10 ชนเผ่า: กรณี รัฐไทยไม่ปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ

"เราไม่ได้มีเจตนาโจมตีหรือตีแผ่ประเทศไทยในแง่ลบ  เราสำนึกเสมอว่าเราคือชนเผ่าและชาติพันธุ์ดั้งเดิมติดแผ่นดินไทยถิ่นนี้  เป็นมนุษย์ที่เกิดมามีสิทธิและความเท่าเทียมเช่นคนไทยทุกคน  จึงมีสิทธิที่จะอธิบายข้อเท็จจริงในปัญหาที่ชนเผ่าและชาติพันธุ์ถูกละเมิดสิทธิ์  ที่ถูกกระทำและถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติจากรัฐบาลไทย  โดยหวังว่าเราจะได้กลับคืนมาซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สูญเสียไป" เป็นสรุปรายงานปัญหาและข้อเท็จจริง ของกลุ่มตัวแทน 10 ชนเผ่า  ที่เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ที่เจนีวา  ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

 

ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.)  พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์  10  ชนเผ่าในประเทศไทย  ได้จัดทำรายงานเรื่อง รัฐบาลไทยกับการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  พ.ศ.2501 เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ที่กรุงเจนีวา  ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ  ในการที่จะเสนอให้มีการปรับปรุง  หรือยกระดับการคุ้มครองและการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทย  ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้

 

โดยในรายงานดังกล่าว  ได้กล่าวถึงในประเด็นเกี่ยวกับรัฐบาลไทย กับการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ.2501  โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง  คือ บทบัญญัติข้อที่ 1,2,6,24,26, และข้อ 27  ซึ่งรัฐบางไทยได้เข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ.2501  และประเทศไทยมีผลในการปฏิบัติตามกฎหมายเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2540  แล้วนั้น

 

ซึ่งก่อนหน้านั้น  รัฐบาลไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิก  ได้จัดทำร่างรายงานขึ้นเสนอให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามข้อบัญญัติที่ 40  เมื่อเดือน ม.ค.2543 ที่ผ่านมา  แต่เป็นการจัดทำรายงานขึ้น  โดยที่ชนเผ่าและชาติพันธุ์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหรือให้ความคิดเห็นแต่ประการใด  โดยเฉพาะเนื้อหารายงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าและชาติพันธุ์นั้นแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน  ทั้งปัญหาการถูกละเมิดสิทธิและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อวิถีชีวิตในด้านสังคม  เศรษฐกิจและวัฒนธรรมประเพณี 

 

ดังนั้น  รายงานฉบับนี้จึงเป็นรายงานที่ได้ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยน  ปรึกษาหารือและผ่านการรับรองจากผู้แทนเครือข่ายและชาติพันธุ์ 10  ชนเผ่า ในเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ว่าด้วย "สิทธิ และสถานะบุคคลของชนเผ่าชาติพันธุ์ในประเทศไทย  ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่  เมื่อวันที่ 22-23 มิ.ย.ที่ผ่านมา

 

ในรายงานระบุว่า  การดำเนินงานตามกติการะหว่างประเทศของรัฐบาลไทยที่ผ่านมานั้น  ได้เกิดปัญหาที่เกิดขึ้นกับชนเผ่า ในหลายๆ  ด้านด้วยกัน  เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540  ในมาตรา 46,56  ได้บัญญัติรับรองเรื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน 

 

แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว  ชุมชนบนพื้นที่สูงไม่ได้รับสิทธิและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากป่าตามรัฐธรรมนูญ  แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกและอยู่ในป่าแบบผิดกฎหมาย  เนื่องจากรัฐบาลไทย  ได้ประกาศใช้กฎหมายป่าไม้  4  ฉบับ (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ก่อนมีกฎหมายรัฐธรรมนูญปัจจุบันและมีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ) ซ้อนทับลงบนที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัยและป่าชุมชน  ส่งผลให้ชนเผ่าที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุกและผิดกฎหมาย

 

โดยรัฐบาลใช้มติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.2541 เป็นเครื่องมือรองรับการบังคับใช้กฎหมายทั้ง  4  ฉบับ  มีการประกาศแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชน  สิ่งแวดล้อมและพืชเสพติด  3  ฉบับ  โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติ  ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและการแก้ไขปัญหายาเสพติด  และล่าสุด  คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 27  ก.ค. และวันที่ 10  ส.ค.2547  เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ  โดยมีพื้นที่เป้าหมายจำนวน  10,886  หมู่บ้าน  ใน  70  จังหวัด  ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของชนเผ่าเกือบ 100% 

 

การประกาศใช้กฎหมายป่าอนุรักษ์ทับซ้อนที่ดินทำกินดังกล่าว  ทำให้ชนเผ่าและชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่มาก่อนต้องกลายเป็นผู้บุกรุก  ผู้กระทำผิดกฎหมาย  ถูกจับกุม  ถูกข่มขู่คุกคามเป็นประจำ  ยิ่งพื้นที่ใดถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ล่อแหลม  ก็จะถูกอพยพ  ถูกขับไล่ออกจากป่าทันที  เช่นกรณีตัวอย่างชาวบ้านชนเผ่าปะหล่อง  ลาหู่และลีซู หมู่บ้านปางแดง  อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่  ถูกจับกุมทั้งหมู่บ้าน 3  ครั้ง  ในขณะนอนหลับ  ข้อหาบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า  ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นศาล  โดยข้อเท็จคือว่า  หมู่บ้านปางแดงมีที่อยู่อาศัยเพียง 200 กว่าตารางวา  และส่วนใหญ่ไร้ที่ดินทำกิน  ขณะที่บริเวณรอบๆ  หมู่บ้านและตลอดทั้งอำเภอเป็นพื้นที่ของนายทุน  ของข้าราชการและนักการเมือง  อีกทั้งเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเป็นผู้บุกรุกทำผิดกฎหมายต้องถูกจับกุมเหมือนกันหมด  แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็เลือกจับกุมเฉพาะชาวบ้านปางแดงที่ไร้ทางต่อสู้เท่านั้น

 

นอกจากนั้น  การอพยพหมู่บ้านชนเผ่าออกจากป่า  ภายใต้แผนแม่บทฯ  เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1A  หรืออยู่ในพื้นที่ล่อแหลมลาดชันเกิน 35%  เช่น  กรณีการอพยพชนเผ่าออกจากป่าอุทยานแห่งชาติในพื้นที่เขตติดต่อจังหวัดลำปาง  พะเยา และเชียงราย  เมื่อวันที่ 14 ก.พ. พ.ศ.2537  และอพยพชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร จ.ตากและกำแพงเพชร  กว่า 1,000  คน ในปี พ.ศ.2533  ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น  ทำให้ชนเผ่าและชาติพันธุ์จำนวนมาก  ต้องไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  ไม่มีงานทำ  วิถีชีวิตล่มสลาย  เด็กเยาวชนต้องออกไปรับจ้างในเมือง  และผู้หญิงชนเผ่าถูกหลอกลวงไปขายบริการทางเพศ

 

นอกจากนั้น  ในรายงาน  ยังระบุรัฐบาลไทย ไม่ได้มีการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  พ.ศ.2501 ข้อ 2  ซึ่งระบุชัดว่า  รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้  รับที่จะเคารพและประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงในดินแดนของตน  และภายใต้เขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ  อาทิ  เชื้อชาติ  ผิว  เพศ  ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด  เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม  ทรัพย์สิน  กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ 

 

ซึ่งข้อเท็จจริง  คือ ในชนชั้นปกครองแห่งรัฐไทยยังมีอคติทางชาติพันธุ์  มักเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์  ดังจะเห็นได้กรณีล่าสุด  ครม.ยังมีมติ เมื่อ 29 ส.ค.2543  จำแนกชนเผ่าออกเป็น  3  กลุ่ม  ด้วยเหตุผลเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม  ส่งผลทำให้ชนเผ่าไร้สัญชาติจำนวนมาก  ไร้สถานะบุคคล  ไร้สิทธิและไร้รัฐ  หรือกลายเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย  ซึ่งมีจำนวนมากกว่า  360,000  คน 

 

และทุกปี  บุคคลไร้สัญชาติเหล่านี้  จะต้องขอมติครม. เพื่อขอผ่อนผันการอยู่อาศัยชั่วคราวปีต่อปี  ไม่สามารถขอรับบริการสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐได้  เช่น  สาธารณสุข  การศึกษา  ถูกควบคุมเรื่องการเดินทางไม่สามารถออกนอกเขตพื้นที่  เด็กที่เกิดในแผ่นดินประเทศไทย  มีบิดามารดาถูกระบุว่าเป็นคนต่างด้าว  ก็ไม่สามารถขอจดทะเบียนการเกิดและไม่ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองไทย ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1996 ข้อ 24(2),(3)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท