Skip to main content
sharethis

"โครงการผลิตลำไยกระป๋อง" ดำริของนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ที่มุ่งหวังว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยระดับรากหญ้า ให้รวมกลุ่มเป็นผู้ประกอบการผลิตลำไยกระป๋อง เพื่อแก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำและล้นตลาดก่อนฤดูกาลผลิตปี 2547 ส่อเค้าคว้าน้ำเหลว เพราะเครื่องผลิตลำไยกระป๋องที่จัดซื้อมาให้เกษตรกรแต่ละกลุ่มเรียบร้อยแล้วด้วยมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท ยังไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะใช้การไม่ได้ ขณะที่กระบวนการและขั้นตอนการผลิตยังเป็นข้อกังวลของหลายฝ่ายว่าจะได้มาตรฐานเพียงพอหรือไม่หากเทียบกับลำไยกระป๋องที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เงินงบกลาง ปีงบประมาณ 2547 รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์การผลิตลำไยบรรจุกระป๋อง จำนวน 60 ชุด วงเงิน 16,200,000 บาท (เฉลี่ยชุดละ 270,000 บาท) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งให้จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือผลิตลำไยกระป๋อง ใช้วิธีการเรียกประกวดราคาจัดซื้อจำนวน 60 ชุด มีผู้สนใจยื่นซองประกวดราคาจำนวน 2 รายคือ บริษัท สุพัฒน์การช่าง จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด แจ่มใสมั่งมี ซึงผลการพิจารณาปรากฏว่าบริษัท สุพัฒน์การช่าง จำกัด เสนอราคาเครื่องละ 320,000 บาท เป็นเงิน 19,200,000 บาท ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัด แจ่มใสมั่งมี เสนอราคาเครื่องละ 243,000 บาท เป็นเงิน 14,580,000 บาท มีเงินงบประมาณคงเหลือ 1,620,000 บาท จังหวัดเชียงใหม่จึงตกลงทำสัญญาซื้อขายเครื่องผลิตลำไยกระป๋องจำนวน 60 ชุด จากห้างหุ้นส่วนจำกัด แจ่มใสมั่งมี ตามราคาที่ยื่นเสนอ

โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ทำการตรวจรับมอบเครื่องผลิตลำไยกระป๋องจำนวน 60 ชุด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 หลังจากนั้นจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้ทำการฝึกอบรมสมาชิก กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อให้สามารถผลิตลำไยกระป๋องได้ แต่ทว่า เครื่องผลิตลำไยกระป๋องทั้ง 60 ชุดดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้ เพราะมีปัญหารางไล่อากาศ เนื่องจากสายพานเร็วเกินไป ต้องลดรอบความเร็วของชุดเฟืองสายพานในรางไล่อากาศ ซึ่งต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด แจ่มใสมั่งมี เข้าดำเนินการแก้ไข ขณะนี้ได้แก้ไขปรับปรุงแล้วจำนวน 45 ชุด และอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขอีก 15 ชุด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2548

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2548 นายสมศักดิ์ ทองศรี รองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการโครงการแปรรูปลำไยกระป๋อง

ประเด็นที่คณะกรรมาธิการการเกษตร สภาผู้แทนราษฎร ให้ความสำคัญคือ ปัญหาของเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตลำไยกระป๋อง ที่ได้ส่งมอบให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูนจำนวน 60 ชุด แต่ปรากฏว่าเครื่องจักรไม่สามารถใช้งานได้ และอยู่ระหว่างรอการปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมโดยเอกชนผู้ผลิตเครื่องจักร

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้นว่าแนวคิดออกแบบเครื่องผลิตลำไยกระป๋องนั้น ใครเป็นผู้คิดค้น เพราะจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นน่าเป็นห่วงมาก เพราะเกรงว่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตลำไยกระป๋องจะไม่สามารถใช้งานได้ หรืออาจจะใช้งานได้แต่ผลิตไม่ได้มาตรฐานที่จะได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เพราะเท่าที่ทราบขณะนี้ อย.ก็ยังไม่ได้รับรองเครื่องมือชุดนี้ ซึ่งในข้อเท็จจริงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ที่ผลิตเกี่ยวกับอาหารจะต้องผ่านการรับรองจาก อย.ก่อน

"การส่งเสริมเกษตรกรในลักษณะนี้ที่ผ่านมาก็มีให้เห็นเยอะ มักจะล้มเหลว คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สำเร็จน้อยมาก เพราะชาวบ้านหรือเกษตรกรอาจจะไม่มีพื้นฐานความรู้ของงานในลักษณะที่เป็นงานในเชิงอุตสาหกรรม หากส่งเสริมให้ความรู้ไม่ถึงโอกาสผิดพลาดมีมาก อย่ามองแค่ว่าเห็นโรงงานเอกชนทำก็คิดว่าชาวบ้านทำได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะความชำนาญและมาตรฐานมันแตกต่างกัน

นายสมศักดิ์ ยกตัวอย่างกรณีการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตไวน์ที่นิยมกันช่วงก่อน หรือโรงงานรมยางที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรกันอย่างแข็งขัน แต่ในที่สุดก็ต้องปล่อยรกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เพราะชาวบ้านทำไม่ได้ ไม่มีความชำนาญ จึงไม่อยากเห็นอะไรอย่างนี้เกิดขึ้นอีก เพราะลงทุนด้วยงบประมาณจำนวนมากแต่ไม่ได้อะไรเลย เกษตรกรเสียหาย กลุ่มสมาชิกต่าง ๆ ก็ล้มเหลว กลายเป็น 1 ตำบล 1 โกดัง ที่เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ และถูกปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ

นายปัญญา จินาคำ อนุกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเอกชนคู่สัญญาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แจ่มใสมั่งมี จึงยอมที่จะทำการซ่อมแซมเครื่องจักรให้ เพราะในข้อเท็จจริง หากมีการผลิตเครื่องจักรออกมาตามแบบที่กำหนดไว้ทุกอย่างแล้ว เป็นไปได้น้อยมากที่ผู้ผลิตเครื่องจักรจะยอมซ่อมให้ และกรณีที่เครื่องจักรอุปกรณ์นี้ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะทำงานในจังหวัด โดยปกติไม่น่าจะทำกัน เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคนิคมาร่วมกำหนดด้วย ไม่ใช่กำหนดโดยฝ่ายบริหารอย่างเช่นในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มองเป็นเรื่องของการทุจริตแต่อย่างใด แต่มองว่าเป็นความบกพร่องเพราะไม่มีความชำนาญมากกว่า

ด้านนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งให้ หจก.แจ่มใสมั่งมี ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเครื่องผลิตลำไยกระป๋องแล้ว คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนจะเรียบร้อยทุกอย่าง เนื่องจากตามข้อสัญญาระบุไว้ว่าผู้เสนอราคาหรือผู้ขายจะต้องรับประกันการชำรุดบกพร่องเสียหายของเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และรับประกันได้ว่าโครงการนี้ดำเนินตามขั้นตอน ไม่ได้มีการทุจริตแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการการเกษตร ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตลำไยกระป๋องดังกล่าว ผลิตไม่ตรงตามแบบหรือไม่ โดยคณะกรรมาธิการฯ จะต้องประมวลและรวบรวมข้อบกพร่องและปัญหาที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ จึงจะสามารถสรุปได้ชัดว่าสาเหตุสืบเนื่องมาจากอะไร และประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถสรุปได้และเห็นปัญหาไม่ชัด เนื่องจากมีการส่งมอบเครื่องจักรหลังสิ้นสุดฤดูกาลลำไยไปแล้ว ทำให้ไม่มีมีผลผลิตที่จะเดินเครื่องผลิตได้ แต่เชื่อว่าในฤดูกาลผลิตนี้จะเห็นปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ขณะนี้เข้าสู่ฤดูกาลผลิตลำไยปี 2548 แล้ว และเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ผลผลิตลำไยก็จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่ทว่า เครื่องผลิตลำไยกระป๋องมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะเดินเครื่องใช้การได้ทันฤดูกาลนี้หรือไม่ และหากสามารถผลิตได้จริง จะผลิตออกมาขายให้ใคร เพราะดูเหมือนว่าเรื่องการตลาดยังไม่มีใครกล่าวถึง จึงต้องจับตาดูให้ดีว่า โครงการผลิตลำไยกระป๋อง จะกลายเป็นอนุสาวรีย์ 1 ตำบล 1 โกดัง ที่ไม่ได้ยังประโยชน์อันใดให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง หรือไม่???

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net