Skip to main content
sharethis

ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญา ความหลากหลายที่กำลังโดนล้วงผ่านสิทธิบัตร : วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
ผู้อำนวยการองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย)


"เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ยอมไม่ได้เด็ดขาด หัวหน้าคณะเจรจาว่ายังไม่ยอมรับอะไร แต่ทีมที่เราศึกษาพบว่าทุกประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐต้องยอมทุกประเทศ เราเห็นอยู่ อยากบอกว่า เราจับตาอยู่ ที่บอกว่าจะไม่ยอมรับจริงแค่ไหน"
----------------


ถาม - เรื่องเกษตรในเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่น่าจับตามีอะไรบ้าง

วิฑูรย์ - เป็นเรื่องสำคัญมากในการเจรจาครั้งนี้ มี 4 เรื่องสำคัญที่สหรัฐต้องการให้เรายอมตาม
๑. เปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลืองที่สหรัฐเป็นผู้ผลิตรายใหญ่
๒. เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐต้องการให้เรายอมรับระบบกฎหมายสิทธิบัตร และการคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ ต้องการให้ไทยเป็นภาคีกฎหมายระหว่างที่ประเทศที่หากไทยยอมตามจะต้องแก้กฎหมายเพื่อให้เป็นตามแบบแผนอเมริกา
๓. การลงทุนด้านการเกษตร ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยยอมให้สหรัฐลงทุนเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและการค้าขายสินค้าเกษตร แต่สหรัฐต้องการให้เรายกเลิกข้อสงวนนี้เพื่อให้คนอเมริกาลงทุนทุกสาขาเกษตรได้อย่างเสรี
๔. พืชจีเอ็มโอ
ในการเจรจาครั้งที่ ๔ นี้ ประเด็นหลักคือ ทรัพย์สินทางปัญญาด้านการเกษตร

ถาม - เกษตรกรจะได้รับผลกระทบอะไร
วิฑูรย์ - อเมริกาต้องการ ๓ เรื่องใหญ่
๑. ให้ไทยยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต มาตรฐานของอเมริกัน เป็นมาตรฐานที่ประเทศซึ่งมีฐาน
ทรัพยากรทางชีวภาพอย่างเรารับไม่ได้ เพราะว่าถ้าไทยรับ สหรัฐฯจะสามารถเข้ามาจดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืชพันธุกรรมในเนื้อเยื่อ หรือเอาพืชต่างๆของไทยไปผสม ตัดต่อพันธุกรรมโดยไม่ต้องขออนุญาตจากประเทศไทย ไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้กับไทย ทั้งที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุให้แต่ละประเทศมีอธิปไตยเหนือทรัพยากรของตัวเอง

อย่างกรณีข้าวหอมมะลิ เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว มีนักวิจัยสหรัฐเอาข้าวหอมมะลิของไทยไปปรับปรุง แล้วอ้างว่าลืมทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์ วัตถุประสงค์หลักคือต้องการเอาไปจดสิทธิบัตร จดเกิดการคัดค้านใหญ่ในทุกระดับ รัฐบาลไทยเอาเรื่องนี้ไปเจรจากับสหรัฐ สหรัฐรับปากที่จะไม่ไปจดสิทธิบัตร แต่ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอ สหรัฐจะสามารถจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิได้เลย เราจะมีปัญหาส่งข้าวหอมมะลิไปสหรัฐทันที ขณะนี้ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปสหรัฐ 25-30% มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ถ้าอเมริกาจดสิทธิบัตร ข้าวที่มีลักษณะเหมือนข้าวหอมมะลิจะถูกกีดกัน

กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับชาวนาเม็กซิโกที่ปลูกถั่วชื่อ มายาโคบ้า อเมริกันไปจดสิทธิบัตรโดยไม่ได้ปรับปรุงอะไรด้วยซ้ำ แล้วปรากฏว่า ภายหลัง เม็กซิโกและองค์กรระหว่างประเทศสืบทราบภายหลังว่าเป็นถั่วเม็กซิโกดีๆนี่เอง มีการฟ้องร้องตั้งแต่ปี ๒๐๐๑ คดียังไม่จบ ยังไม่มีคำชี้ขาดว่าเป็น ของใครกันแน่ แต่ผลกระทบก็คือ ยอดการส่งออกไปสหรัฐลดลง 90% เพราะสหรัฐขู่ว่าจะฟ้องร้องคนที่ละเมิดสิทธิบัตร

ข้าวหอมมะลิ เป็นแค่กรณีตัวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไทยเรามีพันธุ์พืชจำนวนมาก พันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆ กรณีกวาวเครือก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอ สหรัฐสามารถจดได้ทุกอย่าง แม้แต่จุลินทรีย์หรือไวรัส

ถาม - เรื่องจีเอ็มโอ เป็นอย่างไร

วิฑูรย์ - สหรัฐผลักดันเรื่องจีเอ็มโอใน ๒ วิธี
วิธีแรกคือ เจรจาข้างนอก เป็นเงื่อนไขเลยว่า ถ้าทำเอฟทีเอกับสหรัฐ ต้องให้ปลูกจีเอ็มโอ ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่ารัฐบาลเปลี่ยนนโยบายเรื่องนี้กระทันหันในระหว่างการเจรจาเอฟทีเอ บรรษัทข้ามชาติและนักการเมืองที่เกี่ยวโยงก็เข้ามาพบฝ่ายบริหารของไทยหลายระดับมาก เราก็มีหลักฐานชัดเจน ว่า บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ทำหนังสือถึงตัวแทนการค้าสหรัฐว่า ไทยจะต้องเปิดเรื่องจีเอ็มโอ

วิธีที่สอง คือทำภายใต้การเจรจา คณะผู้เจรจาบางคนอ้างว่า จีเอ็มโอไม่มีในข้อตกลง แต่มันไปซ่อนอยู่ในข้อตกลงเรื่องสุขอนามัย หรือที่เรียกว่า SPS ถ้าดูไม่ดีเสียรู้แน่ สหรัฐอเมริกาจะอ้างในเนื้อหา SPS ว่าถ้าเราใช้เงื่อนไขในการห้ามปลูกหรือทดลองทำไม่ได้ การติดฉลากเพื่อผู้บริโภครับรู้ก็จะทำไม่ได้ เพราะเป็นการขัดขวางการนำเข้า การเปิดตลาดสินค้าเป็นต้น

ถาม - หัวหน้าคณะเจรจาไทย อ้างว่า การคัดค้านไม่เข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามากพอ เพราะกรณี UPOV ก็จะเปิดโอกาสให้ไทยเข้าไปใช้สิทธิต่างๆอย่างขนานใหญ่ ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร

วิฑูรย์ -มันไม่จริง จริงๆ แล้วพันธุกรรมที่มีอยู่ในโลก ไม่ได้มีอยู่ในโลกอุตสาหกรรม แต่ 90% อยู่ในโลกกำลังพัฒนา เพราะฉะนั้นการที่เราเข้าไปเป็นสมาชิก UPOV ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เข้าไปใช้พันธุ์พืชของสหรัฐอเมริกาได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเข้าเป็นภาคี UPOV จะมีปัญหาทันที เพราะภาคีนี้เป็นภาคีที่คุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ มีเงื่อนไขว่าจะคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่เท่านั้นเอง ขณะที่กฎหมายของไทยคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นด้วย

ถ้าอเมริกาจะใช้ภายใต้กฎหมายของไทยต้องทำสัญญาขออนุญาตเพื่อแบ่งพันธุ์ผลประโยชน์ถึงจะใช้ได้ ที่อเมริกาต้องการให้ไทยเป็นสมาชิก UPOV ก็เพราะต้องการให้ไทยแก้ไขกฎหมาย เป็นไปตามกฎหมายของอเมริกาให้เข้ามาใช้ได้อย่างเต็มที่ ยังไงก็ได้ การที่หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย พูดเช่นนั้นคงหมายความว่าเราสามารถใช้เทคโนโลยีของเขา พันธุ์พืชพันธุ์ใหม่ของเขา ซึ่งในความเป็นจริงกฎหมายพันธุ์พืชของเราคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์อยู่แล้ว แต่เรามีเงื่อนไขว่า ถ้านักปรับปรุงพันธุ์หรือบรรษัทข้ามชาติมาใช้ทรัพยากรในประเทศของเราเขาจะต้องขออนุญาตทำสัญญาส่วนแบ่ง เพื่อป้องกันโจรสลัดชีวภาพ คิดว่าหัวหน้าคณะเจรจาอาจมีความรู้ไม่เพียงพอ ถ้าพูดแบบนั้นจริง ถือว่าพูดจากดำเป็นขาวจากขาวเป็นดำเลย

ตัวผมเองได้รับเชิญจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ไปสรุปบรรยายเรื่องนี้ ให้ทางอธิบดีและเจ้าหน้าที่ต่างๆฟัง ซึ่งทุกคนเข้าใจดี เข้าใจดีว่าสหรัฐต้องการให้เราเป็นภาคีดังกล่าว เพราะอะไร

ถาม - เมื่อทำเอฟทีเอไปแล้ว พืชผลเกษตรสหรัฐจะเข้ามาทุ่มตลาดได้หรือไม่

วิฑูรย์ - เรื่องนี้น่ากลัวจริงๆ ตอนที่ทำเอฟทีเอกับจีน พืชเมืองหนาวทะลักเข้ามาในไทยอย่างมาก เพราะราคาต่างกัน จีนมีต้นทุนการปลูกถูกกว่าเราครึ่งหนึ่ง ครึ่งต่อครึ่ง ภาษีศูนย์ก็ทะลักเข้ามาเต็มที่ ไม่ใช่เพราะชาวนาของเขาเก่งกว่า แต่เป็นเพราะต้นทุน ค่าครองชีพ อเมริกาก็เหมือนกัน แต่ผลกระทบจะมากกว่าสิบเท่า

พืชที่อเมริกาต้องการคือ ข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งความจริงมีบริษัทธุรกิจการเกษตรใหญ่ของไทยที่ใกล้ชิดกับนักการเมืองจะได้ประโยชน์จากการที่เปิดตลาดตรงนี้ (เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์) ตายสถานเดียว เพราะข้าวโพดสหรัฐจะขายได้ถูกกว่าเราครึ่งต่อครึ่ง ถั่วเหลืองมากกว่าครั้ง ปีนี้ถั่วเหลืองเมืองไทย ๑๕ บาท ถั่วเหลืองอเมริกากลาย ๕-๗ บาท ถ้าเปิดตลาดปั๊บ เกษตรกรหลายล้านคนตายสถานเดียว แน่นอนคณะเจรจาอาจจะอ้างว่า เรามีเวลาให้ไม่เปิดทันที จะทยอยเปิด ๑๐-๒๐ ปี แต่ประสบการณ์จากประเทศอื่น เช่นเม็กซิโก ไม่ต้องถึง ๑๐ ปี แค่ ๕ ปีก็ตายกันหมดแล้ว เกษตรกรปลูกข้าวโพดหลายล้านต้องล่มสลายหมด

ถาม- ข้อเรียกร้องของทางกลุ่มฯ

วิฑูรย์ - เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ยอมไม่ได้เด็ดขาด หัวหน้าคณะเจรจาว่ายังไม่ยอมรับอะไร แต่ทีมที่เราศึกษาพบว่าทุกประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐต้องยอมทุกประเทศ เราเห็นอยู่ อยากบอกว่า เราจับตาอยู่ ที่บอกว่าจะไม่ยอมรับจริงแค่ไหน เราเห็นมาแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับประเทศอื่นๆ ถ้าไม่มีใครออกมาพูด อยู่ๆ เจรจาไปเสร็จลงนามกันโดยประชาชนไม่รู้รายละเอียด ก็จะผิดพลาด

เช่นเดียวกับเอฟทีเอไทย-จีนที่เกษตรกรปลูกหอมกระเทียมเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ หรือเอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลีย ที่เกษตรกรโคนมโคเนื้อกำลังร้องเรียนอยู่ว่าไปเปิดแบบนี้ได้อย่างไร แต่ในกรณีของสหรัฐจะรุนแรงกว่าทุกเอฟทีเอที่ไทยเคยทำมา เพราะเราจะเปิดทุกเรื่อง ซึ่งไม่ใช่เสรีจริงตามคำอ้าง เพราะสินค้าเกษตรอเมริกามีการอุดหนุนการเกษตรมากกว่า 4000-5000 บาทต่อไร่ ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมเลย

เราเรียกร้องว่า ต้องไม่ยอมเปิดตลาด ต้องไม่ยอมการค้าที่ไม่เป็นธรรม ต้องไม่ยอมสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ต้องไม่ยอม UPOV ที่มาฉีกกฎหมายไทยปล่อยให้มาหาประโยชน์จากทรัพยากรไทย มีอเมริกาเพียงประเทศเดียวที่ไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาที่ประเทศมีอธิปไตยเหนือทรัพยากรชีวภาพของตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net