วิศวะ ม.ช..ไม่เชื่อ ใครว่า ภัทรา แอ๊บ !!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คลิ๊กที่ภาพ

เพียงข้ามคืนชื่อของเธอก็คับเมืองไทย และเต็มไปด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์

ภัทรา วรามิตร ส.ส. สาวหมวยวัย 29 ปี จากกาฬสินธุ์ แอ๊บนอร์มอร์และบ๊องจริงหรือ ที่เบลอจนกดปุ่มงดออกเสียง ต่อการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีซีทีเอ็กซ์

คำถามที่ตรงและแรงจากผู้สื่อข่าวที่ว่า เธอเรียนถึงวิศวะและจบจากเมืองนอกมา ทำไมเรื่องง่ายแค่นี้ถึงกดผิด คำตอบจากเธอที่ร่ายถึงค่าของการผิดพลาดต่อการคำนวณทางวิศวะทั้งในแง่โรงงานอุตสาหรรมหรือการออกแบบตึกของวิศวโยธา ไม่น่าจะออกมาจากปากคนบ๊อง !!

ภัทรา วรามิตร เกิดวันที่ 16 กันยายน 2518 จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์อุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยรหัส 37 และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซานโฮเซ่ สหรัฐอเมริกา พ่อของเธอ สมบัติ วรามิตร ก็เป็นถึง ส.ว.กาฬสินธ์

เธอเคยเป็นทั้งผู้จัดการบริษัทโรงสีไฟกาฬสินธุ์รุ่งเรือง 3 ซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัว เป็นนายก
เทศมนตรี เทศบาลตำบลกมลาไสย เป็นประธานกลุ่มสตรีวัยก้าวหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ คณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรม อำเภอกมลาไสย และคณะกรรมการตรวจสอบ และติดตามการทำงานของตำรวจ อำเภอกมลาไสย

ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 เป็นครั้งแรกและก็ได้เสียงตอบรับด้วยคะแนนกว่า 60,000 คะแนน

ในจำนวน ส.ส.ที่งดออกเสียงสนับสนุนรัฐมนตรีสุริยะ"ภัทรา" ซึ่งเป็นไทยรักไทย และไม่ใช่กลุ่มวังน้ำเย็น แต่ทำไมถึงใจถึงแหกมติพรรคเช่นนี้ เธอถูกนำไปพบแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อเคลียร์พฤติกรรม

คำชี้แจงจากภัทราคือ "ฟังการชี้แจงของนายสุริยะแล้วไม่เคลียร์หลายประเด็น จึงของดออกเสียง" สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่น ตรงไปตรงมาของเธอยิ่ง

ผลของคำชี้แจงนี้คือเธอถูกตำหนิว่าเมื่อไม่เข้าใจเหตุ เหตุใดไม่มาสอบถามนายสุริยะ คำตอบจากเธอคือ"เข้าพบผู้ใหญ่ยาก" ข้อตำหนิต่อมาที่ได้รับคือการไม่ทำตามมติพรรคเช่นนี้ทำให้พรรคเสียหาย

แรงกดดันเช่นนี้ทำให้เธอถึงกับต้องแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ

"หลังเกิดเรื่อง ได้เห็นคุณภัทราไปร้องไห้ในห้องน้ำ ก็รู้สึกสงสาร แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร เพราะไม่สนิทกัน และปกติ คุณภัทราก็ไม่สุงสิงกับใคร" น.ส.ศันสนีย์ นาคพงษ์ ส.ส.กทม.กล่าว

บ่ายวันเดียวกัน เธอในสภาพตาแดงช้ำต้องมาเผชิญหน้ากับผู้สื่อข่าวพร้อม นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ ส.ส. กทม. นางรสพิมล จิรเมธากร ส.ส.อุดรธานี อธิบายเหตุผลของการงดออกเสียงว่า "กดผิด"

การเผชิญหน้าผู้สื่อข่าวด้วยคำถามที่จี้ใจดำ ทำเอาเธออ้ำอึ้งอยู่นาน โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า "จบวิศวะ และจบเมืองนอกมากดผิดได้อย่างไร" และความเห็นของส.ส.ไทยรักไทยบางคนที่บอกว่า เธอเป็นคนแอ๊บๆ บ๊องๆ นั้น ทำเอาคนในสาขาวิศวะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิศวกรรม
ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันที่กล่อมเกลาเธอมาในช่วงปริญญาตรี

อาจารย์นริศรา เอี่ยมคณิตชาติ อาจารย์จากภาควิชาวิศวคอมพิวเตอร์ ม.ช. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นรหัส 36 และอยู่หอ 8 หญิงด้วยกัน ยืนยันว่า ไม่มีทางที่ภัทราจะแอ๊บ หรือบ๊อง !

แม้จะเรียนคนละสาขา แต่ในช่วงเข้ามาเป็นลูกช้าง ม.ช.ในปี 1 เธอและภัทราก็ได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่างด้วยกัน และยืนยันว่าเธอเป็นคนดี

"เขากินเจทุกมือ เป็นคนธรรมะธรรมโม เข้าร่วมกิจกรรมของคณะเป็นปกติ ทั้งกิจกรรมเชียร์ หรือกิจกรรมเรียน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแอ๊บอย่างที่ถูกวิจารณ์ มิเช่นนั้นจะจบวิศวะม.ช.ได้อย่างไร และแม้การมองคนจะมองกันไปแต่ละมุม แล้วแต่จะวิจารณ์กันไป แต่ก็ไม่น่าจะเอาตัวเองไปตัดสินคนถ้าเราไม่รู้จักเขาดีพอ"

อาจารย์นริศราเชื่อว่า สิ่งที่ส.ส.ภัทราทำลงไป น่าจะเป็นความคิดในเสรีภาพทางการเมืองของเธอซึ่งมีจุดยืนของตัวเอง แต่ด้วยนโยบายของพรรคทำให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมากกว่า

ด้านอาจารย์ขจรศักดิ์ โสภาจารุ จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่ได้รู้จักกับ ส.ส.ภัทรา แต่รู้สึกช็อคต่อคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า จบวิศวะทำไมกดผิด โดยเห็นว่าเป็นคำถามที่สะท้อนให้เห็นว่า คำว่าวิศวะมีความหมายที่สำคัญ คล้ายกับคนเรียนหมอ ซึ่งเมื่อกระทำผิดแล้วสังคมจะจับตามองพิเศษ และมีคำถามต่อว่า คนอื่นกดผิดได้ วิศวะจะกดผิดไม่ได้หรือ

ต่อคำตอบของส.ส.ภัทราที่ตอบผู้สื่อข่าวถึง SAFETY FACTOR ทางการออกแบบของวิศวะว่า ถือเป็นช่วงเสี้ยววินาทีที่ใช้ไหวพริบ ต่อสาเหตุของการกดผิด ที่เธอได้อธิบายให้เชื่อมโยงกับอาชีพวิศวกร ซึ่งก็เป็นการให้เหตุผลที่สอดคล้อง

อาจารย์วสันต์ จอมภักดี จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.ช.กล่าวว่า ช่วงที่ส.ส.ภัทราเรียน เป็นช่วงที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ช. มุ่งปลูกฝังจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ให้เป็นบัณฑิตในอุดมคติ เน้นการปลูกฝังด้านจิตวิญญาณ ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ให้มองแต่มิติเทคโนโลยีด้านเดียว แต่ให้มองมิติวิชาการ สังคม และจิตวิญญาณด้วย คิดภัทราจะมีความคิดเป็นของตัวเอง

อาจารย์บุญส่ง สัตโยภาส จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.ช. กล่าวว่า ส.ส.ภัทรายังเป็นเด็ก มีความคิดอีกอย่าง แต่การเมืองมีวัฒนธรรมอีกอย่าง การทำงานวิศวะอาจมีเวลาพิจารณา แต่การตัดสินใจโหวตนั้นอาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ทำให้คลาดเคลื่อน เพราะในบางครั้งการอยู่เป็นกลุ่มอาจต้องมีข้อสังเกตบางอย่าง มีข้อพิจารณาประกอบกันหลายอย่าง น่าสังเกตเหมือนกันว่า ทำไมส.ส.ใหม่คนอื่นไม่ค้านเช่นนี้บ้าง

ส่วนคำอธิบายของเธอเรื่อง SAFETY FACTOR นั้นมิใช่ว่า วิศวกรจะคิดผิด แต่เผื่อองค์ประกอบต่างๆ ไว้กรณีค่าของการดีไซน์เปลี่ยนแปลงไปกะทันหัน นอกเหนือจากการคาดการณ์

หรือบางทีลูกช้างจากวิศวกรรมอุตสาหการท่านนี้ พิจารณาถี่ถ้วนต่อกรณี CTX แล้วเห็นว่า "งดออกเสียง" คือ SAFETY FACTOR แต่การณ์กับกลายเป็นว่าสถานการณ์มัน ERROR มากกว่าค่าที่คำนวณนัก

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท