแบบฟุ่มเฟือย อีกทั้งยังศึกษาเพื่อหาสิ่งทดแทนอื่นมาใช้แทนน้ำมัน เช่น ก๊าซธรรมชาติ แอลทานอล แก๊ซโซฮอลล์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยลดการน้ำเข้าน้ำมันได้

สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท