Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่- 30 มิ.ย.48 สมช.ย้ำเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล เน้นเรื่องสัญชาติชนเผ่าและคนต่างด้าว

นายฉัตรชัย บางชวด นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)
กล่าวถึงที่มาของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 ม.ค.2548 ว่า เกิดขึ้นหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาพูดว่าเป็นห่วงเรื่องคนไร้สัญชาติ โดยเฉพาะเด็กไร้สัญชาติที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หลังจากนั้นจึงมอบให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีมานั่งคุยกัน โดยย้ำให้มีนโยบายและการปฏิบัติด้วยความรวดเร็ว จึงมีการตั้งคณะทำงานทั้งภาครัฐ-นักวิชาการร่วมกันร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวขึ้นมา

"หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2548 เห็นชอบในยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงมีการตั้งคณะกรรมการในระดับนโยบาย โดยมี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประ ธานและนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรองประธาน นอกจากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกภาคส่วนเข้ามาบริหารจัดการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเร่งรัดให้มีการแก้ไขโดยเร็ว"

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าในด้านการศึกษาและสุขภาพ ซึ่งมีการประสานงานร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังจากนี้ คงมีการปรับทัศนคติทั้งสองฝ่าย รัฐและชาวบ้านให้เข้าใจตรงกัน

ด้าน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตอนนี้ ถือว่า ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลยังสอบตก เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่มีภาคประชาชนเข้าร่วม เพราะยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ระบุว่าต้องมีทั้งภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้และเข้าใจยุทธศาสตร์ ต้องเข้มแข็งแม้ว่าจะต้องทะเลาะกันบ้าง

"อยากจะบอกว่า ถ้าเชื่อกันว่ายุทธศาสตร์นี้คือทางออก ก็ไม่มีเหตุผลที่จะล้มโต๊ะต้องทดลอง สร้างเครือข่ายการทำงานเป็นยุทธศาสตร์และขอเสนอให้ตามหาเจ้าของปัญหาให้เจอ ต้องมีฐานข้อมูลกันเอง นอกจากนั้นเอ็นจีโอที่เป็นมนุษย์ต่างดาว ที่มาจากข้างนอก ไม่ว่าองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศ ระหว่างประเทศ ต้องมาร่วมมือกันจริงๆ รวมไปถึง กลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมาย นักนโยบายต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาด้วย" ศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าว

นอกจากนั้น ศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ยังเรียกร้องให้สื่อมวลชนต้องทำงานให้เป็นข่าวเชื่อว่า ปัญหาคนไร้สัญชาติเป็นความสนใจของสื่อ รวมไปถึงองค์กรที่ให้ทุนการทำงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานงานด้านสิทธิชนเผ่า และองค์กรที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติต้องมาร่วมมือกัน

ในขณะที่ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า ในขณะนี้ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหาถูกลิดรอนสิทธิ ปัญหาสิทธิในการจัดการทรัพยากรฯ และปัญหาสิทธิสถานะบุคคล ซึ่งถือว่า เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก

"ตนเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวเพราะเป็นข้อเสนอขั้นต่ำที่สุด ในเรื่องสิทธิของมนุษย์ขั้นพื้น
ฐานทั้งหมด ซึ่งความจริงเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยได้ทำหรือทำช้า แต่แผนยุทธ
ศาสตร์นี้จะทำได้หรือไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่การจัดการ ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็จะเป็นฝ่ายสนับสนุน" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net