Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันแรกของงานสัมมนาระดับชาติเรื่องเอดส์ ครั้งที่ ๑๐ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและสวนสุนันทาท่ามกลางฝนฟ้าที่ตกกระหน่ำในช่วงเช้าและโปรยปรายตลอดวัน มิได้ทำให้อรรถรสในการฟังอภิปรายช่วง Plenary Session ในหัวข้อ "มุมมองเรื่องเยาวชนกับโลกอนาคตและความรับผิดชอบทางเพศ" ลดน้อยไปแต่อย่างใด

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแนะนำแบบติดตลกว่า ตัวเองเป็นลูกจ้างโรงงานผลิตบัณฑิต ได้นิยามความหมาย "เยาวชน" ว่า มีลักษณะพิเศษ ที่มิใช่เพียงเพราะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและฮอร์โมน แต่เป็นเรื่องอำนาจและเสรีภาพร่วมด้วย เยาวชนจึงมิใช่เพียงมนุษย์ผู้มีร่างกายและหายใจได้

เยาวชนไทยถูกกำหนดโดยสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศีลธรรม การเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เยาวชนเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำต่อ "ระบบ" ที่กำหนดตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นระบบทุนนิยม หรือระบบการเมืองที่ผู้ใหญ่จะได้ผลประโยชน์ เช่น อายุ ๑๘ มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เยาวชนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ห้ามเข้าสถานบันเทิงและไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เห็นชัดว่าเยาวชนมีสิทธิในการบริโภคแต่ขาดเสรีภาพทางเพศ เพียงเพราะสังคมชนชั้นกลางคาดหวังไม่ให้เยาวชนมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากความปรารถนาของสังคม

พิชญ์คิดว่า นี่คือ อาการลักลั่นในเรื่องสิทธิของเยาวชน เยาวชนจะได้สิทธิต่อเมื่อผู้ใหญ่ได้ผลประโยชน์ แต่เยาวชนยังขาด "อำนาจและเสรีภาพ" ในการแสดงเจตจำนงของตนเองที่จะกระทำ หรือไม่กระทำอะไรได้จากการคิด วิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเอง การพูดเรื่องเยาวชน จึงควรพูดกันมากกว่าเรื่องสิทธิ แต่มันคือเรื่องอำนาจและเสรีภาพ ที่สามารถบรรลุสิ่งที่เรากำหนดเองได้ มิใช่มีสิทธิทำตามที่ผู้อื่นชักชวน

เยาวชนมิใช่ตัวปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบ เพราะเยาวชนจำนวนมากยังต้องพึ่งพิงครอบครัว เยาวชนจึงไม่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เลี้ยงตัวเองไม่ได้ ครอบครัวจึงมี "อำนาจ" มาจัดการกับ "เสรีภาพ" ทางเพศของเยาวชน เพราะผู้ใหญ่รู้สึกว่า หากปล่อยให้เด็กมีเพศสัมพันธ์แล้วตนเองจะสูญเสียอำนาจในการควบคุมเด็ก

ในขณะที่คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจความหมายเรื่องเพศ คิดเพียงว่าเป็นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ และสุขศึกษา สนใจแต่เรื่องเทคนิคลีลาในการร่วมเพศและการทำงานของต่อมต่างๆ ในร่างกายหรือปัญหาสุขภาพทางเพศ แต่ละเลยเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างมนุษย์

ดังนั้น เยาวชนจึงควรจะมีสิทธิที่จะเข้าใจเรื่องเพศและความสัมพันธ์ ความรับผิดชอบเรื่องเพศ หมายถึงการรับผิดชอบความสัมพันธ์ที่มีต่อมนุษย์ด้วยกัน เยาวชนน่าจะมีอำนาจ หรือเสรีภาพในการจัดการความเสี่ยง ตัดสินใจที่จะมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ด้วยตนเอง ถ้าพร้อมที่จะรับผิดชอบสิ่งที่จะตามมาหลังการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างเคารพตนเองและผู้อื่น มิใช่คิดเฉพาะเรื่องการใช้ถุงยางป้องกันท้อง หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวีเอดส์เท่านั้น

แคธริน ซี บอนด์ จากมูลนิธิ Rockefeller ซึ่งทำงานป้องกันเอดส์ในกลุ่มเยาวชนกว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา พบว่า โครงการที่จะทำให้ไม่ได้ผลในการทำงานลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเยาวชนมีลักษณะ ดังนี้ ๑) โครงการให้การศึกษาเพียงครั้งเดียวไม่ต่อเนื่อง ๒) โครงการบอกห้ามการมีเพศสัมพันธ์ ๓) โครงการตรวจเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีบริการให้คำปรึกษา ๔) โครงการสื่อสารทางเดียว และ ๕) โครงการที่ไม่มีข้อมูลรอบด้านและการฝึกทักษะ

และหากผู้ใหญ่จะทำงานเรื่องเพศกับเด็กให้ได้ผล "ผู้ใหญ่จะต้องไม่ใช้อำนาจกับเด็ก เรียนรู้ที่จะรับฟังและตั้งคำถามให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์และหาวิธีการลดโอกาสเสี่ยงด้วยตนเอง" การทำงานพัฒนาเยาวชนในเชิงบวก มองว่าเยาวชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ มิใช่เป็นตัวปัญหา แต่การทำงานที่เน้นเฉพาะปัญหาและพฤติกรรมเสี่ยง แต่ไม่พัฒนาเยาวชนในด้านบวก อาจทำให้เกิดความล้มเหลวได้" ง่าย

วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ขอโอกาสให้กับเยาวชนเป็นมากกว่ากลุ่มเป้าหมาย มีสิทธิในการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเพศ หากผู้ใหญ่เปิดโอกาส เปิดใจกว้างให้เยาวชนได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก เพราะเยาวชนอ่อนด้อยประสบการณ์ และใจเย็นอดทนสอนเยาวชนในการทำงานอย่างจริงจัง จะทำให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตและเอื้อให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆไปได้เติบโตในการทำงานเพื่อชุมชน

รายงานภาคสนาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net