ข้อเสนอะแนะต่อ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน -คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

แถลงการณ์เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อกรณีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ด้วยความห่วงใยและวิตกกังวลในแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวของรัฐบาล นับแต่มีการจุดไฟเผาโรงเรียนกว่า ๒๐ กว่าแห่ง และปล้นปืนจากกองพันทหารพัฒนาที่ ๔ เรื่อยมาจนปัจจุบันนับเป็นเวลาประมาณกว่าปีครึ่งแล้ว มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายไปเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ติดตามและมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลมาเป็นระยะตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แสดงจุดยืนที่เด่นชัดว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดก็ตาม

 

จนกระทั่งล่าสุด ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลาเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘ อันยังให้เกิดความเศร้าเสียใจสำหรับผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากกรณีดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลในการตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเขตพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ และเป็นเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตระหนักถึงภาระของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา อันจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน หากแต่ว่าการตราพระราชกำหนดดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความวิตกและห่วงใยในปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จะเกิดขึ้น จึงได้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลถึงความห่วงใยอันเกิดจากการบังคับใช้พระราชกำหนดนี้ ที่ไม่สอดคล้องต่อหลักสาระสำคัญพื้นฐานในสิทธิมนุษยชนดังจะกล่าวโดยลำดับดังนี้

 

๑. หลักการพื้นฐานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ภายใต้สถานการณ์สงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นในประเทศ ความจำเป็นในการรักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และการรักษาเอกราชของชาติ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และในระบบกฎหมายของทุกประเทศยอมรับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้ตามความจำเป็นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และยอมรับการมีอำนาจเพิ่มขึ้นของฝ่ายบริหาร แต่ต้องพิจารณาใช้อำนาจตามลักษณะของสถานการณ์ หากเป็นสถานการณ์สงคราม ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องมีอำนาจพิเศษบางประการที่ในสถานการณ์ปกติไม่สามารถกระทำได้ และหากกระทำจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในสถานการณ์อื่นที่ไม่ใช่สถานการณ์สงคราม เช่น ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกันว่าฝ่ายบริหารมีความจำเป็นต้องมีอำนาจมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

 

ถึงกระนั้นก็ตาม หลักการให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้น หาได้ทำให้เกิดการยกเว้นหรือไม่ให้มีการตรวจสอบใดๆ ในการกระทำของฝ่ายบริหารอย่างใดไม่ เพราะในระบบกฎหมายนานาอารยประเทศ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องอยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยองค์กรตุลาการ เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักการนิติธรรม

 

ตามหลักการพื้นฐานอันเป็นเงื่อนไขของการใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสองประการ อันเป็นหลักการที่ต้องได้รับการยึดถือโดยเคร่งครัด และเพื่อเป็นการรับรอง คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จะถูกล่วงละเมิดจากการใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว ซึ่งในขณะที่มีการตราพระราชกำหนดดังกล่าวเกิดขึ้น ประเทศไทยได้มีและใช้กฎหมายเกี่ยวกับสถาการณ์สงครามและสถานการณ์ฉุกเฉินบังคับใช้ในพื้นที่ปัญหาดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๕๔๗ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๔๙๕ รวมถึงกฎหมายอาญาด้วย

 

ดังนั้น การอ้างเหตุผลในการตราพระราชกำหนดโดยอ้างเหตุผลการบูรณาการกฎหมาย จึงไม่ต้องด้วยเหตุผลกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในพระราชกำหนดดังกล่าวได้ปฏิเสธหลักการตรวจสอบการกระทำในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยองค์การตุลาการโดยสิ้นเชิง ดังการยกเลิกอำนาจของศาลปกครองอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๓๕ และมาตรา ๒๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ รวมทั้งการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา หรือทางวินัย ก็เป็นการปฏิเสธหลักการดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

 

๒. สาระสำคัญของบทบัญญัติในพระราชกำหนดที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของพระราชกำหนดของการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ รายมาตราตามลำดับแล้ว พบว่าบทบัญญัติในพระราชกำหนดมีความไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หลายประการ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ในประเทศสำคัญกล่าวคือ

 

๑) การห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในมาตรา ๙ (๒) ซึ่งไปจำกัดสาระสำคัญในเสรีภาพการชุมนุม ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๔ วรรคสอง ซึ่งการจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์สงคราม หรือในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่มาตรา ๙ (๒) เป็นอำนาจทั่วไปที่นายกรัฐมนตรีสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่ประการใด นอกจากนี้ ยังเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๒๑

 

๒) การห้ามเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งไปจำกัดสาระสำคัญในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา ๙ (๓) ซึ่งการจำกัดจะทำได้เฉพาะประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือการรบเท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๑๙

 

๓) การห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ ซึ่งไปจำกัดสาระสำคัญในเสรีภาพในเคหสถาน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๕ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๑๗

 

๔) ในการจับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิด ๗ วัน.....ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละ ๗ วัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า ๓๐ วัน ซึ่งไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๓๗ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ ๙ และ ข้อ ๑๔

 

๕) พนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนด ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระวังหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ซึ่งถูกจำกัดในสาระสำคัญในสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๑ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๒ ข้อ ๖ และข้อ ๗ และเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์ได้

 

๖) การปฏิบัติต่อบุคคลโดยไม่จำแนกเยาวชนออกจากบุคคลทั่วไป ย่อมขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๑๐ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๕

 

๓. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชกำหนด

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พิจารณาถึงหลักการพื้นฐานในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนจากการใช้อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหารและบทบัญญัติ ตามพระราชกำหนดดังกล่าวแล้ว เห็นว่าพระราชกำหนดดังกล่าว อาจส่งผลกระทบที่สำคัญหลายประการในระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือ

 

๑) ทำให้หลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักการนิติธรรมสูญสลายไปเพราะการตราพระราชกำหนดที่ไม่เป็นไปตามหลักความจำเป็นการในการตราพระราชกำหนด

 

๒) ปราศจากการตรวจสอบในการกระทำของฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจ เนื่องจากการปฏิเสธหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยองค์การตุลาการ โดยสิ้นเชิง ดังการยกเลิกอำนาจของศาลปกครอง

 

๓) สถานการณ์ความรุนแรงใน ๓จังหวัดชายแดนภาคใต้จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้อำนาจหรือการใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกินขอบเขต การตราพระราชกำหนดขึ้นโดยการเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐยิ่งจะทำให้ปัญหาสถานการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

จากข้อวิตกกังวลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามที่กล่าวมา ข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการพิจารณายกเลิกพระราชกำหนดดังกล่าว หรือปรับปรุงให้มีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาต่อไป

 

      

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท