Skip to main content
sharethis

ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมาย พระราช บัญญัติป่าชุมชน ตั้งปี 2533 เป็นต้นมา จนบัดนี้เป็นเวลา 15 ปีแล้ว ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ยังไม่ได้ออกเป็นตัวบทกฎหมายจริงๆเสียที

โดยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 มีการเปิดเวทีนักการเมืองพบประชาชน เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่ห้องประชุมสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี โดยมีตัวแทนชุมชนสมาชิกสมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือกว่า 200 คน เข้าร่วมหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคเหนือ ได้แก่ นายวิทยา ทรงคำ และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ นายสมบูรณ์ ไพรวัลย์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน

ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน นอกจากจะเป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่ยกร่างและผลักดันโดยประชาชน ตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ว่าด้วยสิทธิชุมชนท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และ มาตรา 170 ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนแล้ว ยังมีร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่เสนอโดยรัฐบาลและพรรคการเมืองอีก 5 ฉบับ

ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา การร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน มีการวิจัยรอบด้านเพื่อให้ได้องค์ความรู้มาพัฒนากฎหมายที่เหมาะสม ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องมาไม่น้อยกว่า 100 ครั้ง ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงมีความก้าวหน้าในเชิงเนื้อหา มีการเชื่อมโยงการอนุรักษ์และการพัฒนาท้องถิ่นอย่างบูรณาการ

แต่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วม 2 สภา (สภาผู้แทนราษฏร และ วุฒิสภา) ไม่แล้วเสร็จในสมัยที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวจึงตกไป หลังการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ กระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้รัฐสภานำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง และรัฐสภาได้ดำเนินการโดยแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาฝ่ายละ 12 ท่าน ทั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากว่าจะดำเนินต่อไปในทิศทางใด

นายอนันต์ ดวงแก้วเรือน กำนันตำบลแม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ประธานสมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า หากร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนได้รับการพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายจริง ทางสมัชชาฯถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญ ที่จะนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากร ตามเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ ปัจจุบันสมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือ มีสมาชิกชุมชนป่ากว่า 1,200 ชุมชน ในการเสนอร่างครั้งก่อนซึ่งมีการเข้าชื่อผู้สนับสนุน 50,000 รายชื่อ เคยได้รับคำปรามาสจาก ส.ส. บางคนในทำนองที่ว่า เพียงแค่ 50,000 คนเป็นจำนวนน้อยเกินไปเพียงแค่หยิบมือเดียวของคนทั้งประเทศ ซ้ำยังกล่าวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเพียงนวัตกรรมใหม่ของเอ็นจีโอบางกลุ่มเท่านั้น

ขณะนี้จึงเกิดความพยายามที่จะเข้าชื่อยกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนให้ได้ครบ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อให้ได้เสียงที่ดังขึ้น มีคนรับฟังมากขึ้นจึงเป็นที่มาของโครงการระดม 1 ล้านรายชื่อเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ป่าชุมชนในปี 2548 หลังจากเคยระดม 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชนเมื่อปี 2542 และระดมรายชื่อนักวิชาการ 1,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ป่าชุมชนในปี 2546

อนึ่ง มีรายละเอียดหลายประการในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่พยายามทำให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด อาทิเช่น ชุมชนที่มีสิทธิจัดตั้งป่าชุมชนต้องเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และได้พิสูจน์ว่าดูแลจัดการป่ามาอย่างดี และหากมีนายทุนหรือชาวบ้านบุกรุกเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะถูกลงโทษจากกฎหมายป่าชุมชนและกฎหมายเดิม

หากมีการตรวจสอบพบว่าป่าชุมชนใดมีนายทุนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ พื้นที่ดังกล่าวจะถูกเพิกถอนจากการเป็นป่าชุมชนทันที โดยจะกลับเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของรัฐดังเดิม และหากป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ถูกเพิกถอน ชุมชนนั้นจะไม่สามารถขอจัดตั้งป่าชุมชนใหม่ได้อีก

มีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ นับตั้งแต่มีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์เมื่อ 15 ปีก่อน พื้นที่ป่าที่เคยมีอยู่เกินครึ่งของพื้นที่ประเทศไทยในเวลานั้น กลับลดลงอย่างน่าใจหายเหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 30 ในปัจจุบันบางทีอาจถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ต้องหันมาทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่จริงในเวลานี้ ตัวบทกฎหมายป่าไม้เก่าแก่ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน อาจต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อประโยชน์สูงสุดของการจัดการทรัพยากรของชาติ ซึ่งทุกคนต่างมีสิทธิ์ ทุกคนต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรทิ้งไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net