ตอนที่ 5 : ระบบเตือนซึนามิล่ม : ผิดพลาดหรือจงใจ?

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นซึนามิถล่มประเทศในเขตมหาสมุทรอินเดีย 3 วัน วุฒิสมาชิกโอลิมเปีย เจ. สโนวี่ได้ส่งจดหมายถึงพลเรือเอก Lautenbacher ซึ่งเป็นผู้อำนวยการแห่งชาติของหน่วยจัดการทางอากาศและมหาสมุทร (NOAA) เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับการไม่แจ้งเตือนภัยให้แก่ประเทศอื่นๆ ก่อนที่จะเกิดภัยคลื่นยักษ์ถล่ม แต่ NOAA แจ้งให้เพียงสองประเทศที่เป็นสมาชิกเท่านั้น คือ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย

"ความจริงมีเพียงสองประเทศที่ได้รับการแจ้งถึงเหตุภัยพิบัติ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งมีโอกาสประสบภัยนี้ไม่ต่างกัน กลับไม่ได้รับการแจ้งเตือน จึงเป็นข้อกังขาใหญ่จากประเทศอื่นๆ ที่ตกอยู่ในหายนะภัยเช่นกันว่า NOAAได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดในการดำเนินการต่อการแจ้งเตือนภัยหรือไม่" นางสโนวี่กล่าว

นางสโนวี่ยังได้กล่าวต่อด้วยว่า "การพยายามติดต่อประเทศต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนภัยนี้มีมากน้อยเพียงใด ถ้า NOAA มีปัญหาว่าไม่มีรายชื่อ/หน่วยงานที่จะให้ติดต่อได้ในประเทศเหล่านั้นอย่างที่ชี้แจงมา ก็ช่างน่าสงสัยเหลือเกินว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหล่านี้คือข้อคำถามที่ต้องการความกระจ่าง"

ข้อกังขาของนางสโนวี่สอดรับกันอย่างยิ่งกับการตั้งข้อสังเกตของนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย OTTAWA ศาสตราจารย์ไมเคิล ชอชซูดอฟสกี้ ซึ่งได้เขียนบทความเรื่อง "ภัยธรรมชาติที่รู้ล่วงหน้า: สิ่งที่วอชิงตันรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดคลื่นมรณะจากแผ่นดินไหว" ศาสตราจารย์ ชอชซูดอฟสกี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดในการไม่ได้แจ้งล่วงหน้าให้ประเทศต่างๆ ได้รับรู้ ทั้งที่เกิดแผ่นดินไหวในทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราตั้งแต่เวลา 00.57 น. ตามเวลากรินนิช (เวลาในประเทศไทยบวก 7 ชั่วโมง)

ยิ่งไปกว่านั้นแถลงการณ์ที่ส่งออกมา ยังนำมาซึ่งการละเลยต่อภัยธรรมชาติจากคลื่นยักษ์ซึนามิ เพราะเป็นการออกแถลงการณ์ในลักษณะที่เป็นกิจวัตร เช่น การเริ่มต้นแถลงการณ์ด้วยคำว่า "ข้อความนี้ไม่ใช่การเตือนภัยซึนามิ" ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำอยู่เป็นประจำเพื่อป้องกันการแตกตื่น

แต่ในอีกทางหนึ่งมันกลายเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดทำให้ประเทศผู้รับแจ้งไม่ได้ตระหนักหรือเตรียมการต่อการป้องกันภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที ยิ่งเมื่อได้พิจารณาจากระยะเวลาที่เกิดภัยพิบัติในประเทศต่างๆ ตามรายละเอียดข้างล่าง ก็ยิ่งเข้าใจได้ยากว่าการไม่มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้ทันเวลานั้นเป็นไปได้อย่างไร

ลำดับเวลาของเหตุการณ์แผ่นดินไหว คลื่นซึนามิถล่มในประเทศต่างๆ

26 ธันวาคม 2547 (เวลากรินนิช)

00.57 : ระหว่าง 00.57-00.59 เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่พื้นทะเลใกล้กับอะเจ๊ะ ซึ่งอยู่ทางเหนือของอินโดนีเซีย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 8.9 ริคเตอร์

00.58 : ศูนย์เตือนภัยซึนามิของรัฐบาลสหรัฐ ที่ฮาวายมีการรายงานแผ่นดินไหว ซึ่งตรงกับ14.58 น. ของวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม ที่ฮาวาย

ผ่าน 01.00 ไปเล็กน้อย มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในหลายเมืองในอินโดนีเซียสร้างความตื่นตระหนกในเขตเมืองในแหลมมาเลเซีย มีรายงานข่าวเหตุแผ่นดินไหวออกไปโดยทันที

01.30 : ภูเก็ตและชายฝั่งของประเทศไทย เกิดคลื่นจากเหตุแผ่นดินไหวซัดกระหน่ำชายฝั่ง ซึ่งเป็นเวลา 8.30 น.ที่ประเทศไทย

02.30 : คลื่นจากแผ่นดินไหวโจมตีเมืองโคลอมโบและชายฝั่งตะวันออกของประเทศศรีลังกา ตามเวลาท้องถิ่นคือ 08.30 น. (นับเป็นเวลาชั่วโมงครึ่งหลังเกิดแผ่นดินไหว)

02.45 : ชายฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดียถูกคลื่นซึนามิโมเข้าใส่ ซึ่งเป็นเวลา 06.15 น.ตามเวลาท้องถิ่น

04.00 : ที่เมืองมาลี ประเทศมัลดีฟส์ หรือเท่ากับเวลา 09.00 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลา 3 ชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหว เมืองมาลีซึ่งเป็นเมืองหลวงรวมถึงส่วนอื่นๆของประเทศ ถูกน้ำท่วมเนื่องจากคลื่นซึนามิ

11.00 : (เวลาโดยประมาณตามที่มีการรายงานข่าว) ชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาถูกคลื่นซึนามิซัด ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวนานกว่า 10 ชั่วโมง

ข้ออ้างเรื่องไม่มีเซ็นเซอร์ในมหาสมุทรฟังไม่ขึ้น

ทั้งๆ ที่ประเทศไทยอยู่ในเครือข่ายการเตือนภัยซึนามิ แต่กลับไม่มีทุ่นเซ็นเซอร์ตรวจคลื่นในมหาสมุทรทางชายฝั่งตะวันตก และตำแหน่งทางตอนเหนือสุดของการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งใกล้กับทะเลอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ และคลื่นซึนามิที่ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วทางด้านตะวันออกของรีสอร์ทที่ภูเก็ต สิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฏว่ามีการเตือนเรื่องคลื่นจากแผ่นดินไหว เหล่านี้ถือเป็นความผิดพลาด

นอกจากนี้ศาสตราจารย์ชอชซูดอฟสกี้ยังไม่เห็นด้วยกับการที่นักธรณีฟิสิกส์บอกว่า การไม่มีทุ่นเซ็นเซอร์ในมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นที่เกิดเหตุนั้น ทำให้ศูนย์เตือนภัยที่ฮาวายไม่สามารถที่จะเตือนได้

สำหรับเขาถือเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะโดยความเป็นจริงแล้วข้อมูลต่างๆ ไม่ได้อาศัยเพียงเซ็นเซอร์ในมหาสมุทร เนื่องจากมีข้อมูลอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาได้บ้างหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีแรงสั่นสะเทือนสูงขนาดนี้ สามารถจะทำให้ดำเนินการแจ้งเตือนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ในทันที

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้าและกว้างไกล จึงเข้าใจไม่ได้เช่นกันว่าจะไม่สามารถส่งข่าวสารเตือนภัยออกไปให้โลกรับรู้ เพราะอันที่จริงสามารถจะส่งข่าวออกไปทางอีเมลล์, โทรสาร, โทรศัพท์ หรือสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศผ่านดาวเทียม ดังนั้นยามชายฝั่ง เทศบาลนคร รัฐบาลท้องถิ่น ผู้ประกอบการโรงแรม และนักท่องเที่ยวควรได้รับข่าวสารที่จะแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า

3 คำถามหลักที่นำมาสู่การตั้งประเด็นต่อสหรัฐฯ ของชาวโลก

คำถามแรก ทำไมรัฐบาลของประเทศในเขตมหาสมุทรอินเดียจึงไม่ได้รับการแจ้งข่าว


จากแนวทางปฏิบัติของการทหารสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดในลักษณะที่เลือกว่าจะส่งข่าวสารไปให้ที่ใดบ้าง อินโดนีเซียได้รับการแจ้งหลังจากที่โดนถล่มไปแล้ว สำหรับออสเตรเลียซึ่งเป็นอีกแห่งที่ได้รับการแจ้งเตือนก็อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันไมล์จากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยทันทีทันใด

คำถามที่ตามมาคือ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวรู้อยู่ก่อนแล้วหรือไม่ว่าจะมีเหตุแผ่นดินไหวที่เวลา 00.57 ของวันที่ 26 ธันวาคม

ซึ่งน่าจะหมายความว่าข้อบ่งชี้ว่าจะมีเหตุผิดปกติจากแผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่รับรู้ก่อนเวลา 01.00 ของวันที่ 26 ธันวาคม การสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ยืนยันชัดเจนว่าแผ่นดินไหวที่มีความสั่นสะเทือนขนาด 9.0 ริคเตอร์จะเป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนตัวขึ้นลงของคลื่น เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 1900 จึงน่าจะคาดเดาได้ไม่ยากถึงคลื่นยักษ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังเหตุแผ่นดินไหว

คำถามท้ายสุด ทำไมเจ้าหน้าที่ทางการทหารจึงถูกเรียกให้มาปฏิบัติการในครั้งนี้แทนที่จะเป็นผู้ปฏิบัติงานทางด้านบรรเทาทุกข์

ทำไมคนที่มีบทบาทนำในปฏิบัติการท่ามกลางกองศพจากเหตุภัยธรรมชาติจึงกลายเป็นทหารแทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการบรรเทาทุกข์หรือเจ้าหน้าที่จากองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ทำงานภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ

ทำไม? นายทหารที่เคยเป็นหัวหน้าหน่วยที่นำปฏิบัติการทางทหารในอิรักอย่าง พันเอกรัสตี้ แบลคแมนผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธินที่3 ซึ่งประจำการอยู่ที่ฐานทัพในโอกินาวาจึงถูกกำหนดให้เป็นผู้มีบทบาทนำในโครงการความช่วยเหลือฉุกเฉินนี้

โดยการทำงานของทั้งสามทีมในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์นี้ จะถูกส่งให้ไปปฏิบัติงานในประเทศไทย, ศรีลังกาและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ที่จะปฏิบัติการด้านการสอดส่องและเฝ้าสังเกตการณ์

มีการเสียดสีที่ขมขื่นว่าขณะที่มีการประสานส่งข่าวไปยังฐานทัพของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ ดิเอโกการ์เซีย ซึ่งไม่ได้รับผลจากคลื่นยักษ์แต่อย่างใด ในขณะเดียวกันหน่วย USS Abraham Lincoln ก็ง่วนตระเตรียมการขนย้ายกำลังพลจากฮ่องกงเพื่อย้ายมาปฏิบัติการช่วยเหลือมาที่อ่าวไทย ในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ถล่ม

นอกจากเรื่องชวนฉงนว่าการตระเตรียมกำลังพลในเวลาที่เหมือนรู้ตัวดีเช่นนี้ ยังมีการตั้งข้อสงสัยอีกมากถึงจำนวนกำลังพล นาวิกโยธิน 2,100 นาย และทหารเรือ 1,400 นาย พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ 37 ลำ และเรือรบอีก 7 ลำนั้น มีความจำเป็นอย่างไรต่อปฏิบัติการทางมนุษยธรรม รวมทั้งจำเป็นอย่างไรที่ต้องให้นายทหารผู้ชำนาญการในการบัญชาการรบในอิรักเป็นผู้นำปฏิบัติการในครั้งนี้

นำมาซึ่งข้อสงสัยประการสุดท้ายว่า หรือสัญญาณเตือนภัยที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าจะไม่ใช่เพียงปฏิบัติการที่ผิดพลาด หากคือการจงใจ?

(ข้อมูลจาก www.globalresearch.ca)


ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท