Skip to main content
sharethis

 



 








 


"ในอเมริกาเขาทำวิจัยเรื่องอาหาร จากผู้ผลิตมาถึงผู้บริโภคต้องเดินทางเฉลี่ยแล้ว 1,500 กม.อย่างซ๊อสมะเขือเทศ "ไฮน์" ผลิตจากมะเขือเทศที่ปลูกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ขนส่งไปเข้าโรงงานในแคนาดา แล้วขนกลับมาขายในแคลิฟอร์เนียอีกที สินค้าในโลกตอนนี้ขนกันจ้าละหวั่นทั้งนั้น  ถึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน"


 


ในงานสัมมนาระดมสมองเรื่อง ""ฐานทรัพยากรเพื่อความมั่นคงและอธิปไตยด้านอาหาร" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้  "อนุช อาภาภิรมย์" ยกตัวอย่างความสลับซับซ้อนของการค้าเสรีในโลกสมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยด้านอาหาร เนื่องจากมีการพยากรณ์กันว่าสภาวะโลกร้อน จะทำพื้นที่ทำการ เกษตร 1 ใน 3 จะได้รับผลกระทบไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างเดิม


 


"ชาวนา" ต้นคิด "อธิปไตยทางอาหาร"


 


ที่ผ่านมาเรามักจะคุ้นเคยกับความมั่นคงและอธิปไตยของรัฐ  แต่ในยุคนี้อนุชระบุว่า  "จักรวรรดินิยม" ได้ครอบงำมาถึงสิ่งพื้นฐานที่สุดของชีวิตมนุษย์อย่าง "อาหาร" แบบรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง โดยผ่านระบบการค้าเสรีในยุคโลกภิวัตน์ จึงไม่แปลกอะไรที่มีการพูดถึงแนวคิดเรื่อง "มิติของความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร"


 


เรื่องนี้ถูกผลักดันอย่างแข็งขันจากเครือข่ายชาวไร่ชาวนาระหว่างประเทศ "กลุ่มเวีย คัมเปซินา (Via Campasina)" มาเนิ่นนานแล้ว โดยเรียกร้องให้ "กัน" อาหารและการเกษตรออกจากบรรดาข้อตกลงด้านการค้าทั้งหลาย เช่น ข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ข้อตกลงการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (NAFTA) ข้อตกลงการค้าเสรีทวีปอเมริกา (FTAA) ฯลฯ  


 


เนื่องจากแนวทางดังกล่าว นอกจากจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์และวิถีการผลิตในท้องถิ่นแล้ว ยังทำให้เกษตรกรรายย่อยล้มระเนระนาดไปตามๆ กัน


 


"อธิปไตยด้านอาหาร คือสิทธิของประชาชนที่จะกำหนดนิยามของอาหารและการเกษตรของตนเอง ที่จะปกป้องและกำกับดูแลการผลิตและการค้าด้านการเกษตรภายในประเทศ เพื่อให้บรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน......อธิปไตยด้านอาหารไม่ใช่การปฏิเสธการค้า ตรงกันข้าม กลับส่งเสริมการกำหนดนโยบายการค้าและวิถีปฏิบัติที่ตอบสนองสิทธิของประชาชนนานาเผ่าพันธุ์ที่จะมีวิถีการผลิตที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และยั่งยืนเชิงนิเวศวิทยา" ส่วนหนึ่งของนิยาม "อธิปไตยทางอาหาร"ในคำประกาศของกลุ่มเวีย กัมเปสินา


 


"มือที่มองไม่เห็น" ผลักคนจนล้มคะมำ


 


"ชนิดา จรรยาเพศ แบมฟอร์ด" นักวิจัยจากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) ฟันธงว่า ระบบการค้าเสรีคือสาเหตุสำคัญที่ทำลายความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งเปิดโอกาสให้บรรษัทธุรกิจอาหารขนาดใหญ่เข้าครอบงำระบบการผลิตอาหารทั้งโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศจำนวนมากที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก


 


"ไม่ว่าจะพยายามให้เกษตรผลิตได้มากขึ้นเท่าไรก็ไม่ช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น เพราะเกษตรกรถูกบีบเป็นคอขวด ด้านหนึ่งคือปัญหาการผูกขาด กดราคาของคนกลาง ขณะเดียวกันก็ต้องขึ้นต่อบริษัทผลิตสารเคมีและปุ๋ยเคมีตามวิถีแบบใหม่"


 


"ขนมปังราคาเพิ่ม 3 เท่าภายใน 10 ปี ขณะที่ราคาข้าวสาลีของเกษตรกรที่พ่อค้าซื้อมาทำขนมปังไม่เคยเพิ่มมีแต่ลด ถามว่าใครได้กำไร" ชนิดากล่าว


 


"อิซาเบล เดลฟอร์ช" ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในบทความ "เกษตรพันธสัญญา จากไร่นาสู้ห่วงโซ่อาหารจานด่วน และซูเปอร์มาร์เก็ต" โดยระบุว่า เกษตรพันธสัญญา หรือ contact farming เป็นสิ่งที่บริษัทธุรกิจทั่วโลกทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งเป็นลักษณะของการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดย "ว่าจ้าง" เกษตรกรให้มาทำการผลิตในรูปแบบที่บริษัทกำหนดทุกประการ


 


"บริษัทซีพีระบุว่า ปัจจุบันมีพันธสัญญากับเกษตรกรเลี้ยงไก่ 12,000 ราย เกษตรเลี้ยงหมู 5,000 ราย เกษตรกรปลูกข้าว 10,000 ราย และเกษตรปลูกข้าวโพด 10,000 ราย แต่ทว่ายังมีบริษัทอื่นๆ อีกที่ดำเนินกิจการเกษตรพันธสัญญาเช่นกัน" อิซาเบลอ้างอิงรายงานของกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เมื่อเดือนสิงหาคม 2546


 


ขณะเดียวกันบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการครอบงำระบบอาหาร ทำให้ผู้ค้ารายย่อยค่อยๆ หายสาบสูญไปจากระบบเศรษฐกิจ และมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมผู้บริโภค


 


"ชนิดา" ยกสถติให้เห็นว่า "ภายใน 10 ปีจาก 2535 - 2545 ซูเปอร์มาร์เก็ตได้เพิ่มสัดส่วนกุมตลาดขึ้นถึงร้อยละ 30 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ไม่รวมจีน) และร้อยละ 45 ในภูมิภาคอัฟริกาใต้ และที่สำคัญคือมีไม่กี่บริษัทที่กุมตลาดขายปลีกอาหาร อย่างในเมืองไทยก็นับนิ้วได้ในมือเดียว"


 


ดูเหมือนว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนทางการค้า ซึ่งมักถูกครอบงำด้วย "มือที่มองไม่เห็น" ของบรรษัทยักษ์ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อ "ความมั่นคง" ของทั้งเกษตรกรผู้ผลิต หรือแม้แต่ผู้บริโภคก็ตาม เพราะต่างก็มีชีวิตขึ้นต่อผู้ผูกขาดได้อย่างวิจิตรพิสดาร


 


ยาฆ่าแมลง-ปุ๋ยเคมี ชีวิตนี้เพื่อเธอ


 


"อุบล อยู่หว้า" ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก ทำงานในภาคอีสานอย่างยาวนาน ระบุถึงความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารว่า


 


 "โครงสร้างของสังคมตอนนี้มันเปลี่ยนไปมาก เห็นได้จากอาชีพทำนาที่กำลังจะสิ้นสุดลง ตอนนี้ในหมู่บ้านหาชาวนาอายุ 30 กว่าได้น้อยมาก เพราะมันกำลังจะสิ้นสุดในยุคของพ่อแม่ที่ตอนนี้อายุเกือบ 60 ปีแล้ว"


 


นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการใช้สารเคมี ปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งขายยังจังหวัดใหญ่ แล้วกลับมาซื้อผักสวยๆ เต็มไปด้วยสารเคมีในตลาดกิน ทำให้ติดอยู่ในวงจรหนี้สินอย่างเหนียวแน่น


 


อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า "ทางเลือก" ของเกษตรกรใช่ว่าจะตีบตัน หากแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีใช้ชีวิต แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เปลี่ยนค่อนข้างยาก จึงยังต้องการทำงานความคิดกับคนในพื้นที่ ประกอบกับต้องเร่งสื่อสารกับสังคมเพื่อให้หันมาให้คุณค่ากับความรู้แฝงของชาวบ้าน และการเกษตรแบบยั่งยืน


 


บางทีความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารอาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรลดการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจากบริษัท ซึ่งในเบื้องต้นสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันคือ การลด ละ เลิกใช้สารเคมี


 


"เรื่องสารเคมีขณะนี้ชัดแจ้งกันทุกฝ่ายว่าเป็นปัญหา แต่ไม่ยุติได้เสียที เพราะบรรษัทพวกนี้ไม่ใช่มีอำนาจในตลาดการค้าอย่างเดียว แต่ยังผูกโยงกับการเมือง อย่างมอนซานโต้บริษัทผลิตสารเคมีขนาดใหญ่ซบซานมาจากยุโรป มาลงที่เรา ตอนนี้กลายเป็นถังขยะของโลกไปแล้ว ในประเทศประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะแล้วถ้าผู้บริโภคและผู้ผลิตไม่เอา ก็จะผนึกกำลังกันออกกฎหมายคุ้มครองได้" ชนิดาทิ้งท้ายถึงปัญหาเบื้องต้นที่สุดที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net