Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR คือใคร


 


ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติได้กำหนดกติการระหว่างประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศอันเป็นมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนแล้วทั้งหมด 7 ฉบับ ซึ่งทำงานภายใต้โครงสร้างที่เรียกว่าเป็นกลไกระบบ Treaty Bodies อันประกอบไปด้วยคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้งสิ้น 7 ชุด ทำงานตรวจสอบการปฏิบัติตากติการระหว่างประเทศแต่ละฉบับของทุกๆ รัฐสมาชิก


 


ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้งหมด 5 ฉบับจากทั้งสิ้น 7 ฉบับ อันได้แก่



  1. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)

  2. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

  3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

  4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)

  5. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (ICERD)

 


โดยปัจจุบันประเทศไทยได้นำเสนอรายงานไปแล้วคือหมายเลข 1-3 และประเทศไทยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีอีกสองฉบับคือ



  1. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT)

  2. อนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติและครอบครัว (ICRMW)

 


คณะกรรมการประจำสนธิสัญญาทั้งหมดมี 6 ชุด มีหน้าที่ตรวจรายงานของประเทศภาคี และรับเรื่องร้องเรียน (กรณีที่รัฐภาคีนั้นรับอำนาจของคณะกรรมการ) และให้ข้อเสนอแนะ (recommendation) แก่ประเทศภาคีหลังการพิจารณารายงาน เพื่อให้รัฐภาคีนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นๆ ต่อไป คณะกรรมการประจำสนธิสัญญา ICCPR ขององค์การสหประชาชาติ เป็น 1 ใน 6 ของคณะกรรมการประจำสนธิสัญญา ปัจจุบันคณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR มีกรรมการทั้งสิ้น 18 คน จากการเสนอชื่อ คัดเลือก และได้รับการแต่งตั้งจากประเทศสมาชิกที่เป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศ ICCPR


 


คณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR ทำหน้าที่อะไร?


 


ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 18 คน มีหน้าที่ตรวจสอบรายงานที่ประเทศสมาชิกส่งมารายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรายละเอียดมาตราต่างๆ ในกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)


 


เมื่อประเทศหนึ่งประเทศใดได้ยอมรับเป็นรัฐภาคีต่อกติการะหว่างประเทศฉบับนั้น จึงมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการปฏิบัติตามมาตราต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศนั้นๆ การตรวจสอบจะดำเนินการโดยการศึกษารายงานของรัฐบาลและศึกษาร่วมกับรายงานเงา (Shadow Report) ที่จัดทำโดยองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่ปรากฏอยู่ในระบบเอกสารขององค์การสหประชาชาติและในแหล่งข้อมูลอื่นๆ


 


วิธีการรายงานต่อคณะกรรมการฯ ของ ICCPR


 


รัฐที่เป็นภาคีของ ICCPR จะต้องจัดทำการร่างรายงานฉบับริเริ่ม (Initial Report) และจัดส่งให้คณะกรรมการประจำสนธิสัญญา ICCPR กำหนดเป็นเวลา 1 ปีหลังจากลงสัตยาบันประเทศไทยจัดส่งรายงานล่าช้า และได้จัดส่งรายงานฉบับริเริ่มเป็นครั้งแรกต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 นี้เอง คณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR มีแนวโน้มที่จะตรวจสอบรายงานและสถานการณ์สิทธิฯ ของรัฐภาคีที่จัดส่งรายงานล่าช้าเป็นเวลานานโดยทันที เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์


 


การจัดทำรายงานของรัฐบาลของประเทศที่เป็นภาคีไม่ใช่แต่เป็นการทำตามกฎระเบียบ แต่เป็นการดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของรัฐเองต่อระบบกลไกสิทธิมนุษยชน กลไกระบบยุติธรรม และแนวทางการดำเนินการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประเทศ


 


บทบาทของภาคประชาสังคมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ


 


ภาคประชาสังคมสามารถมีบทบาทในการตรวจสอบรายงานของประเทศไทยได้โดยพิจารณาจัดทำรายงานเงา (Shadow Report) ส่งให้แค่คณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR ร่วมพิจารณา ในเดือนมีนาคม 2548 ปรากฏว่ามีรายงานเงาจัดส่งแก่คณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR ทั้งสิ้น 3 ชุดเป็นอย่างน้อย โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนของไทย องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคเอเชีย และจากสถาบันการศึกษา


 


สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องระบบกลไก Treaty Bodies ให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้สนใจเมื่อวันที่ 16-18 มีนาคม 2548 ในส่วนประเทศไทยมีผู้แทนของรัฐจากกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจกลไกสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติระบบ Treaty Bodies ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICCPR และ CAT อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ที่ประเทศไทยกำลังพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคี


 


 


 


เอกสารจาก Thai-CAN (Thai Civic Action Network)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net