Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วันนี้ (18 ก.ค.48) ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ตัวแทนจากภาคประชาสังคมไทย จะเข้าชี้แจงสถาน การณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังมีคำเชิญจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Committee on Human Right) ชุดว่าด้วยกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR/International Convenant on Civil and Political Rights) ของสหประชาชาติ (UN)

 

 

 

โดยคณะกรรมการฯ ได้สอบถามถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมายังประเทศไทยใน 26 ประเด็น หลังจากได้รับรายงานดังกล่าวจากรัฐบาลไทยเมื่อเดือนกลางปีที่แล้ว

 

 

 

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกติกาสากลดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2539 และมีพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีตั้งแต่ 29 ม.ค. 2540 ซึ่งต้องจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเสนอต่อคณะกรรมการฯ เป็นประจำปกติคือ 4 ปี แต่ประเทศไทย โดยตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม ฯลฯ ได้จัดทำรายงานฉบับแรกเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ล่าช้าไปหลายปี

 

 

 

นอกจากนี้เนื้อหาที่ปรากฏในรายงาน 135หน้าของภาครัฐในหลายส่วนยังเป็นข้อมูลที่ไม่ทันต่อสถาน การณ์ ในขณะที่คณะกรรมการฯ เปิดรับ "รายงานเงา" (Shadow Report) จากภาคประชาสังคมนอกเหนือจากรัฐบาลอย่างไม่จำกัด ทำให้ข้อมูลเรื่องต่างๆ หลั่งไหลเข้าไปเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโทษประหาร การคุกคามแทรกแซงสื่อ สิทธิเด็กและสตรี ผลกระทบจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ฯ

 

 

 

นำมาสู่เนื้อหาส่วนใหญ่ของคำถาม 26 ข้อที่ต้องการให้รัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมเข้าชี้แจง

 

 

 

ในส่วนของภาคประชาสังคมนั้น มีองค์กรพัฒนาเอกชนหลายหน่วยงาน ที่จัดทำรายงานสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ และเข้าร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ อาทิ เครือข่ายชาติพันธุ์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA Watch) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน องค์การนิรโทษกรรมสากล เป็นต้น โดยประเด็นสำคัญที่ในรายงานแทบทุกฉบับมีร่วมกันคือ สถานการณ์ภาคใต้ การทรมานผู้ต้องหา คนไร้รัฐ

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำรายงานและเข้าร่วมชี้แจงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยคุณหญิงอัมพร มีสุข กรรมการสิทธิฯ รวมทั้งกลุ่ม Thai-CAN (Thai Civic Action network) ที่ตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้มแข็งด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยตัวแทนจากคณะ กรรมการสิทธิมนุษยชน 4 คน องค์กรพัฒนาเอกชน 3 คน สื่อมวลชน 3 คน ก็จะร่วมชี้แจงกับคณะกรรมการฯ รวมทั้งจัดทำรายงานเพื่อตอบประเด็นคำถาม 26 ข้อดังกล่าวด้วย

 

 

 

ในครั้งนี้คณะกรรมการฯ กำหนดการพิจารณารายงานของ 5 ประเทศ คือ สโลเวเนีย ซีเรีย ตาจิคสถาน เยเมน และประเทศไทย โดยในวันที่ 18 ก.ค.จะเป็นการให้ข้อมูลของภาคประชาสังคมไทย และวันที่ 19-20 ก.ค.จะเป็นส่วนของภาครัฐ ประกอบด้วย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน หลังจากนั้นในวันที่ 29 ก.ค.คณะกรรมการฯ จะทำการสรุปข้อสังเกตการณ์ รวมทั้งข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทย

 

 

 

ขณะเดียวกันก็แว่วว่าต้นเดือนสิงหาคมนี้ ภาครัฐเตรียมจัดเวทีระดมสมองใหญ่เพื่อผลักดันกลไกและหลักประกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

 

 

 

ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการหนุนเสริม ปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือสร้างกลบลบภาพหลังการชี้แจงแผลกลัดหนองที่เจนีวาครั้งนี้

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net