Skip to main content
sharethis


"คุณเป็นใคร มาจากไหน "น้ำเสียงที่ส่อว่าระแวงสงสัยสำเนียงปักษ์ใต้ดังขึ้น ขณะที่ฉันกำลังยืนเก้ๆ กังๆ ถ่ายรูปเรือประมงที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ในอู่ต่อเรือ

เมื่อฉันชี้แจงว่าเป็นใคร มาจากไหน สตรีเจ้าของคำถามก็รัวคำถามกลับมาอีกครั้ง

"เป็นนักข่าวจริงเหรอ ขอดูบัตรนักข่าวหน่อย แล้วจะถ่ายรูปไปทำไร จะมาหาใครที่นี่" ฉันตอบคำถามพลางควักนามบัตรออกส่งให้ นึกขันๆ ในใจว่า นี่ถ้าหากเจ้าของคำถามยังคงยืนยัน นอนยันขอดูบัตรนักข่าวละก็ ฉันคงแย่ เพราะอย่าว่าแต่นักข่าวเองเลย แม้แต่บก.ของฉันตอนนี้ก็ยังไม่มีบัตรอย่างว่าเลย

นางล่อมาขวัญ หนุนอนันต์ คือ ชื่อของสตรีเจ้าของคำถาม เธอเล่าว่าหลังเหตุการณ์ซึนามิมีผู้คนมากมายลงไปในพื้นที่ สำหรับที่บ้านของเธอ ต.กำพวน กิ่งอ.สุขสำราญ จ.ระนอง ก็ไม่ต่างจากที่อื่นๆทั้งข่าวของและเงินบริจาคไหลลงมาอย่างไม่ขาดสาย

แต่อะไรละ...คือที่มาของน้ำเสียงหวาดระแวงในตอนแรก

"ที่บ้านฉันเป็นอู่ต่อเรือ หลังคลื่นยักษ์มีคนมาว่าจ้างให้ต่อเรือคือ ชมรมจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นคนมุสลิมมาจากประเทศคูเวต เขาจะเอาเรือที่ต่อเสร็จส่งไปภูเก็ตเพื่อบริจาคให้ชาวประมงพื้นบ้านที่เรือเสียหาย เพื่อเป็นการทำบุญช่วยเหลือผู้ประสบภัย"นางล่อมาขวัญกล่าว

เธอกล่าวต่อว่า การต่อเรือของเธอขึ้นที่บ้านมีหลายคนในชุมชนตั้งคำถาม โดยเฉพาะจากชาวบ้านที่อยู่ชมรมประมงพื้นบ้านหาดประพาส ต.กำพวน กิ่งอ.สุขสำราญ จ.ระนอง

"เขาว่าฉันเอาเงินบริจาค มาหมุนเพื่อต่อเรือขาย" นางล่อมาขวัญกล่าวและเล่าถึงกิจการต่อเรือว่า เรือที่ต่อเป็นเรือประมงพื้นบ้าน หรือที่เรียกว่า "เรือหัวโทง" ซึ่งเป็นเรือที่ชาวประมงใช้ออกทะเลจับปลาได้ในน้ำตื้นและทะเลลึก
"เรือที่ต่อมีขนาด 21 ตัวกง ฉันจ้างช่างมาจากภูเก็ต 3 คน ค่าจ้างต่อเรือต่อคนในหนึ่งลำตกราว 12,000 บาท ยังไม่รวมค่าไม้และค่าวัสดุอื่นๆอีก"เธอกล่าวและเล่าต่อว่า จนถึงขณะนี้ที่บ้านเธอต่อเรือเสร็จสิ้นไปแล้ว 21 ลำ

"มันเป็นธุรกิจในครัวเรือน ญาติๆ พี่ๆ น้องๆ ต่างก็มาช่วยกันต่อเรือ และแบ่งค่าใช้จ่ายกัน แต่ก็มีบางคนมาให้ร้ายว่า เราเอาเงินที่เขาบริจาคมาต่อเรือ ความจริงไม่ใช่ เพราะเราช่วยกันทำกันในครัวเรือนก่อนจะเอาออกขาย"นางล่อมาขวัญกล่าว

ใกล้กันนั้นที่บ้านห้องแถว ดัดแปลงเป็นที่ทำการชมรมประมงพื้นบ้าน กียา หาญกิจ ซึ่งอยู่ในละแวกนั้น กล่าวกับฉันว่า

"ใครไปใครมา ที่อู่ต่อเรือนั้นเขาก็ระแวงทั้งนั้นแหละ ส่วนจะระแวงเรื่องอะไรไม่อยากจะพูดให้เป็นบาปเสียเปล่า"

เธอคนนี้กล่าวกับฉันว่า เหนืออู่ต่อเรือมีการติดป้าย "ต่อเรือหัวโทงช่วยเหลือคนผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์" แต่สิ่งที่ชาวบ้านที่นี่เห็นคือ มีการเอาเงินที่บริจาคมาต่อเรือ และนำเรือดังกล่าวไปขายต่ออีกทีหนึ่ง

"เรือขนาด 21 ตัวกง ลำหนึ่งขายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท ทั้งที่คนบริจาคเขาตั้งใจบริจาคเงินมาให้ต่อเรือแล้วมอบให้คนที่เรือพังหลังคลื่นยักษ์ ไม่ใช่ต่อเรือไปขายพวกเรือพัง"นางกียากล่าว

เธอกล่าวอีกว่า การต่อเรือดังกล่าวเป็นเสมือนธุรกิจในครอบครัวของผู้ต่อไปแล้ว โดยมีการจ้างแรงงานพม่าเข้ามาช่วยต่อเรืออีกด้วย ในขณะที่ทางชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ต่างช่วยกันต่อเรือเอง

"คนที่นี่ช่วยกันต่อเรือเล็ก ที่เรียกว่าเรือพีช กับเรือหัวโทง 21 ตัวกง เราไม่ได้ต่อขายเพราะเจ้าของเรือมาช่วยกันลงแรงต่อเรือกันเอง คนที่เดือดร้อนจากคลื่นยักษ์มาทำงานกันเอง ให้ค่าแรงบ้าง ทำกับข้าวเลี้ยงบ้างแล้วแต่กำลังที่มี"นางกียากล่าว

เธอเอ่ยขึ้นอีกว่า ขณะที่ตนและชาวบ้านที่นี่ช่วยกันต่อเรือ แต่อีกกลุ่มกลับอ้างว่าได้เอาคนที่เดือดร้อนจากคลื่นยักษ์มาช่วยต่อเรือเพื่อสร้างรายได้ให้ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง
"เขาต่อกันเอง คนงานก็เป็นพม่า รายได้เขาก็แบ่งในครอบครัวเอง ทั้งที่เขาไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ด้วยซ้ำ อย่างนี้จะเรียกว่าช่วยเพิ่มรายได้คนที่โดนคลื่นได้ไง"

กียากล่าวกับฉันในตอนท้ายถึงเงินบริจาคว่า แม้จะมีการบริจาคมากแต่หากไม่มีการตรวจสอบและจัดการไม่ดีจะทำให้เงินกระจายไปไม่ถึงคนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง

---------------------------

ฉันเดินทางต่อไป อ.เมือง จ.ระนอง ก่อนจะข้ามฟากไป เกาะเหลา เกาะเล็กซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอแกน

"พี่วิกกี้"พรานทะเล บนเกาะแห่งนี้ขับเรือมารับ เราใช้เวลาเดือนทางจากฝั่งมาถึงเกาะเหลาราวๆ 20 นาที

พี่วิกกี้เล่าว่าที่เกาะเหลาเป็นพื้นที่ปลายๆ คลื่นๆ จึงไม่ได้รับความเสียหายมาก แต่กระนั้นเรือที่จอดริมฝั่งและเครื่องมือที่ประกอบอาชีพประมงก็พังพินาศเสียหายหมด ฉันนึกสงสัย จะเป็นยังไงหากพรานทะเล ขาดเรือและเครื่องมือคู่ใจ

"แรกๆ ไม่มีใครมา เราหาหอยบนฝั่ง ไปไหนไม่ได้ ไม่มีเรือ" พี่วิกกี้ตอบเหมือนรู้ใจ และเล่าต่อ มีผลทำให้ฉันต้องเงี่ยหูฟัง แต่อาจเป็นเพราะภาษาที่ยากในการสื่อสารบวกกับเสียงเรือวิ่งผ่านลมแรง ทำให้ฉันจับใจความได้มั่งไม่ได้มั่ง

ส่วนที่ฉันจับใจความได้คือ "พี่วิกกี้"บอกว่า หลังเกิดคลื่นยักษ์ไม่นานก็มีคนมาที่เกาะ มีคนบริจาคของมากมาย แต่ก็มีชาวไทยบนฝั่งที่ไปอยู่บนเกาะทำหน้าที่เป็นนายหน้ารับของและรับเงินบริจาคแทนพวกชาวบ้านบนเกาะเพราะการสื่อสารที่ไม่เข้าใจบวกกับความกลัวบุคคลภายนอกแล้ว ทำให้มี"เจ้าแม่เกาะเกิดขึ้น"

ฉันถามพี่วิกกี้ว่ารู้สึกยังไง ที่ข้าวของรวมทั้งเงินบริจาคที่คนอื่นๆ ตั้งใจให้ชาวบ้านบนเกาะถูก "หยิบสิบ"ออกไป พี่วิกกี้ก็คงฟังฉันรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เขาตอบว่า

"คนไม่ดี เราไม่อยากยุ่ง เขาอยากได้ให้เขาไป เขาเอาไม่หมด เราได้ที่เหลือก็ยังดี"

"พี่นา"เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจากองค์พัฒนาเอกชนซึ่งมาทำงานอยู่บนเกาะเหลา เล่าถึงชาวบ้านที่นี่ว่า
"ฟังแล้วก็เหมือนนิทาน คนที่นี่เคยถูกปล้นทั้งหมู่บ้านด้วยหนังสติ๊กมาแล้ว" ฉันฟังแล้วก็งง พี่นาจึงขยายเรื่องว่า

"เคยมีชาวบ้านบนฝั่งมาปล้นชาวมอแกนที่นี่ทั้งหมู่บ้านด้วยหนังสติ๊ก คนที่นี่เขาก็ปลดสร้อยทองให้ไปทั้งบ้าน แต่ก็คงขายไม่ได้เพราะชาวบ้านเล่าว่าเป็นทองปลอม" พี่นาเล่า

พี่นากล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ต่างจากชาวมอแกนที่อื่นๆ คือ เมื่อเกิดปัญหาเขาก็หนีมากกว่าคิดสู้ หรือเผชิญความยุ่งยาก พวกเขาเป็นพรานทะเล เก่งกาจเรื่องหาสัตว์น้ำ แต่หาใช่นักรบ

เมื่อฉันถามถึง"เจ้าแม่เกาะ" พี่นากล่าวด้วยน้ำเสียงไม่สบายใจนักว่า ก่อนที่จะมา เพิ่งทราบว่ามีชาวบ้านจากที่อื่นซึ่งไปอยู่บนเกาะเป็นนายหน้ารับสิ่งของและเงินบริจาคให้ชาวบ้านแทน ต่อเมื่อองค์กรพัฒนาเอกชนลงไปในพื้นที่ และทำหน้าที่ประสานงาน ฟื้นฟูและช่วยเหลือชาวบ้านที่นี่ ก็โดนมองว่ามายุยงให้คนที่นี่แตกแยก และทำให้คนที่นี่ลืมวิถีตนเอง

"ไม่แปลกที่เราจะโดนโจมตีจากผู้ที่เสียผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์จริงๆไม่ได้เป็นผู้ที่เข้าถึงการได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง เพราะผลประโยชน์กลับไปตกอยู่กับคนที่ไม่ได้รับผลกระทบด้วยวิธีการมือใครยาว สาวได้สาวเอา" พี่นากล่าว

ฉันนึกย้อนไปถึงพื้นที่แรกที่ฉันลงไป "ภูเก็ต" ที่ซึ่งเกิดกรณีปัญหาไม่ต่างจากที่อื่นๆ

"องค์กรเอกชนที่นี่มีปัญหาเรื่องการจัดการเงินที่ได้รับบริจาคมา"แหล่งข่าวเล่าให้ฉันฟังถึง รายละเอียดความผิดพลาดในการบริหารเงิน จำนวนมากที่หลั่งไหลมาจากการบริจาค จนนำไปสู่การบริหารงานที่ผิดพลาดในองค์กร

"เงิน" ที่หลั่งไหลลงมาอย่างไม่ขาดสายจำนวนมาก ดูจะเป็นคลื่นมหาภัย ที่โถมซัดผู้คนในพื้นที่ร้ายแรงกว่าคลื่นยักษ์ซึนามิมากมายนัก

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์


 


       



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net