ผลวิจัยชี้ คลอเรตปลอดภัย ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกลำไยทั้งประเทศประมาณ 618,128 ไร่  เป็นไม้ผลสำคัญของของหลายจังหวัดในภาคเหนือ  ปัญหาที่ชาวสวนลำไยประสบมาช้านานคือการออกดอกแบบปีเว้นปีหรือเว้นสองปี  จนเมื่อปี 2541 มีการค้นพบว่าสารโพแทสเซียมคลอเรตสามารถกระตุ้นการออกดอกของลำไยได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความหนาวเย็น  ทำให้ลำไยออกดอกได้ทุกช่วงเวลาของปี  ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาให้ความสนใจใช้โพแทสเซียมคลอเรตในสวนลำไย 

 

โพแทสเซียมคลอเรตจัดว่าเป็นสารพิษในระดับหนึ่ง  แม้จะไม่ร้ายแรงมากนัก  เคยถูกนำมาใช้เป็นสารกำจัดวัชพืชมาก่อน  รวมทั้งยังเป็นสารที่ใช้ผลิตวัตถุระเบิดได้อีกด้วย  เมื่อมีแนวโน้มว่าจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสวนลำไย  ทำให้เกิดความกังวลทั้งในแง่ของผลผลิตลำไย  ความปลอดภัยของผู้บริโภค  ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และอันตรายจากการระเบิด

 

รศ.ดร.จันทร์จรัส  เรี่ยวเดชะ  ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)  กล่าวว่า  งานวิจัยด้านลำไยของ สกว. เกิดขึ้นประมาณช่วง พ..2539 เป็นต้นมา  โดยเริ่มตั้งแต่มีการค้นพบสารโพแทสเซียมคลอเรตที่สามารถนำไปกระตุ้นการออกดอกของลำไยโดยไม่ต้องพึ่งพาอากาศหนาวเย็น  ทำให้มีปริมาณการผลิตลำไยเพิ่มขึ้นและแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆของพื้นที่แถบจังหวัดภาคเหนือแทบทุกจังหวัด  ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นจำเป็นต้องได้รับการวิจัยและพัฒนาด้านคุณภาพตามมาด้วย  มีการสนับสนุนโครงการเพื่อประเมินความปลอดภัยทางอาหารของลำไยที่ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต  และประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการใช้สารคลอเรตในสวนลำไย  เพื่อไม่ให้เกิดการตกค้างของคลอเรตในดินสะสมข้ามปีจนส่งผลกระทบระยะยาว

 

รศ.สมชาย  องค์ประเสริฐ  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง  "ผลกระทบของการใช้สารคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยและการแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้สารคลอเรต"  ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.  พบว่า  การสลายตัวของคลอเรตในดินเกิดได้โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินเท่านั้น  ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าจึงทำให้คลอเรตสามารถสลายตัวได้เร็ว  การใช้สารคลอเรตโดยการราดทางดินในอัตรา 4 เท่าของอัตราการใช้ที่แนะนำ  ไม่มีผลกระทบใดๆต่อคุณสมบัติของดิน 

 

ทั้งนี้คลอเรตที่ได้จากโซเดียมคลอเรตจะสลายตัวช้ากว่าที่ได้จากโพแทสเซียมคลอเรต  แต่ทำให้ลำไยออกดอกได้เหมือนกัน  เกษตรกรจึงควรเลือกใช้โพแทสเซียมคลอเรต  จากการศึกษาวิจัยสามารถสรุปได้ว่า  การใช้โพแทสเซียมคลอเรตของเกษตรกรมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นเฉพาะในแนวที่ราดสารลงไปเท่านั้น  แต่ไม่มีผลกระทบในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตามการใช้สารคลอเรตมากเกินไปจะส่งผลให้ลำไยออกดอกน้อยลง  สวนลำไยบางแห่งที่ประสบปัญหาออกดอกน้อย  ออกดอกหลายรุ่น  และไม่ออกดอกเลยนั้น  มีสาเหตุมาจากการใช้โพแทสเซียมคลอเรตมากเกินไปต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี  ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่มีต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับดินทรายคือการใช้กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายราดบริเวณดังกล่าว  และเกษตรกรที่มีสวนเป็นดินทรายต้องเร่งกำจัดสารโพแทสเซียมคลอเรตที่ตกค้างภายใน 1-2 เดือน  เพื่อไม่ให้มีโอกาสซึมลงสู่ดินชั้นล่าง  ซึ่งจะทำให้สลายตัวต่อไปได้ช้า

 

ด้าน  ดร.สุกัญญา  วงศ์พรชัย  ภาควิชาเคมี  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า  โพแทสเซียมคลอเรตมีคุณสมบัติทางเคมีเป็นสารอนินทรีย์ที่จัดอยู่ในประเภทมีความเป็นพิษในระดับปานกลาง  เมื่อละลายน้ำจะแตกตัวให้โพแทสเซียมไอออนและคลอเรตไอออน  คลอเรตไอออนหรือที่เรียกสั้นๆว่าคลอเรตมีสมบัติเป็นสารออกซิไดซ์ที่แรงมาก  การสลายตัวที่อุณหภูมิสูงจะให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นออกซิเจน  เป็นเหตุผลที่ทำให้สามารถติดไฟได้จนอาจเกิดการระเบิด

 

ดร.สุกัญญา  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง  "การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบทางเคมีในลำไยหลังการให้สารโพแทสเซียมคลอเรต"  ซึ่งได้คัดเลือกลำไยพันธุ์ดอจากต้นที่ใส่สารโพแทสเซียมคลอเรตและต้นที่ไม่ใส่  มา สกัดและวิเคราะห์สารสกัดเพื่อดูองค์ประกอบสารอินทรีย์แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน  พบว่าในจำนวนสารอินทรีย์กว่า 200 สารโดยเฉลี่ยที่พบในสารสกัดจากผลลำไยที่ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต  ไม่มีองค์ประกอบที่เป็นสารประกอบคลอไรด์  รวมทั้งสารที่เกิดจากการกระตุ้นของโพแทสเซียมคลอเรต  จึงสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีการตกค้างของโพแทสเซียมคลอเรตในผลลำไย  และผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าลำไยที่ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตกระตุ้นการออกดอกมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการบริโภค

 

ในส่วนของความเสี่ยงต่ออันตรายจากการระเบิดของโพแทสเซียมคลอเรต  ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นที่โรงงานอบแห้งลำไยที่อำเภอสันป่าตอง  จังหวัดเชียงใหม่  ดร.สมคิด  พรหมมา  ศูนย์วิจัยบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่  ได้วิจัยเรื่อง  "การพัฒนาการเร่งดอกลำไยที่มีโพแทสเซียมคลอเรตเป็นองค์ประกอบหลักในรูปแบบที่ปลอดภัยและสะดวกในการใช้ของชาวสวนลำไย"  โดยพัฒนาสูตรผสมสารโพแทสเซียมคลอเรตที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นวัตถุระเบิดหรือติดไฟ  ซึ่งทำได้โดยการผสมสารถ่วงชนิดต่างๆให้โพแทสเซียมคลอเรตหมดสภาพความเป็นวัตถุระเบิด  สารผสมดังกล่าวสามารถทำได้ใน 4 ลักษณะ  คือ  ชนิดผง  ชนิดเม็ด  ชนิดละลายน้ำ  และชนิดละลายน้ำผสมแร่ธาตุ  และทดสอบการระเบิดเพื่อยืนยันความปลอดภัยไปพร้อมกัน  ซึ่งได้ผลออกมาเป็นที่พอใจทั้งด้านความปลอดภัยและความสามารถกระตุ้นการออกดอก

 

ลำไยสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท  ตลาดใหญ่อยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน  แม้ว่าระยะหลังจีนจะสามารถผลิตลำไยได้เองแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ  และยังต้องนำเข้าจากไทย  ทำให้ลำไยยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ  การสร้างองค์ความรู้จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกรหรือภาคการผลิตของประเทศให้เข้มแข็ง.         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท