Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 มิถุนายน 2548 ที่ศาลาประชาคมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นายสมชาย สุนทรมัฏฐ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบเงินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา ให้กับตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล 14 แห่ง ในอำเภอจะนะ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนงบประมาณ 15 ล้านบาท

จากนั้น นายไกรสีห์ กรรณสูตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ รองผู้ว่าการอาวุโสกลุ่มพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายอำนวย ลายไม้ จากบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) นายทากิโอชิ ตัวแทนบริษัท มารูเบนิ จากญี่ปุ่น ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา

นายสมพร แถลงว่า วันนี้เป็นการเริ่มต้นของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา ซึ่งจะใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย เป็นเชื้อเพลิง โดยซื้อจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด จะแต่งตั้งนายอำนวย ลายไม้ อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์ โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย บริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่นี้ มาดูแลการป้อนก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าดังกล่าว

นายสมพร แถลงอีกว่า ขณะนี้ทางจังหวัดสงขลา กำลังพิจารณาตัวแทนของชุมชนในพื้นที่อำเภอจะนะ ที่จะมาเป็นคณะกรรมการร่วมกำกับดูแลการก่อสร้างมิให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการแรกที่จะมีการจัดสรรเงินรายได้ 1 สตางค์ต่อหน่วยให้กับท้องถิ่น ตามมติคณะ
รัฐมนตรี

นายณรงค์ศักดิ์ แถลงว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิต 750 เมกะวัตต์ หากมีการใช้ไฟฟ้าประมาณ 7,000 ล้านหน่วยต่อปี หัก 1 สตางค์ต่อหน่วย จะทำให้ชุมชนในพื้นที่ ได้รับเงินประมาณ 30 - 50 ล้านบาท ต่อปี เป็นเวลา 25 ปี ซึ่งเงินดังกล่าวจะสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้

นายณรงค์ศักดิ์ แถลงอีกว่า ตามแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2551 บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ประกอบด้วย บริษัท ซีเมนต์ จากประเทศเยอรมนี และบริษัท มารูเบนิ โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้านำเข้ามาจากเยอรมนีเช่นกัน เพราะมั่นใจในคุณภาพ

"นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังได้ว่าจ้างบริษัท หาดใหญ่ พี.เอส.เอ็ม. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพื้นที่ เป็นผู้รับเหมาปรับพื้นที่และถมที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา และงานขุดสระน้ำ เป็นเวลา 4 - 5 เดือนนับจากนี้ ก่อนจะโอนพื้นที่ให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป" นายณรงค์ศักดิ์ แถลง

นายไกรสีห์ แถลงว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นหนึ่งในสี่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ เพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี หลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้เสร็จ จะมีการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้านนทบุรี โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าบางปะกง เหตุที่เลือกสงขลาเป็นที่ตั้งโครงการ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก ส่วนเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องอากาศ น้ำและดิน จะดูแลมิให้เกิดผลกระทบเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า โดยจะเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะรับแรงงานในพื้นที่เข้ามาทำงานในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ด้วย

จากนั้น นายณรงค์ศักดิ์ ได้นำตัวแทนบริษัทรับเหมา พร้อมคณะสื่อมวลชนชมรอบๆบริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา ตำบลคลองเปียะ และตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ ในพื้นที่ 750 ไร่ โดยบางส่วนได้ปรับพื้นที่ไปบ้างแล้ว และกำลังมีการสร้างถนนเชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 43 สายหาดใหญ - ปัตตานี เข้าพื้นที่ก่อสร้าง

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ดำเนินการ ขณะนี้กำลังศึกษาแนววางท่อส่งก๊าซใหม่ จากโรงแยกก๊าซตรงมายังโรงไฟฟ้า ซึ่งมีระยะทางเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น สั้นกว่าแนวเดิม 3 กิโลเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชนด้วย นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำลังพิจารณาแนวสายส่งไฟฟ้าที่จะเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบ ความยาว 8 กิโลเมตร จากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไปยังสถานีไฟฟ้าหาดใหญ่ 2 ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net