Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการโครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้ ในฐานะแกนนำกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย เปิดเผยว่า วันที่ 27 กรกฎาคม 2548 นี้ ทางกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ประมาณ 500 คน จะเดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อนำรายชื่อชาวบ้านหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 8 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่คัดค้านไม่ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ อนุญาตให้บริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ใช้พื้นที่สาธารณะในหมู่บ้านดังกล่าว เพื่อก่อสร้างโรงแยกก๊าซ

 

 


นายบรรจง เปิดเผยต่อไปว่า ทางบริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้ก่อสร้างโรงแยกก๊าซในพื้นดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2546 ในสมัยนายอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด โดยก่อสร้างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยนายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ มารับช่วงเป็นกรรมการผู้จัดการแทน จนถึงปัจจุบันที่นายกาลันต้า จากบริษัทเปโตรนาส มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฯ ซึ่งหมายความว่า บริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำผิดกฎหมาย ด้วยการบุกรุกที่ดินสาธารณะเพื่อก่อสร้างโรงแยกก๊าซโดยไม่ได้รับอนุญาตมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้ โดยเพิ่งยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ตามประกาศของสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ลงนามโดยนางสุรางรัตน์ สีเดร์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ ที่ประกาศให้ผู้ประสงค์จะคัดค้าน ให้ยื่นคำคัดค้านภายใน 30 วัน  

 

 

นายบรรจง กล่าวว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไม่ใช่เป็นการก่อการ้าย หรือประสงค์ร้ายต่อรัฐ จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้อำเภอจะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย เป็นพื้นที่ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว

 

 

นายบรรจง เปิดเผยว่า ตนจะนำเรื่องการประกาศให้อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ร่วมกับทุกอำเภอของจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เข้าหารือในที่ประชุมระดมสมองของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ปลายเดือนกรกฎาคม 2548  นี้ เพราะทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ยากขึ้น

 

 

"ผมไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ โดยเฉพาะมาตรา 17 ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ซึ่งเป็นการให้ท้ายเจ้าหน้าที่กระทำการเกินกว่าเหตุ"

 

 

นายสุไลมาน หมัดยูโซะ แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย กล่าวว่า การประกาศให้พื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เป็นพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินด้วย ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการชุมนุมคัดค้านของเครือข่ายฯ เพราะไม่เกี่ยวกับความมั่นคง

 

 

"เราใช้สิทธิในการประท้วงตามรัฐธรรมนูญ คัดค้านความผิดพลาดของรัฐบาล ไม่ใช่ชุมนุมประท้วงเพื่อการก่อการร้าย ประชาชนส่วนใหญ่ก็รู้แล้วว่า เราประท้วงอะไร เราชุมนุมกันอย่างสงบ หากรัฐบาลจะใช้พระราชกำหนดฉบับนี้มาจัดการกับผู้ชุมนุมด้วย คงไม่ถูกต้อง สังคมคงจะไม่ยอมรับ และออกมาคัดค้านแน่นอน" นายสุไลมาน กล่าว

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net