เจ้าพ่อน้ำเมายึดไนท์บาร์ซาร์ "เขตช้าง สิงห์ห้ามเข้า" - รายงานพิเศษ

 

 

 

การไล่ซื้อที่ดินของเจ้าพ่อเบียร์ช้าง "เจริญ  สิริวัฒนภักดี" ที่เชียงใหม่ ไม่ใช่ข่าวใหม่ และดูเหมือนไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นเท่าใดนัก เพราะนิสัยช่างซื้อของเขาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2530 เหตุผลของการซื้อที่ดินในยุคแรก เพื่อเป็นที่ระบายของเสียจากโรงเหล้า 12 โรงในต่างจังหวัด ในจังหวัดอยุธยา - อ่างทองและสุพรรณบุรี

 

ช่วงฟองสบู่เริ่มพองช่วงปี 2530 กลุ่มของเจริญ ก็กว้านซื้อที่ดินขนาดใหญ่นับพันนับหมื่นไร่ทั่วประเทศ โฉนดล้นตู้เซฟ หรือบางทีแทบจำที่ดินตัวเองไม่ได้ กระทั่งถามซื้อที่ดินตัวเองก็มี

  

หลังจากนั้นกรุ่นกลิ่นที่ดิน - อสังหาริมทรัพย์เริ่มหอมหวล "เจริญ" เริ่มขยายไลน์ซื้อกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลของอากร ฮุนตระกูล ซึ่งมีโรงแรมในเครือ 7 แห่ง ในปี 2537 และเริ่มกว้านซื้อที่ดินในประเทศมากขึ้น

 

ไม่เพียงแค่นั้น ในปี 2540 ยังข้ามห้วย ข้ามฟ้าไปซื้ออาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ที่ฮ่องกงมูลค่า 4,000 พันล้านบาท และโรงแรมพลาซ่า แอทธินี ที่นครนิวยอร์ก มูลค่า 1,750 ล้านบาท เพื่อสนองความต้องการทางธุรกิจที่ดูเหมือนไม่สิ้นสุด และการรุกไปสู่เวทีตลาดสากลมากขึ้น ด้วยกลยุทธ์การ "ซื้อ" และ " Take Over" เช่นเดิม 

 

ก้าวเดินทางธุรกิจของ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" จึงเป็นตำนานของนักธุรกิจไทยที่ต้องถูกบันทึกไว้ พร้อมกับฉายามากมาย ไม่ว่าจะเป็น  1.) นักซื้อที่แท้จริง 2.) มหาเศรษฐีเจ้าพ่อน้ำเมา 3.) จอมยุทธ์วิชามารผู้เหยียบหิมะไร้รอย 4.) ผู้ยิ่งใหญ่วงการที่ดินตัวจริง อย่างไรก็ตามก็มีคนสรุปว่า เขาคือนักเลงที่ดินตัวจริงที่กล้าได้กล้าเสีย!

 

กรณีของการทุ่มซื้อที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าลำดับการซื้อของเขา มีแผนที่จะซื้อผืนดินแปลงใหญ่ไปครอบครอง อันเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของเชียงใหม่ นั่นคือย่าน "ไนท์บาร์ซาร์" และย่านถนนช้างคลาน กระทั่งปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ดิน - อสังหาริมทรัพย์ในย่านนั้นมากกว่า 50% มีเงาของ "เจริญ" ทาบอยู่เบื้องหลัง

 

เหตุผลของการ "ซื้อ" ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ และปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ "เจริญ" เป็นที่น่าวิเคราะห์ว่ามีเบื้องหลังของการตัดสินใจอย่างไร 1.) การเป็นเมืองนายกฯ 2.) นโยบายของรัฐบาลให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว , ไอซีทีซิตี้ และการเป็นศูนย์กลางทางการบิน 3.) การปั่นราคาที่ดิน 4.) การซื้อ เพื่อต้องการ "ซื้อ" และครอบครองเบ็ดเสร็จ ฯลฯ

 

เหตุผลที่แท้จริงเป็นเช่นไร!!?

 

เปิดตำนานจอมซื้อ

เจาะขุมทรัพย์เจริญ

 

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า พื้นที่ย่านไนท์บาร์ซาร์และตลอดแนวถนนช้างคลาน ถือเป็นย่านใจกลางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเป้าหมายของนักลงทุนหลายรายที่จะนำเม็ดเงินมาลงทุนอีกมหาศาล โดยเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่ระดับประเทศที่ต้องจับตามองมากเป็นพิเศษคือ กลุ่มของนาย "เจริญ สิริวัฒนภักดี" เจ้าของธุรกิจเบียร์ช้าง เจ้าของกลุ่มสุรามหาราษฎร์ และธุรกิจอีกมากมายนับไม่ถ้วน ที่รุกการลงทุนมายังจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว

 

แหล่งข่าว กล่าวว่า ระยะ 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มของ "เจริญ" มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการหมายมั่นจับธุรกิจหลักในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ การขยายการลงทุนเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ของ "เจริญ" เริ่มตั้งแต่การขยายเครือข่ายโรงแรมอิมพีเรียล ด้วยการทุ่มเงินกว่า 500 ล้านบาท ซื้อโรงแรมแม่ปิงเดิมจากกลุ่มคาร์เปทอินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของพรมไทปิง ตั้งแต่ปลายปี 2531 แม้โรงแรมนี้จะไม่ได้อยู่บนถนนช้างคลาน แต่ก็จัดอยู่ในโซนใกล้เคียงกับไนท์บาร์ซาร์ และถือเป็นโรงแรมที่มีชัยภูมิที่ดีอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

 

ทั้งนี้ อาจกล่าวไม่ผิดว่าการขยายตัวในด้านการลงทุนของกลุ่ม "เจริญ" มีแผนครอบครองที่ดินและธุรกิจย่านไนท์บาร์ซาร์อย่างเบ็ดเสร็จและครบวงจร หากจะไล่เรียงตั้งแต่หัวถนนช้างคลาน ซึ่งทั้งสองฟากฝั่งถนน ล้วนแต่มีธุรกิจของ "เจริญ" แทบทั้งสิ้น เริ่มจากเมื่อปลายปี 2547 เข้าเทคโอเวอร์ศูนย์สรรพสินค้าเชียงอินทร์พลาซ่า ของตระกูล "กิตติบุตร" แลนด์ลอร์ดรายใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ ศูนย์สรรพสินค้าดังกล่าว มีขนาดพื้นที่ประมาณ 20,000 ... โดยแผนของ "เจริญ" ต้องการพัฒนาศูนย์สรรพสินค้าแห่งนี้ให้เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัย รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง

 

ส่วนด้านฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นห้าง ".การค้า 3" ที่เป็นลักษณะอาคารพาณิชย์ 6 ชั้นจำนวนกว่า 10 คูหา ซึ่งกลุ่มของ "เจริญ" ก็ให้ความสนใจค่อนข้างมาก และเจ้าของก็เสนอขายให้ในราคา 150 ล้านบาท 

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้พื้นที่ด้านหลังของ ส.การค้า ยังมีธุรกิจเกสต์เฮ้าส์ชื่อว่า "กาแลเกสต์เฮ้าส์" ที่เป็นของกลุ่มนายเจริญ ด้วยเช่นกัน

 

ถัดมาบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงแรมสุริวงศ์ ซึ่งมีพื้นที่แปลงสวยผืนเดียวจำนวนประมาณ 4 ไร่ ที่กลุ่มของเจริญ ได้ซื้อเก็บไว้นานแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเป็นโรงแรมและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่สูง 29 ชั้น คาดว่าจะใช้ชื่อ "เลอเมอริเดียน เชียงใหม่" ซึ่งในส่วนของโรงแรมจะมีจำนวนห้องพักประมาณ 400 ห้อง วางตำแหน่งให้เป็นโรงแรมระดับห้าดาว โดยดึงเชนเมอริเดียนเข้ามาบริหาร ในส่วนของคอมเพล็กซ์ ได้ถูกวางไว้ให้เป็นศูนย์รวมสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ทันสมัย โดยจะดึงห้างสรรพสินค้าชื่อดังของญี่ปุ่นเช่น "ZEN" เข้ามาให้บริการด้วย มูลค่าการลงทุนทั้งหมดของโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะยังไม่รวมมูลค่าที่ดิน ที่มีราคาประมาณอยู่ระดับ 6 - 7 หมื่นบาทต่อตารางวา คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวปลายปี 2550

 

พื้นที่โซนถัดจากห้าง ส.การค้า ระยะไม่ไกลกันเท่าใดนักคือ "กาแลไนท์บาร์ซาร์" ก็เป็นของนายเจริญด้วยเช่นกัน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวแบ่งเช่าขายอาหารและรับฝากรถ และถัดมาคือตลาดอนุสารมีพื้นที่รวมประมาณ 15 ไร่ ที่ตกเป็นของนายเจริญ อีกเช่นกัน โดยเขาทุ่มเงินก้อนโตกว่า 600 ล้านบาท ซื้อที่ดินแปลงงามดังกล่าวซึ่งเป็นมรดกอันเก่าแก่ของตระกูล "นิมมานเหมินท์" สำหรับการบริหารจัดการที่ดินบริเวณตลาดอนุสาร กลุ่มของเจริญ มีแผนปรับโฉมแนวธุรกิจใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เหมือนกับถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ เน้นให้เป็นแหล่งจับจ่ายซื้อหาสินค้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ

 

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พื้นที่บริเวณมุมสี่แยกดวงตะวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ศูนย์รวมสินค้าไอทีครบวงจรแหล่งใหญ่ของเชียงใหม่ ก็เป็นธุรกิจของนายเจริญอีกเช่นกัน โดยกลุ่มของนายเจริญ ได้ตัดสินใจซื้อที่ดินผืนดังกล่าวที่เป็นหลักทรัพย์หลุดจำนองของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีเนื้อที่กว่า 4 ไร่ พร้อมอาคารร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จ ด้วยราคาประมาณ 220 ล้านบาท จากนั้นได้ลงทุนแปลงโฉมอาคารร้างดังกล่าวให้เป็นพันธุ์ทิพย์พลาซ่า สาขาเชียงใหม่ พื้นที่ภายในอาคารประมาณ 22,000 ตารางเมตร ด้วยมูลค่าการลงทุนราว 400 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน กลุ่มของเจริญ ยังไม่หยุดขยายการลงทุนเฉพาะย่านไนท์บาร์ซาร์เท่านั้น โดยขณะนี้ได้เข้าเทคโอเวอร์ "สุริวงศ์พลาซ่า" ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประตูท่าแพ ซึ่งเป็นธุรกิจของนางเยาวเรศ ชินวัตร น้องสาว พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่หมายจะให้เป็นศูนย์สรรพสินค้าของคนมีระดับกระเป๋าหนัก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ  ซึ่งกลุ่มของเจริญวางแผนปั้นโฉมอาคารดังกล่าวให้เป็นเกสต์เฮ้าส์ชั้นดี รองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สาเหตุที่จะปรับโฉมให้เป็นเกสต์เฮ้าส์ ก็เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่มีพื้นที่สำหรับจอดรถมากเพียงพอ

 

นอกจากพื้นที่โซนช้างคลาน ไนท์บาร์ซาร์และท่าแพแล้ว กลุ่มของเจริญ ยังขยายอาณาเขตการลงทุนไปในพื้นที่รอบนอกเขตเมืองเชียงใหม่ โดยเทกโอเวอร์เชียงใหม่สปอร์ตคลับ ที่อำเภอแม่ริม พื้นที่ประมาณ 76 ไร่ มาตั้งเดือนมกราคม 2546 ด้วยมูลค่าการซื้อขายประมาณ 300 ล้านบาท และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงแรมอิมพีเรียลแม่ริม ซึ่งจุดแตกต่างของโรงแรมแห่งนี้คือ ทำเลที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำปิง บรรยากาศเหมาะแก่การพักผ่อน มีสถานออกกำลังกายที่ครบครันทันสมัย

"ไนท์บาร์ซาร์" - "เจริญซิตี้"

 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การลงทุนของเจริญ เล็งพื้นที่ปักหมุดการลงทุนในย่านไนท์บาร์ซาร์เป็นหลัก เนื่องเพราะอาจเป็นหลักการทำงานของเขาที่เมื่อลงทุนธุรกิจใดก็ตามแล้วต้องการเห็นผลให้เร็วที่สุด ซึ่งการลงทุนบนย่านใจกลางเศรษฐกิจจึงน่าจะเป็นการลงทุนที่เล็งผลเลิศได้เป็นอย่างดี และมีโอกาสผิดพลาดน้อย ผนวกกับอัตราการเติบโตของย่านไนท์บาร์ซาจะมีสูงมากอย่างแน่นอนในอนาคต ประกอบกับการเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย และมองความเป็นไปได้ของธุรกิจได้ขาด และธุรกิจโรงแรมนับเป็นธุรกิจที่กลุ่มเจริญมีประสบการณ์และมีความชำนาญในการ บริหารมาเป็นเวลายาวนาน

 

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่จังหวัดเชียงใหม่ถูกวางให้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นแรงหนุนให้ภาคธุรกิจมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว ซึ่งย่อมเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับธุรกิจบริการและโรงแรม

 

ดังนั้น การเข้ามายึดพื้นที่ในหลายทำเลบนถนนช้างคลานย่านไนท์บาร์ซาร์ของเจริญ จึงเป็นการวางเกมทางธุรกิจที่มีทิศทางที่ชัดเจน เพราะ ณ เวลานี้ พื้นที่ย่านนี้คือพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของเชียงใหม่ ดังนั้น โอกาสทางธุรกิจของเจริญจึงน่าจะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง หากสินค้าที่มีอยู่ในสองกำมือของเขาสามารถสนองความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง

 

อย่างไรก็ตาม การอ่านเกมการลงทุนของเจริญอาจไม่ง่ายอย่างที่ใครๆ คิดว่า จะต้องปลุกกระแสการฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์ตามนโยบายของรัฐบาล หากแต่มีแง่มุมที่น่าคิดตามนิสัยของนักธุรกิจที่มองการลงทุนเป็นความรู้สึกและความไม่แน่นอนทางการตลาด เจริญไม่ได้คิดแค่หมากเพียงแค่เกมเดียว หากแต่มองเกมหลายชั้นทางธุรกิจ และการขยายอาณาเขตด้วยการไล่ซื้อที่ดินบริเวณไนท์บาร์ซาร์เป็นอาณาจักรของตนเอง บั้นปลายคือ การผูกขาดของเกมธุรกิจที่ไม่ต่างกับความคิดที่เบียร์ช้างจะครอบครองตลาดนานา

ชาติ หรือความเป็นอินเตอร์ ดังนั้น กรณีที่เจริญกำลังจะสร้าง "เจริญซิตี้" เป็นเพียงแค่เกมธุรกิจที่จะครอบครองขุมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่ และการกุมหัวใจของการท่องเที่ยวของเชียงใหม่เบ็ดเสร็จให้อยู่ในมือของเจริญ แค่นั้นเอง.

 

 

กว่าจะเป็น "เจริญ สิริวัฒนภักดี"

 

ก่อนเป็นเจริญในวันนี้ "เจริญ ศรีสมบูรณานนท์" เปลี่ยนนามสกุลเป็น "สิริวัฒนภักดี " เมื่อปี 2530 เดิมมีชื่อจีนว่า "เคียกเม้ง แซ่โซว " เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2487 ที่ย่านทรงวาด ซึ่งเตี่ยของเขายึดอาชีพขายหอยทอดเลี้ยงลูก 11 คน เจริญใช้เวลา 8 ปีเรียนจบ ป.4 ที่โรงเรียนเผยอิง บุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน แต่เป็นคนมีไหวพริบทางการค้า

 

ใครจะรู้ว่าอภิมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของเมืองไทย เคยรับจ้างเข็นรถส่งของแถวสำเพ็งและทรงวาด หาบเร่ขายของตามฟุตบาธ เป็นลูกจ้างร้านย่งฮะเส็ง และห้างแพนอินเตอร์ที่จัดส่งของโรงงานสุราบางยี่ขัน หลังจากเก็บเงินทองได้ก็เริ่มต้นเปิดกิจการร้านโชวห่วย ขายเหล้าแม่โขง ธุรกิจเติบโตจนสามารถสร้างตึกแถวได้

 

 

เจริญแต่งงานกับวรรณา แซ่จิว ลูกสาวของกึ้งจู แซ่จิว (Chou Chin Shu) เศรษฐีเก่าชาวจีน ที่รวยเงียบๆ กับธุรกิจซัพพลายโรงงานสุราบางยี่ขัน ที่ซึ่งเจริญทำงานเป็นลูกน้องคนสนิทของเถลิง เหล่าจินดา ในบริษัทสุรามหาคุณได้ด้วยบารมีของอดีตนายกสมาคมแต้จิ๋ว "คุงเคียม แซ่โซว " ที่ฝากฝังให้

 

ปี 2525 กรมสรรพสามิตออกคำสั่งอนุญาตให้ขนสุราข้ามเขตได้ กลุ่มเถลิง-เจริญ ตักตวงความร่ำรวยจากโอกาสทองนี้ ร่วมกันก่อตั้งบริษัทจำนวนมาก โดยร่วมกับผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเช่น พงศ์ สารสิน ในนามบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยว ข้องกับสุราและอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัท ทีซีซีที่ดินและการเคหะ บริษัทพงศ์เจริญการลงทุน (ต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัทเจริญวรรณกิจ) บริษัทสุราทิพย์ บริษัททีซีซี บริษัททีซีซีธุรกิจ โดยทุกบริษัทต้องมีชื่อพ่อตาคือกึ้งจู แซ่จิว ด้วย

 

ในชีวิตของเจริญที่เปลี่ยนไปเป็นมหาเศรษฐีน้ำเมา มีคนสองคนที่เจริญ ต้องระลึกถึงตลอดเวลา 2 คน คือ พ่อตาของเขา กึ้งจู แซ่จิว และอีกคนคือ เถลิง เหล่าจินดา

 

ยุคต้นๆ เจริญได้สนใจลงทุนซื้อหุ้นธนาคารอย่างเงียบๆ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญในธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารเอเชีย และธนาคารศรีนครด้วย โดยซื้อในนามบริษัท ชลิตลาภ ไทย- สิริวัฒน์ สุริวงศ์คอมเพล็กซ์ และบริษัทพรวิเศษ

 

ปี 2531เจริญซื้อหุ้นบริษัทอาคเนย์ประกันภัย 39.5% จากนรฤทธิ์ โชติกเสถียร และถือหุ้นใหญ่ 53% (ปี 2537) ของบริษัท อินทรประกันภัย (เดิมอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตและประกันภัย)

 

ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา นับเป็นปีที่อาณาจักรของเจริญขยายตัวอย่างหนักและรวดเร็ว มีสินทรัพย์เติบโตอย่างมาก จากการซื้อธุรกิจกลุ่มธนาคาร กิจการอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ซื้อหุ้นและที่ดินซึ่งทำในนามบริษัท ที.ซี.ซี.ทรัพย์สินเจริญ ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2524 เดิมชื่อบริษัท ที.ซี.ซี.ที่ดินและการเคหะ มีสินทรัพย์เป็นที่ดินทั้งหมด ชนิดตู้เก็บโฉนดปิดไม่ลงทีเดียว

 

เหตุผลของการซื้อที่ดินในยุคแรก เพื่อเป็นที่ระบายของเสียจากโรงเหล้า 12 โรงในต่างจังหวัด เช่นที่อยุธยาจนถึงอ่างทองและสุพรรณบุรี แต่ในช่วงปี 2530 ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มบูม กลุ่มของเจริญกว้านซื้อที่ดินขนาดใหญ่นับพันนับหมื่นไร่ เช่นที่ บ้านบึงจำนวน 2,000 ไร่ต่อจากเถลิง เหล่าจินดา ที่ดินประมาณหมื่นไร่ที่ชะอำ บ้านท่ายาง

 

ส่วนที่กรุงเทพฯ กลุ่มเจริญได้ซื้อที่ดินสำนักงานใหญ่ ขนาด 492 ตารางวา ธนาคารสหธนาคารที่ปลายถนนเยาวราช ที่บรรเจิด ชลวิจารณ์ ตกลงขาย 120 ล้านบาท

 

นอกจากนี้เจริญซื้อโครงการเสนานิเวศน์ ในนามบริษัท สยามพัฒนา ขนาด 400 ไร่จากชวน รัตนรักษ์ อดีตประธานธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยผ่อน ชำระยาว 15 ปี

 

ส่วนการซื้อโครงการพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ของบริษัทไพบูลย์สมบัติ ของตระกูลบุนนาค ที่ติดจำนองกับธนาคารไทยทนุและบงล.ภัทรธนกิจ 500 ล้านบาท โดยได้ที่ดินอีก 5 แปลงของบริษัทไพบูลย์สมบัติมาด้วย คือ ที่ดินแปลงตลาดเก่าเยาวราช และที่ดินอีก 55 ไร่ข้างโกดังอี๊สต์เอเชียติ๊ก บริเวณวัดพระยาไกร (ดูตารางที่ดินส่วนหนึ่งของเจริญ)

 

ปี 2537 เจริญได้ซื้อกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลของอากร ฮุนตระกูล ซึ่งมีโรงแรมในเครือ 7 แห่ง เช่น อิมพีเรียล อิมพาล่า สุขุมวิท 24 อิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22 อิมพีเรียลธารา แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันโรงแรมอิมพีเรียลที่ถนน วิทยุได้กลายเป็นโรงแรมระดับห้าดาว พลาซ่าแอทธินี

ปี 2538 และ 2539 ซื้อโรงแรมภูแก้วรีสอร์ทที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ราคา 260 ล้านจากบุญชู โรจนเสถียร โครงการซิตี้รีสอร์ทที่เชียงใหม่ และโรงแรม โกลเด้น ไทรแองเกิล วิลเลจ ที่เชียงราย จากไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์

 

ในปี 2540 เจริญได้ซื้ออาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ที่ฮ่องกงมูลค่า 4,000 พันล้านบาท และยังข้ามไปซื้อโรงแรมพลาซ่า แอทธินี ที่นครนิวยอร์ก มูลค่า 1,750 ล้านบาท

 

ส่วนการซื้อโรงงานน้ำตาลชลบุรี ถือเป็นสินทรัพย์ที่เสริมแขนขาของธุรกิจสุรา เพราะโมลาสที่โรงน้ำตาลใช้เป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งในการผลิตเหล้า ต่อมาได้ซื้อโรงน้ำตาลแม่วัง และโรงน้ำตาลในอุตรดิตถ์ และสุพรรณบุรีด้วย

 

นอกจากนี้ยังเทกโอเวอร์โรงงานอุตสาหกรรมกระดาษบางปะอิน เพื่อผลิตกล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์สุราและเบียร์ในเครือด้วย

 

ปี 2534 ยุคที่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เริ่มนโยบายเปิดเสรีสุราและ เบียร์ เจริญได้ร่วมทุนกับบริษัทคาร์ลสเบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก ตั้งบริษัท คาร์ลสเบอร์ก บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) ที่อยุธยา มีกำลังผลิตประมาณ 100 ล้านลิตรต่อปี นอกจากนี้ ยังผลิตเบียร์ตราช้างที่มีกลยุทธ์การตลาดที่มีเอเย่นต์ทั่วประเทศแบบ "ขายเหล้าพ่วงเบียร์ " และปูพรมทุ่มทุนมหาศาลด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

 

ปี 2542 ยุคเปิดเสรีสุราหลังหมดยุคสัมปทานช่วงสุดท้ายของกลุ่มสุรามหาราษฎร (ปี 2523-2542) กลุ่มสุราค่ายสุราทิพย์ของเจริญ ชนะประมูลโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 โดยบริษัทสราญชัย ประมูลสูงถึง 5,885 ล้านบาท ขณะที่ค่ายบุญรอดบริวเวอรี่เสนอเพียง 2,544 ล้านบาท

 

กลุ่มธุรกิจสุราของเจริญ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.กลุ่มธุรกิจเหล้า ได้แก่ บริษัทสุรามหาราษฎร (มหาชน) กลุ่มโรงเหล้าสุราทิพย์ 11 แห่ง กลุ่มโรงเหล้าสุรามหาทิพย์ 9 แห่ง บริษัทสุรากระทิงแดง (1988) ที่บริษัทแสงโสมถือหุ้น 25% ของหุ้นเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท และบริษัทยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ที่แสงโสมถือหุ้น 25%

 

2.เป็นบริษัทใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นหลังเปิดเสรีสุรา ได้แก่ บริษัทกลุ่ม 43 ที่ประกอบด้วย 5 บริษัทในเครือ คือ บริษัทสราญชัย บริษัท กาญจนสิงขร บริษัทแก่นขวัญ บริษัทมงคลสมัย และบริษัทนทีชัย

 

3.บริษัทโฮลดิ้งคอมปานีที่เป็น nominee ให้กับกลุ่มแสงโสม ในการถือหุ้นบริษัทในเครือ เช่น บริษัทเทพอรุโณทัย และบริษัทอธิมาตร

 

4.เป็นบริษัทด้านจัดจำหน่ายของกลุ่มบริษัทแสงโสม มีบริษัทใหม่อีก 16 บริษัท

 

ทั้งนี้ อาณาจักรธุรกิจของเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ขยายไปด้วยการซื้อกิจการมากมายและต่อเนื่องไม่จบสิ้น เช่น ปี 2544 เทกโอเวอร์บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ด้วยมูลค่า 5,532.2 ล้านบาท

เหตุผลที่ซื้อเบอร์ลี่ฯ เพื่อต้องการซื้อกิจการบริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย ซึ่งจะผลิตขวดบรรจุป้อนอุตสาหกรรมเบียร์และสุราของกลุ่มเจริญได้เต็มที่ และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ก็เป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยด้วย

 

ความใหญ่ในธุรกิจสุรา ทำให้เขามีโอกาสซื้อกิจการบริษัท อินเตอร์เฮ้าส์ ดิสทิลเลอร์ส ผู้ผลิตและจำหน่ายสุราในสกอตแลนด์และยุโรปด้วยเงินไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

 

กลางปี 2545 เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้อยู่เบื้องหลังการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2002 ด้วยมูลค่า 300 ล้านบาท โดยการถ่ายทอดสดจากสนามแบบไม่มีโฆษณาคั่น ได้สร้างความนิยมเชิงการตลาด ที่มีผลต่อสินค้าเบียร์ ตราช้างอย่างเห็นชัดเจน

 

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท