อนุกรรมการสมานฉันท์ฯถกพรก.ฉุกเฉิน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ รองนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ที่ทำเนียบรัฐบาล ตนจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพราะอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสวนทางกับแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ โดยจะให้ที่ประชุมร่วมกันประเมินว่า หลังจากที่ประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ จะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง และควรจะมีแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างไร
 

 

 

นายอับดุลอาซิซ กล่าวว่า สำหรับการก่อเหตุความไม่สงบในตัวเมืองยะลา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ที่มีการวางระเบิดสถานบันเทิงครบวงจรโคลีเซี่ยม ซินิเพล็กส์ รวมทั้งร้านคาราโอเกะ และโรงแรม ถึงแม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่า คนร้ายมุ่งทำลายสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมตะวันตก แต่มีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มผู้ก่อการต้องการเช่นนั้น เพราะในทางศาสนาอิสลามถือว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอบายมุข มีการขายเครื่องดื่มมึนเมา หรือมีสินค้าและบริการ ที่ทำให้เยาวชนลุ่มหลงออกห่างจากศาสนามากขึ้น

 

 

"แหล่งอบายมุขนับเป็นอีกสาเหตุของความไม่สงบในพื้นที่ เนื่องจากขัดกับหลักศาสนาอิสลาม แต่รัฐกลับไม่มองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา จึงไม่ได้แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนวิตกว่า ลูกหลานจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข" นายอับดุลอาซิซ กล่าว

 

 

นายอับดุลอาซิซ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระแสการต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกแผ่ขยายไปทุกแห่ง ไม่เฉพาะในชุมชนมุสลิมเท่านั้น เช่น ในประเทศอินเดีย ที่ชาวฮินดูเคยก่อเหตุเผาดอกกุหลาบแดง เพื่อต่อต้านการจัดงานวันวาเลนไทน์ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศอินเดีย เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวฮินดู ส่วนในชุมชนมุสลิม การก่อเหตุลอบวางระเบิดไนต์คลับบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนตุลาคม 2545 ก็เป็นการทำลายสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมตะวันตกอย่างหนึ่งเช่นกัน

 

 

นายอับดุลอาซิซ กล่าวต่อไปว่า เมื่อ 3 - 4 ปี ก่อน ตนรณรงค์ให้ชาวจังหวัดยะลาออกมาเรียกร้องไม่ให้มีสถานบันเทิงในพื้นที่ และสนับสนุนนโยบายการจัดระเบียบสังคมของรัฐบาล จนกระทั่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีมติขอให้เลิกสถานบันเทิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หลายส่วนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะที่เมืองเบตง จังหวัดยะลา และเมืองสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นเมืองชายแดน ต่อมารัฐบาลไม่ได้เข้มงวดมากนัก ทำให้มีร้านขายเครื่องดื่มมึนเมามากขึ้น ส่งผลให้เยาวชนและชาวบ้านมุสลิมบางส่วนถูกมอมเมา เข้าไปนั่งดื่มในร้านเหล้ามากขึ้น ยิ่งในช่วงการเลือกตั้งจะเห็นมากกว่าช่วงอื่น

 

 

สำหรับสถานบันเทิงครบวงจรโคลีเซี่ยม ซินิเพล็กซ์ยะลา เป็นของนายคมน์ อรรคเดช มีกำหนดจะเปิดในเดือนสิงหาคม 2548 ประกอบด้วย โรงภาพยนต์ 5 โรง บริเวณชั้นหนึ่งมีร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านเคเอฟซี ร้านเอ็มเค สุกี้ ร้านหนังสือ ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ร้านไอสครีมสเวนเซ่น ร้านขายเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

 

 

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2548 ที่สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้จัดกิจกรรม "Yala never walk alone" มีการระดมดารามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่า จะอยู่เคียงข้างคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดไป โดยมีดารารุ่นเก่าที่เคยร่วมงานกับนายคมน์ อรรคเดช มาร่วมงานหลายคน เช่น นายนิรุต ศิริจรรยา โกร่ง กางเกงแดง เป็นต้น

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท