Skip to main content
sharethis

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยอ้างว่ากฎหมายที่มีอยู่ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงโดยเร็ว โดยมีบทบัญญัติหลายมาตรา เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่บัญญัติรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ โดยเฉพาะการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา ๓๙ และ ๔๑

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรวิชาชีพของหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ และสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในภาคใต้ พร้อมทั้งบรรณาธิการ และผู้แทนหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้ประชุมหารือกัน เมื่อวันอังคารที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมีมติเป็นเอกฉันท์ดังต่อไปนี้

๑) องค์กรวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายไปด้วยดี โดยการใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข่าวด้วยความรับผิดชอบตลอดมา และขอประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่โดยไม่เลือกชาติกำเนิด เชื้อชาติและศาสนา



๒) การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ เป็นการขยายอำนาจและโอนอำนาจในลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้นายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้ได้ เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจสั่งการ จึงต้องออกพระราชกำหนดดังกล่าว ขึ้นมาเพื่อให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ตาม ซึ่งความจริงนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มที่อยู่แล้ว การออกพระราชกำหนดโดยอ้างสถานการณ์อย่างฉุกละหุก จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่กลับจะสร้างวิกฤตให้เกิดมากขึ้น จนไม่สามารถจะแก้ไขเยียวยาได้


           
๓) เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า เหตุผลในการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ ได้อ้างสถานการณ์ฉุกเฉินในภาคใต้เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และต้องให้สัญญากับประชาชนว่าจะใช้ความรอบคอบและระมัดระวังในการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้ และจะต้องยกเลิกทันทีที่สถานการณ์คลี่คลายลง



๔) การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นการอาศัยสถาน การณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ออกกฎหมายมาควบคุมและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน อันถือเป็นการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนแทนกฎหมายเผด็จการในอดีต อาทิ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๗ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๒ และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ จึงสมควรยกเลิกโดยเร็ว และแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระจากบุคคลทุกภาคส่วนที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมาพิจารณาออกเป็นพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยความละเอียดรอบคอบต่อไป



๕) รัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง และทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรับรองสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน เพื่อให้การนำเสนอข่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อันจะนำไปสู่แก้ไขปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักนิติธรรม โดยใช้กระบวนการสันติวิธีและยึดมั่นในหลักการสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง

                                                                                      จึงขอแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน


                                                                                       สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
                                                                                               ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net