Skip to main content
sharethis

"ปัญหาการจับกุมชาวบ้านปางแดง เป็นแผลที่อยู่ในใจของเรามาตลอด ทุกคนรู้สึกเจ็บปวด เพราะถูกจับมาถึงสามครั้งสามหน ล่าสุดเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา เขาแจ้งข้อหาบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า เป็นความผิดซึ่งหน้า จับพวกเราขณะที่กำลังนอนอยู่ในบ้าน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนพิการ คนใบ้ คนท้องก็ถูกจับ อยากจะถามว่า คนนอนอยู่ในบ้านตัดไม้ได้หรือ เป็นความผิดซึ่งหน้าด้วยหรือ" นายปุ๊ก ลุงที ตัวแทนชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าว

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมริดเจ็ส อโมร่า ท่าแพ จ.เชียงใหม่ มีการเสวนากรณีศึกษา ปัญหาและทางออกด้านนโยบายและการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนบนพื้นที่สูง โดยมีตัวแทนชาวบ้านชนเผ่าที่ได้รับผลกระทบจากการนโยบายรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ออกมาชี้แจงและเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาซึ่งเรื้อรังมายาวนาน

นายปุ๊ก ลุงที ตัวแทนชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องสัญชาติ ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ซึ่งทุกวันนี้ สิทธิพลเมืองของชาวบ้านปางแดงไม่เคยมีเลย เป็นเพียงลูกไก่ในกำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

ด้าน นายคำ โพธิ ตัวแทนชาวบ้านแม่อาย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่ถูกกรมการปกครองถอดสัญชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ถูกถอดสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2545 เป็นต้นมา ทำให้ชาว
บ้านแม่อาย จำนวน 1,243 รายต้องกลายเป็นคนต่างด้าว ทั้งที่เป็นคนไทยดั้งเดิมมาก่อน ซึ่งมีผลทางด้านจิตใจอย่างมาก

"ทุกวันนี้ ทุกคนต่างได้รับแผลกระทบจากการถูกถอดสัญชาติ ชาวบ้านที่เคยกู้เงินจาก ธกส. พอรู้ว่าโดยกรมการปกครองจำหน่ายกลายเป็นคนต่างด้าว ก็เข้ามาเร่งรัดให้จ่ายเงินที่กู้ไว้ ทำให้ทุกคนต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้ บางคนที่เคยทำงานเป็นลูกจ้างของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ก็ถูกปลดออกจากงาน กลับมาอยู่บ้านกันหมด"

นายคำ กล่าวอีกว่า ทางกรมการปกครอง ไม่เคยลงไปชี้แจงหรือให้คำแนะนำให้ชาวบ้านแต่อย่างใด จนต้องไปขอความเป็นธรรมกับหลายหน่วยงาน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย จึงได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง จนมีผลให้ยกเลิกการถอดถอนสัญชาติของกรมการปกครอง ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งขณะนี้ กรมการปกครอง กำลังเสนออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็ต้องรอผลการพิจารณาของศาลกันต่อไป

นายอาโล ลาชี ตัวแทนชาวบ้านพญาไพร อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กล่าวว่า ก่อนนั้นตอนเด็ก ตนไม่เคยรู้สึกว่า สัญชาติมีความสำคัญอย่างไร เพราะหมู่บ้านของตนเองนั้นอยู่ติดชายแดน แต่พอโตขึ้น เริ่มมีความรู้สึกที่ไม่ดี เพราะถูกจำกัดสิทธิมากมายหลายอย่าง อยากจะเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เวลาจะเดินทางไปในเมือง ก็ถูกตำรวจจับ ทำให้ชีวิตอยู่ด้วยความวิตกกังวล

"ในเรื่องการขอสัญชาติ เคยไปยื่นคำร้องขอสัญชาติที่อำเภอ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ทางอำเภอจะบอกว่า เอกสารไม่ครบ มีการเรียกเก็บเงินกันรายละ 400 อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเอกสาร ค่าเดินทาง ซึ่งตอนนี้ ชาวบ้านที่ยื่นคำร้อง เริ่มไม่มีความมั่นใจ เพราะทางการมักกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งตนไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องไปเหมารวมคนทั้งหมู่บ้านด้วย เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เพราะคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านไม่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะทุกคนอยากเป็นคนไทย อยากมีสัญชาติไทย จึงอยากให้รัฐมีนโยบายที่ชัดเจน และช่วยเร่งรัดให้เร็วกว่านี้" นายอาโล กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ หลังจากที่ตัวแทนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ และจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติต่อชาวบ้านโดยมิชอบ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกกันแล้ว ทางกลุ่มชาวบ้านชนเผ่าจะได้นำข้อเสนอทั้งหมด เสนอให้ทางรัฐบาลเพื่อนำไปปรับเปลี่ยนด้านนโยบายและการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงกันต่อไป

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net