Skip to main content
sharethis

ที่นอกชาน บทสนทนาระหว่างลุงและหลานดังแว่วมาเบาๆ สายตาของเจ้าหนูน้อยดูตื่นเต้นและมีความสุข พร้อมๆ กับมือไม้ของลุงที่กำลังอธิบายประกอบเรื่องราว นอกชานเปิดโล่งแห่งนี้อบอวลไปด้วยความสนุกสนาน ความสัมพันธ์ มิตรภาพ และที่สำคัญ...ที่นี่มีความรู้

ความรู้เป็นเรื่องยากหากจะหยิบยกมาพูดคุยกัน เพราะดูเหมือนจะจับต้องไม่ค่อยได้ และบางครั้งเมื่อมีการถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่องต่างๆ ทั้งผู้ฟังและผู้เล่าเองก็อาจไม่รู้ตัวว่า ความรู้กำลังเคลื่อนย้ายถ่ายเทแลกเปลี่ยนอยู่ในที่นั้นด้วย

การจัดการกับความรู้: ภารกิจท้าทายสังคม

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการกับความรู้ที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดเป็นรูปธรรมและสามารถจัดการนำไปใช้ประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยสคส.มีความเชื่อว่า ความสามารถในการจัดการความรู้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม และทำให้เกิดสุขภาวะหรือสุขภาพทางสังคมได้ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคมไทย

ทั้งนี้สคส.เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนขบวนการจัดการความรู้ในสังคมไทย หรือ Knowledge Management (KM)โดยเป็นโครงการอิสระอยู่ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ทำงานร่วมกับภาคีที่หลากหลาย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถการดำเนินการจัดการความรู้ในบริบทและรูปแบบที่หลากหลาย และส่งเสริมขบวนการเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมความรู้และสังคมเรียนรู้

"การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องการตัวกระตุ้นและสิ่งเร้า ซึ่งอาจมาจากตัวบุคคลหรือว่าภายนอกก็ได้" ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ได้กล่าวปาฐกถา "เส้นทางการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศด้านบริการสุขภาพ" ณ ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อเร็วๆ นี้

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า ความเป็นเลิศในความรู้นั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ไม่หยุดนิ่งมีพลวัตร และควรจะมองหลายๆ ด้าน ซึ่งในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและท้าทายนี้อาจเป็นวิกฤตหรืออาจพลิกให้เป็นโอกาสเพื่อการเรียนรู้ก็ได้ โดยเราต้องสร้างความสำเร็จในระดับที่ภูมิใจร่วมกัน เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศในที่สุด

กล่าวคือ การเรียนรู้เป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีที่สุด การเคลื่อนไหวของการเรียนรู้มีชีวิต โดยมีการเปลี่ยนแปลงและบริบทแวดล้อมต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนอยู่เสมอ

"การเรียนรู้จากกระบวนการ KM ในความหมายลึกๆ ของมัน เป็นคุณค่าใหญ่ที่ทำให้เราหันกลับไปที่ตัวเอง มองว่าองค์กรมีของดีอะไรอยู่บ้าง ซึ่งความรู้ที่จะนำมาปฏิบัติเพื่อการบรรลุคุณภาพนั้นต้องหาก่อนว่าอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใคร" ศ.นพ.วิจารณ์ อธิบาย

จากการที่เคยเห็นแต่ปัญหาขององค์กร เมื่อเกิดการเสาะแสวงหาของดีภายในแล้วก็จะเกิดความเคารพภูมิใจ เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ใช่ว่าแต่ละคนจะดีที่สุดแต่จะดีคนละด้าน 2 ด้าน เมื่อใดมีสิ่งที่ดีก็จะทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายได้ นอกจากนี้คนที่ยังไม่เก่งก็ต้องพัฒนาให้เก่งกว่าเดิม ซึ่งต้องขวนขวายจากภายนอกมาใช้ด้วย

ผู้อำนวยการ สคส.กล่าวต่อไปว่า "สำหรับ KM ถ้าทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งห้ามเริ่มจากศูนย์ เราต้องหาคนเริ่มได้มาสอนมาแนะนำ เพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อถ่ายความรู้ โดยไปเรียนรู้วิธีคิด วิธีทำ แล้วเรามาตีความทำความเข้าใจโดยต้องยึดบริบทของเราเป็นที่ตั้ง"

นอกจากนี้การเรียนรู้ยังต้องนำมาจากทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ทั้งจากการปฏิบัติและทฤษฎี โดยใช้การปฏิบัติเป็นตัวหลัก และต้องอาศัยการเรียนรู้จากทุกๆ คน

ยิ่งไปกว่านั้น ศ.นพ.วิจารณ์ เห็นว่า การจัดให้กลุ่มความรู้มาเล่าเรื่องถือเป็นการจัดการความรู้อย่างหนึ่ง โดยกล่องใส่ความรู้คือเรื่องเล่าอันเป็นสิ่งที่มีพลัง และยังต้องมีคนคอยจับสกัดให้เป็นขุมความรู้ซึ่งได้มาจากผู้ปฏิบัติตัวเล็กๆ นั่นเอง

"คนเล่าคือความสำเร็จเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่เพราะจะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ โดยต้องอาศัยการสกัดเป็นความรู้ สังเคราะห์เป็นแก่นความรู้ให้ได้ และสิ่งที่เรียนรู้สั่งสมมาก็จะสามารถเปลี่ยนชุดความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ในที่สุด" ผู้อำนวยการ สคส.ย้ำ

สำหรับการเปลี่ยนวิธีคิดคือกระบวนการของการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องเอาความรู้มาจัดการโดยต้องมองผลลัพธ์ที่ได้ด้วย นั่นก็คือเกิดการเรียนรู้ที่เร็วขึ้นและใช้ประโยชน์ได้สะดวกขึ้น รวมทั้งสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

ขยายความรู้สู่การพัฒนา

ขณะที่ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบาย สคส. มองว่า การจัดการความรู้จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องผสมไปกับกระบวนการอื่นๆ ด้วย ซึ่งความจริงเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการบริหารเพื่อพัฒนาสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

"ผมมองว่าการจัดการกับความรู้เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า สามารถประมวลขึ้นมาให้คนอื่นนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อพัฒนาต่อและเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ตลอด" นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ เห็นว่าการจัดการความรู้มีหลายระดับ และหลายฝ่ายต้องร่วมกันในสังคมที่กว้างขวางออกไป ซึ่งการจัดการความรู้ประยุกต์มาจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติ โดยมีนักวิชาการวิเคราะห์ให้เป็นระบบคิดและพัฒนาต่อ ทั้งยังไม่ควรใช้เป็นข้อบังคับ

"การจัดการความรู้เป็นประโยชน์ที่สร้างสรรค์ สู่นวัตกรรมให้เกิดผลดีมากขึ้น และยังประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร ซึ่งเราเห็นผลในขบวนการชาวบ้านได้ไม่ยาก" คณะกรรมการนโยบาย สคส. กล่าวสรุป

นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่หลายฝ่ายต่างให้ความสำคัญต่อความรู้ การเรียนรู้ และการจัดการความรู้ เพื่อนำมาใช้สร้างประโยชน์และพัฒนาสังคมต่อไป แต่การเริ่มต้นก็มักจะพบอุปสรรคขวางกั้นอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่...ความรู้

คบไฟของความรู้ กับสังคมไทยที่ยังอับชื้น
"ต้องเข้าหลายทาง เรากำลังจุดไฟทีเดียว ต้องแหย่ทีละจุดเดี๋ยวก็ติดพรึ่บเอง กลยุทธ์ของสคส.ต้องแทรกเข้าไปคล้ายๆ เอ็นจีโอ" ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ ของสคส. กล่าวถึงบทบาทที่เป็นอยู่ของสคส.ในสังคมไทย

ขณะที่การจัดการความรู้ในสังคมไทยผู้คนมักเคยชินกับการบรรยาย หรือเอกสารตำรา ซึ่งไม่เหมือนกับที่สคส.กำลังต้องการดึงความรู้ในตัวคนมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสื่อสารระหว่างกัน จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจกับสังคม

ดร.ประพนธ์ อธิบายต่อไปว่า การจัดการความรู้มีหลายรูปแบบ บ้างเน้นเอกสาร เทคโนโลยี นั่นก็คือ Knowledge Management (KM) เพียงแค่20%เท่านั้น ทั้งนี้ความรู้อยู่ในตัวคนถึง 80% สคส.จึงเน้นวัดความรู้ในตัวคนเป็นหลัก

"ผมคิดว่าการจัดการของสคส.เป็นวิธีเดินที่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย แต่อาจทำให้สับสนในระยะแรก แต่เมื่อพอเข้าใจก็เริ่มกระบวนการต่อไปได้" ดร. ประพนธ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้สคส. ยังมองเห็นปัญหาของคนไทยที่ผ่านมาว่า "บางทีมีโครงการที่มีเม็ดเงินลงไปให้ชาวบ้าน เขาก็ทำตามตัวเงินกัน พอเงินหมดก็หยุดทำ เราอยากให้ชาวบ้านทำจนเป็นวัฒนธรรม สคส.จึงไม่เอาโครงการที่เป็นเม็ดเงินเข้าไป เพราะเรามองว่าไม่ได้ผลจริง ชาวบ้านจะทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อมีเงินให้ต่อเท่านั้น"

เมื่อโครงการต่างๆ ของภาครัฐต่างหว่านลงไปสู่ชุมชนต่างๆ อย่างหน่วงหนัก แต่ขณะเดียวกันการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการจัดการความรู้เพื่อนำมาใช้เป็นทุนทางสังคมกลับกำลังถูกมองข้าม ขณะที่สคส.และหน่วยงานอื่นๆ กำลังเผชิญกับปราการสำคัญที่สกัดกั้นพวกเขากับชาวบ้าน สิ่งนั้นก็คือ " เม็ดเงิน" นั่นเอง

"ผมอยากเห็นทุกภาคส่วนเริ่มเข้าใจ และเดินไปพร้อมๆ กันดั่งไฟเริ่มลาม ตอนนี้เรากำลังหาคนที่จะสามารถพลิกสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้" ดร.ประพนธ์ กล่าวในที่สุด

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net