Skip to main content
sharethis

พังงา- 26 มิ.ย.48 เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 มิ.ย.48 ที่ห้องอาหารพุทธชาติ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีการสัมมนาครึ่งปีซึนามิกับเส้นทางการฟื้นฟู โดยเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอันดามัน มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

นายไมตรี จงไกรจักร์ แกนนำเครือข่ายชี้แจงวัตถุประสงค์การสัมมนาว่า นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานฟื้นฟูชุมชนของแต่ละพื้นที่แล้ว ยังเป็นเวทีหารือ ถึงการพัฒนา สะท้อนความจริง ให้หน่วยงานรัฐได้รับรู้ปัญหา และหันหน้ามาช่วยเหลือ ร่วมพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือ
การรวมพลังพี่น้องผู้ประสบภัย ที่จะได้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

จากนั้นตัวแทนจากพื้นที่ประสบภัย 6 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ได้รายงานสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยแยกตามลักษณะปัญหาได้ดังนี้

ปัญหากรณีพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านกับเอกชน ได้แก่ หมู่บ้านทับตะวัน จ.พังงา เอกชน เข้ามาอ้างสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวมอแกน ปิดทางเข้าที่จอดเรือของชาวเล

หาดแหลมป้อม เอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ชาวบ้าน ในที่ดินเหมืองแร่หมดสัมปทาน อยู่ระหว่างการฟ้องร้องในศาล หลังเกิดคลื่นซึนามิ เอกชนได้ขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านกลับเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ต่อมา ชาวบ้านได้กลับเข้าไปสร้างบ้านในที่ดินเดิม กว่า 30 ครอบครัว ขณะนี้ เอกชนกำลังขอเจรจาไกล่เกลี่ยในศาล

บ้านในไร่ จ.พังงา หลังเกิดคลื่นซึนามิ เอกชนได้แสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมานาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 48 เอกชนได้ออกประกาศให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินแปลงดังกล่าว ทางชุมชนได้ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความ

ปัญหาต่อมา คือกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ เช่น เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่ มีปัญหากรณีพิพาทเนื่องจากกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกประกาศทับที่ชาวบ้าน ประมาณ 4,000 ไร่ เช่นเดียวกับหาดทรายดำ จ.กระบี่ ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ออกประกาศทับที่ของชาวบ้าน

หาดป่าตอง หาดภูเก็ต ชาวบ้านมีปัญหาอยู่อาศัยในที่ดินริมหาด ขณะนี้มีการผ่อนผันให้อยู่ได้เพียง 5 ปี ทั้งที่ชาวบ้านอยู่ในบริเวณดังกล่าวมานาน

บ้านแหลมนาว จ.ระนอง ชาวบ้านมีกรณีพิพาทกับกรมอุทยานแห่งชาติ

บ้านหินลูกเดียว จ.ภูเก็ต มีปัญหากลุ่มกลุ่มมอแกน อยู่อาศัยในที่ดินของของอุทยานฯ ประมาณ 20 ครอบครัว ท่าฉัตรไชย ชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินราชพัสดุ ขณะนี้มีการจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านอาศัยอยู่แล้ว

จ.ตรัง พื้นที่ 3 อำเภอกับ 1 กิ่งอำเภอ มีปัญหาชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดิน ของรัฐ หลายประเภท เช่น ที่ดินของกรมเจ้าท่า ป่าชายเลน ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่เกาะมุก อ.กันตัง, หาดฉางหลาง อ.สิเกา, หาดทรายทอง ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน, ทุ่งตาเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ จ.สตูล มีลักษณะปัญหาเช่นเดียวกับ จ.ตรัง

ปัญหาต่อมา คือ ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติ ที่บ้านบางกล้วยนอก บ้านบางเบน บ้านตากลาง จ.ระนอง คนไทยดังกล่าว อาศัยอยู่ในฝั่งพม่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการปักปันเขตแดน ไม่ได้กลับเข้ามาอยู่ในฝั่งไทย ปัญหาของคนกลุ่มนี้ ก็คือ ทางพม่าไม่ยอมรับเป็นพลเมือง ขณะที่ประเทศไทยไม่ยอมให้สัญชาติ

เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีพิพาทที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน ทางคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ ที่มีพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขลุล่วงไปด้วยแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ จ.ตรัง สามารถตกลงกันได้โดยกันเขตให้ชาวบ้านอยู่อย่างชัดเจน

ส่วนปัญหาคนไทยไร้สัญชาติ จนถึงขณะนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ เนื่องจากรัฐอ้างว่า คนกลุ่มนี้ ไม่ได้เป็นพลเมืองไทย

ต่อมาเวลา 20.00 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมอันดามันบุรี ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่พิพาทที่ดินกับเอกชน ทุกพื้นที่ ได้เข้าหารือกับพล.อ.สุรินทร์ โดยทั้งหมดยืนยันว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ พร้อมกับแจ้งกับพล.อ.สุรินทร์ว่า ขณะนี้พวกตนกำลังถูกคุกคามจากกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net