นายบิล เกตส์ พ่อมดโลกไอที กล่าวไว้เมื่อครั้งมาเยือนประเทศไทยว่า "ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเว็บเซอร์วิส การใช้มาตรฐานเปิดและภาษา XML อันเป็นมาตรฐานสากลนั้น จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสมหาศาลในการสร้างสรรค์บริการใหม่ๆที่มีคุณค่า ซึ่งบริการต่างๆเหล่านั้นจะช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลต่างๆ สามารถทำบนอุปกรณ์ประเภทใดก็ได้ อันจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อธุรกิจของไทยและเศรษฐกิจโดยรวม"โครงการ "Imagine Cup 2005" จัดขึ้นโดยบริษัทไมโครซอฟท์ เป็นการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับโลก ที่กระตุ้นให้นักศึกษาสนใจการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทางไมโครซอฟต์จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว
โดยแบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็น 9 ประเภทสำหรับทีมนักศึกษาทั่วโลก แต่ในประเทศไทยได้จัดการแข่งขันเพียงประเภทเดียว คือการออกแบบซอฟต์แวร์ ภายใต้แนวคิดหลัก คือ "Imagine a world technology dissolves the boundaries between us" โดยมีข้อกำหนดได้แก่ การใช้เทคโนโลยี .NET ของไมโครซอฟต์ในการพัฒนา การเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานบนอุปกรณ์ไร้สาย
และมีการใช้เทคโนโลยีเว็บเซอร์วิสโดยต้องมีเว็บเซอร์วิสที่สร้างขึ้นเองด้วย สำหรับประเทศไทยผู้ที่สามารถเข้าร่วมแข่งขัน ได้แก่
นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษา นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ศึกษาเต็มเวลา ทีมละไม่เกิน 4 คน ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และได้เดินทางไปแข่งขันระดับนานาชาติที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น
ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
นายแอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการบริษัท ไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การแข่งขัน Imagine Cup ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับนักศึกษาไทยที่จะได้เข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลกเพื่อแสดงให้เห็นถึงทักษะด้านนวัตกรรมและการผสมผสานเทคโนโลยี เว็บเซอร์วิสจะเป็นนิยามใหม่ของการใช้ชีวิต การทำงาน และการสื่อสารของเรา
โดยจะผสมผสานนวัตกรรมและทลายพรมแดนด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่ "เรากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลในการเตรียมตัวเปิดโครงการใหญ่เกี่ยวกับเว็บเซอร์วิสในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเว็บเซอร์วิสระดับสากล และยิ่งไปกว่านั้นเว็บเซอร์วิสยังมีศักยภาพในการช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย และโครงการ Imagine Cup เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวด้วย"
สำหรับปีนี้ทีมที่ชนะเลิศการออกแบบซอฟต์แวร์ระดับประเทศ ได้แก่ทีม "เป็นต่อ" จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น
ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม "Power to the dream" จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิว
เตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่ามกลางผู้เข้าร่วมแข่งขันจากมหาวิทยาลัยต่างๆกว่า 23 แห่งทั่วประเทศ
ทีม "Power to the dream" ประกอบด้วยสมาชิกทีมจำนวน 4 คน ได้แก่ นายประมุข ชื่นทศพลชัย นายวิภูษิต อุดมศรีสุข นายพงส์ศักดิ์ แซ่แห่ว และนางสาวพันธิตรา สวัสดิ์พงษ์ ทั้งหมดกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย
เชียงใหม่
นายประมุข หรือ มุข สมาชิกคนหนึ่งของทีม เปิดเผยว่า เริ่มต้นจากนำโจทย์มาคิดกันก่อนว่าจะทลายเขตแดนของอะไร และได้ข้อสรุปว่าอยากลดช่องว่างระหว่างคนที่ไกลกัน ในกลุ่มคนที่ใช้
Pocket PC ซึ่งจริงๆแล้วอุปกรณ์ไร้สายมีหลายอย่าง แต่ที่เลือก Pocket PC เนื่องจากมีหน้าจอใหญ่ จึงน่าจะสามารถสร้างสรรค์ได้มากกว่า
จากนั้นจึงมาคิดกันต่อว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่สามารถทำร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีเวลาว่างไม่ตรงกัน และอยู่ห่างกันคนละมุมโลก สรุปได้ว่าน่าจะทำเป็นเกมส์ ซึ่งเกมส์ส่วนใหญ่ที่คนเล่นมักเป็นเกมส์ออนไลน์ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างสูง จึงเลือกเกมส์ต่อจิ๊กซอว์ซึ่งรายละเอียดไม่เยอะ โดยบริการดังกล่าวจะสนับสนุนผู้ใช้งานให้สามารถเก็บภาพมาสร้างจิ๊กซอว์เองได้
แนวคิดคือภาพน่าจะสื่อความหมายได้ดีกว่าข้อความ และการเอื้อให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างสรรค์ได้เองด้วย จะทำให้มีความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ซ้ำกับใคร ซึ่งจะส่งผลในแง่คุณค่าทางจิตใจของผู้ได้รับด้วย และในอนาคตคิดกันไว้ว่าอาจทำงานร่วมกับเว็บเซอร์วิสอื่นนอกจากโทรศัพท์เคลื่อนที่
และเชื่อมโยงให้เกิดเป็นธุรกิจได้จริง
ด้านนายวิภูษิต หรือ วิน สมาชิกของทีมอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ช่วงนี้ในเมืองไทยมีการสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น มีการจัดประกวดแข่งขันซอฟต์แวร์ ให้นักเรียนนักศึกษาได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการของ NECTEC แห่ง สวทช. ทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้นอย่างมากในเมืองไทย
สำหรับกิจกรรมของไมโครซอฟต์ในครั้งนี้ มีการประกาศรับสมัครและคัดเลือก proposal จาก 121 ทีมทั่วประเทศ ให้เหลือ 12 ทีมไปแข่งขันระดับประเทศรอบสุดท้าย ทีมจาก มช. มีอยู่ 3 ทีมที่ส่งไป
และเข้ารอบสุดท้าย 1 ทีม ซึ่งทีมที่ผ่านเข้ารอบจะได้เข้าร่วมการอบรมการเขียนซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์ไร้สายเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์มาพอสมควร อย่างน้อยคือในส่วนของแนวคิด
ส่วนเรื่องทางเทคนิคได้มาหาความรู้เพิ่มเติมกันทีหลัง โดยมีเวลาพัฒนาซอฟต์แวร์ประมาณ 3-4 สัปดาห์ "เหนื่อยกันมากเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยทำกันมาก่อน เมื่อเสร็จแล้วเราต้องเดินทางไปเสนอผลงานที่กรุงเทพฯ และระหว่างเสนอผลงานเราจะไม่ทราบเลยว่าผลงานของทีมอื่นเป็นอย่างไร
ตอนประกาศผลทางผู้จัดจะเชิญทั้ง 12 ทีมไปเปิดบู้ธแสดงผลงาน และประกาศผลในวันนั้น ทีมของเราได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กับเงินรางวัลอีก 30,000 บาท"
โลกเทคโนโลยีทุกวันนี้ กระแสที่มาแรงคืออุปกรณ์ไร้สาย ประเทศของเราเริ่มมีการผลักดันมากขึ้น
โทรศัพท์มือถือเริ่มมีลูกเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุปกรณ์มาแรงจึงต้องมีซอฟต์แวร์มาสนับสนุนด้วย
เว็บเซอร์วิสเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น เว็บของธนาคารหลายแห่งก็ใช้เว็บเซอร์วิส อย่างการทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นต้น
จึงน่าจะสามารถพัฒนาไปได้ไกล สถาบันการศึกษาน่าจะสนับสนุนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีตรงนี้ด้วยเห็นอย่างนี้แล้ว อนาคตของเมืองไทยตามที่ บิล เกตส์ กล่าวไว้ จึงดูไม่น่าจะเกินจริงสักเท่าไร.
รายงานพิเศษ
ฉัตรชัย ชัยนนถี
แสดงความคิดเห็น