กองทุนกู้ยืมใหม่ "ไอซีแอล" กับการพลิกโฉม "การศึกษาไทย" ครั้งใหญ่

 

 

 

 

 

 

 

 
 

 

 

 

 

 

 

 

ในสภาวะที่ความสนใจของสังคมส่วนใหญ่พุ่งไปยังปัญหาความมั่นคง และปัญหาเศรษฐกิจ "การปฏิรูปการศึกษา" กำลังดำเนินการไปอย่างเงียบๆ จนออกจะเงียบเกินไป โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการเงินในภาคการศึกษา นั่นคือ การเกิดขึ้นของกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "ไอซีแอล" ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายว่าจะนำมาใช้ในปีการศึกษาหน้านี้ โดยที่ขณะนี้ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกำลัง "เร่ง" หารือในรายละเอียดต่างๆ หลายจุด

 

 

 

 

 

 

กองทุนไอซีแอลนี้ มีจะมีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างทางการศึกษาอย่างมาก หากเป็นไปตามกรอบคิด "ดร.สมชัย ฤชุพันธ์" รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษานำเสนอ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เชิญอธิการบดีหลายแห่งและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมหารือกัน เมื่อวันที่ 16-17 ก.ค.ที่ผ่านมา และถัดไปจากนี้คือที่มาที่ไปของกองทุนไอซีแอล และรูปร่างหน้าคร่าวๆ ของการอุดมศึกษาไทย ที่เปิดโอกาสให้หลายคนจิตนาการไปในหลายทาง

 

 

 

 

 

รวมถึงความหวาดหวั่นอย่างถึงที่สุด ดังที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ แสดงความกังวลในที่ประชุมว่า "ไอซีแอลเป็นความคิดที่ดี แต่ความคิดที่ดีกับการปฏิบัติจริง บางทีอาจไปด้วยกันไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะถ้าจะเอามาใช้ทั้งระบบในปี 49 อาจทำลายอุดมศึกษาของประเทศทันทีอย่างสิ้นเชิง ถ้ามันล้มเหลว ผมว่าเราน่าจะค่อยๆ ทำ"

 

 

 

 

 

กรอบความคิดในการปฏิรูป

 

 

 

 

 

ดร.สมชัย เริ่มต้นด้วยการให้คำจำกัดความ "การศึกษา" ว่าเป็นทั้งสินค้าที่ก่อให้เกิดคุณค่าในเชิงคุณธรรม (Merit goods)  และเป็นทั้งสินค้าสาธารณะ (Public goods) ที่รัฐจะต้องจัดบริการ แต่กระนั้นก็เป็นสินค้าที่ตลาดเข้ามามีบทบาทสำคัญ

 

 

 

 

 

"ในประเทศไทย พื้นฐานในการใช้กลไกตลาดเข้ามาช่วยจัดการอยู่ในระดับที่ดีกว่าในหลายๆ ประเทศ การทำงานของกลไกตลาดในภาคการศึกษาของไทยจึงมีสูง เมื่อการศึกษาเป็น Marketable public goods เพราะฉะนั้นจึงตามมาด้วยว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องผูกขาดการจัดบริการทางศึกษา (Sole provider / Major Provider)"

 

 

 

 

 

" ความจริงการศึกษาเป็นสิ่งที่ปล่อยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมได้ ซึ่งรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรกุศลสาธารณะ องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชน ได้ร่วมส่วนในการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ถ้าเปิดโอกาสให้ร่วมส่วนได้อย่างนี้ ก็ต้องมีกลไกการสนองทุนเพื่อการศึกษาที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเอกชน" ดร.สมชัยกล่าว

 

 

 

 

 

ถึงกระนั้นก็มีปัญหาว่า จะปล่อยให้กลไกตลาดดำเนินการไปโดยอิสระหรือไม่  ดร.สมชัยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จะปล่อยให้ใครดีใครอยู่ ใครแข็งแรงใครชนะไม่ได้ การแทรกแซงตลาดของรัฐบาลในภาคการศึกษายังเป็นสิ่งจำเป็น ปล่อยให้กลไกการตลาดดำเนินการตามลำพังไม่ได้ ทั้งนี้ ก็เพราะคุณสมบัติความเป็น Public goods และ Merit goods ดังกล่าวมาแล้ว

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงของรัฐกำลังจะเปลี่ยนโฉมไป จากเดิมที่เคยแทรกแซงในส่วนของการอุดหนุนเงินผ่านสถานศึกษา (Supply) มาเป็นการอุดหนุนเงินผ่านผู้เรียนโดยตรง (Demand) ซึ่งดร.สมชัยระบุว่า เพื่อให้มีการกระจายภาระอย่างเท่าเทียมมากขึ้น และสามารถกำหนดทิศทางการผลิตกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศมากขึ้น

 

 

 

 

 

อุดมศึกษา ภาระที่ต้องแบ่งกันแบก

 

 

 

 

 

ในขั้นต้น ดร.สมชัยได้นำเสนอปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในภาคการอุดมศึกษาของไทย หลายประการโดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในการแบกรับต้นทุน เพราะการอุดมศึกษาแตกต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นมุ่งให้ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ มุ่งสร้างความสามารถให้กับนักเรียนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ เป็นพลเมืองดีในสังคมได้ จึงเป็นผลกำไรสาธารณะ (Public benefit) มากกว่าผลกำไรส่วนตัว (private benefit)

 

 

 

 

 

แต่การศึกษาระดับอุดมศึกษาจะเป็นการศึกษาที่มี private benefit มากกว่า public benefit เพราะการอุดมศึกษาทำให้เกิดความสามารถในการหารายได้  ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เกิดต่อนักเรียน และผู้ใช้ประโยชน์จากนักเรียนด้วย คือ บริษัทห้างร้าน ที่เป็นนายจ้างของวิศวกร แพทย์ สถาปนิก

 

 

 

 

 

ประเด็นที่ตามมา คือ การแบ่งรับภาระของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม จะแบ่งตามสัดส่วนของประโยชน์ที่แต่ละภาคส่วนได้รับ  ตัวนักเรียนเองที่ได้รับประโยชน์มากได้รับภาระเพียงพอหรือเปล่า ภาคเอกชน บริษัทห้างร้านที่ได้รับประโยชน์มากได้รับภาระเพียงพอหรือเปล่า หรือว่าทุกคนได้รับเท่ากันแต่เอาเงินภาษีมาอุดหนุน (finance) อย่างเดียว

 

 

 

 

 

สารพัดปัญหาของอุดมศึกษาไทย

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ภาคการอุดมศึกษาของประเทศไทยยังมีปัญหาอีกหลายประการ

 

 

 

 

 

1.ปัญหาเรื่องปริมาณ ขณะนี้มหาวิทยาลัยปิดมีน้อยเกินไป และมีมหาวิทยาลัยเปิดมาช่วยรองรับนักเรียนมาก  ซึ่งไม่สามารถสอนวิชาบางวิชาที่จำเป็นต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมได้ 

 

 

 

 

 

2. ปัญหาการกระจายตัวของการเข้าถึงการอุดมศึกษาของระบบปิด ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยปิดคนที่เข้าเรียนได้จะเป็นคนชั้นสูงกับชั้นกลาง ชั้นล่างเข้าไม่ได้ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการครองชีพเพียงพอ แปลว่ารัฐใช้เงินภาษีซึ่งเก็บมาจากทุกคนไปสู่คนต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน

 

 

 

 

 

3. ปัญหาประสิทธิภาพ เป็นที่ชัดเจนว่าเราสามารถจะพัฒนาให้ผลผลิตเท่าเดิมในต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมไปถึงปัญหาด้านคุณภาพ มีการพูดกันมาโดยตลอดว่าผลผลิตของมหาวิทยาลัยของไทย คิดไม่เป็น ทักษะพื้นฐานยังใช้การไม่ได้ และมีหลายเรื่องต้องพัฒนา

 

 

 

 

 

4.ปัญหาการกระจายตัวของการแบกรับค่าใช้จ่าย เราใช้การอุดหนุนโดยเงินภาษี (Tax Financing) เป็นหลัก ฉะนั้น เงินภาษีที่เก็บได้ก็ไปอุดหนุนคนที่เข้ามหาวิทยาลัยได้ ซึ่งส่วนใหญ่ฐานะดี หรือปานกลาง คนยากจนจริงๆ ไม่ได้เข้า

 

 

 

 

 

5. ปัญหาการผลิตกำลังคนไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม เราผลิตบัณฑิตในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มากเกินไป  และผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์น้อยเกินไป

 

 

 

 

 

"การผลิตคนไม่ได้ตามความต้องการของสังคมเป็นปัญหาใหญ่ของภาคการศึกษาของไทย ถ้าไม่แก้ตรงนี้จะทำให้พัฒนาการของเศรษฐกิจและสังคมบิดเบือนไป และถูกกำหนดโดยโครงสร้างการเรียนการสอน" ดร.สมชัยกล่าว

 

 

 

 

 

"ปฏิรูป" ต้องทำอะไรบ้าง ?

 

 

 

 

 

ดร.สมชัยได้แยกแยะสิ่งที่จะต้องทำเพื่อการปฏิรูประบบการเงินภาคอุดมศึกษาดังนี้

 

 

 

 

 

1. เปลี่ยนระบบการสนองทุน จากที่เคยเน้นการอุดหนุนสถาบันการศึกษา มาเป็นการอุดหนุนผู้เรียน เป็นหลัก

 

 

 

 

 

"ผลมันดูเหมือนว่าจะเท่ากัน แต่ความจริงแล้วผลที่จะเกิดกับระบบมันต่างกันเยอะ เมื่อผ่านผู้เรียน  นักศึกษาสามารถมีความสำคัญขึ้นมา หรือที่เรียกว่านักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student center) เพราะว่าครูและโรงเรียนต้องเอาใจใส่นักเรียน ถ้าไม่เอาใจใส่นักเรียนก็มีสิทธิเลือก จะเกิดการแข่งขันที่แท้จริง"

 

 

 

 

 

2. ลดการให้การอุดหนุนโดยภาษีอากร แล้วให้สถาบันการศึกษาหารายได้จากค่าธรรมเนียมเอง  (Fee Financing) เพื่อให้ระบบการศึกษามีความยุติธรรมและมีทรัพยากรมากขึ้น โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยของรัฐบาลใช้ Fee Financing เพียง 20%

 

 

 

 

 

3. เปลี่ยนบทบาทของรัฐในการจัดการอุดมศึกษา จากบทบาทนำที่เป็นผู้จัดเองเป็นส่วนใหญ่ มาเป็นบทบาทหลักในการเป็นกำหนดนโยบายและควบคุมคุณภาพ (Policy Maker, Regulator, Standard Setter) คือให้คนอื่นๆ จัดการ แต่รัฐไปคุมทิศทาง ไม่ใช่ปล่อยให้ใครอยากจัดอะไรก็จัด หรือไม่ปล่อยให้มีการกำหนดค่าเรียนอย่างเสรี (Free charge)

 

 

 

 

 

4. จัดให้มีกองทุน กรอ.เพื่อให้นักศึกษาสามารถร่วมส่วนในค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาได้มากขึ้น โดยไม่เดือดร้อน

 

 

 

 

 

5. รัฐเป็นคนจัดงบประมาณเพื่อการอุดมศึกษาในจำนวนที่ไม่น้อยกว่าเดิมตามหลัก Expenditure Neutrality โดยรัฐไม่ได้ลดความรับผิดชอบทางการเงินเพื่อการอุดมศึกษา แต่ใช้เงินเพื่อให้ได้ประโยชน์มากขึ้น

 

 

 

 

 

6. ต้องปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณของรัฐเพื่อการอุดมศึกษา จากการให้งบประมาณเพื่อการจัดการศึกษาเป็นหลัก มาเป็นการใช้เงินเพื่อสนับสนุนนักศึกษาเป็นหลัก (Demand Side Financing) และใช้เงินผ่านสถานบันอุดมศึกษา (Supply Side)น้อยลง เพื่อเป็นการแทรกแซงการทำงานของกลไกตลาด

 

 

 

 

 

ดร.สมชัย อธิบายรายละเอียดของเงินที่รัฐบาลจะอุดหนุนการศึกษาแบบผ่าน Supply Side และ Demand Side ดังนี้

 

 

 

 

 

งบประมาณที่ผ่าน Demand Side คิดเป็น 70-80%

 

 

1. อุดหนุนนักศึกษาทุกคนเพื่อจ่ายเป็นค่าเล่าเรียน เป็นเงินให้เปล่าประมาณครึ่งหนึ่งของค่าเล่าเรียน คือ หากมหาวิทยาลัยคิด 100,000 รัฐบาลให้การอุดหนุน 50,000 ทั้งนักเรียนที่เรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยของรัฐ ให้เปล่าไม่ต้องชำระคืน เพื่อลดภาระของนักเรียน

 

 

 

 

 

2. เงินทุนจากงบประมาณที่สำนักงบประมาณส่งให้ กรอ. เพื่อให้นักศึกษากู้ไปจ่ายค่าเล่าเรียนอีกครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่ให้เปล่า แต่หากผู้มีความสามารถในการจ่ายจะไม่กู้ก็ย่อมได้

 

 

 

 

 

3. เงินค่าดอกเบี้ยที่กรอ.กู้มา หมายความว่า กรอ. จะมีแหล่งเงินกู้มาจาก 2 แหล่ง ส่วนแรกมากจากงบประมาณ อีกส่วนหนึ่งคือกู้จากธนาคาร กู้ด้วยการออกพันธบัตร ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ย โดยค่าดอกเบี้ยนี้รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณให้ ไม่เก็บจากนักเรียน

 

 

 

 

 

4. เงินชดเชยหนี้เสียของกรอ. เนื่องจากบางคนจบไปแล้วอาจหางานไม่ได้หรือตาย หรือไม่ยอมจ่ายคืนซึ่งอาจจะมีบ้าง รัฐบาลต้องตั้งเงินชดเชยหนี้เสีย

 

 

 

 

 

5.ส่วนลดสำหรับคนที่ไม่กู้ กรอ.

 

 

 

 

 

6. เงินกองทุนค่าครองชีพสำหรับนักศึกษายากจน อันนี้จะเป็นกองทุนต่างหาก

 

 

 

 

 

งบประมาณที่ผ่าน Supply Side ที่ลดลงเหลือประมาณ 20-30%

 

 

1.รัฐบาลยังคงต้องรับภาระบางส่วน เช่น อะไรที่กลไกตลาดหรือเอกชนไม่ทำ เพราะไม่เห็นกำไรชัดเจน เช่น สถานศึกษาสำหรับคนพิการ หรือสถาบันสร้างความเป็นเลิศทางด้านกีฬา รัฐบาลต้องเป็นผู้จัดบริการ

 

 

 

 

 

นอกจากนั้น รัฐบาลอาจจะให้เงินอุดหนุนเป็นโครงการๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาในหลายๆ ด้าน เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โครงการเพื่อพัฒนาครูอาจารย์ โครงการพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานด้านการศึกษา โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โครงการพัฒนาการวิจัยในสถานบันอุดมศึกษา

 

 

 

 

 

"บางคนอาจคิดว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอาเงินมาผ่านตรงนี้เยอะๆ ก็ยังรักษาความเป็น Supply Side อยู่ อย่างนั้น ไม่ใช่ อันนี้ยังต้องคำนึงว่าจุดเน้นของการปฏิรูปอยู่ที่ Demand Side การพัฒนาในโครงการต่างๆ เหล่านั้นโดยส่วนใหญ่ต้องผ่านทาง Demand Side มหาวิทยาลัยต้องไปคิดเอง ทำให้มีอิสระในการกำหนดว่าจะเน้นการสร้างตึกหรือพัฒนาครู เอาค่าบำรุงการศึกษาไปใช้ได้หมด แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อน และรัฐบาลต้องการเสริม ก็จะเลือกเป็นเฉพาะกรณี จะเลือกเป็นโครงการเป็นการเสริมเป็นจุดๆ ไป" ดร.สมชัยกล่าว

 

 

 

 

 

2. จัดให้มีกลไกในการจัดการที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้เครื่องมือทั้งด้าน Demand Side และ Supply Side

 

 

 

 

 

"เวลานี้กำลังผลิตของภาคการศึกษา เราไปผลิตบัณฑิตด้านวิชาที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือ คือ วิชาที่บรรยายเสียเยอะ และเมื่อเราต้องการหันเหการผลิตที่สามารถผลิตวิศวะ แพทย์ วิทยาศาสตร์ ได้เยอะ การเปลี่ยนไปอุดหนุนผู้เรียนแทนสถาบันการศึกษา มันเอื้อให้เกิดแล้ว โดยรัฐบาลอาจใช้เครื่องมือทางการให้ทุนนักเรียนให้เรียนในวิชาที่ตรงความต้องการของสังคม" ดร.สมชัยกล่าว

 

 

 

 

 

3. มีการจัดทุนให้เปล่าสำหรับการครองชีพสำหรับนักเรียนที่ยากจน

 

 

 

 

 

4. ปล่อยให้ค่าเล่าเรียนลอยตัวอย่างมีการกำกับ (Manage float) โดยใช้หลักการคุ้มทุน (Cost Recovery) คือมหาวิทยาลัยต้องคิดค่าเรียนโดยรวมทั้งค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งค่าดำเนินการ และค่าใช้จ่ายประเภททุน แล้วนักเรียนเสียเต็มราคา โดยรัฐบาลออกให้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งถ้าสามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายเอง หรือกู้ กรอ. 

 

 

 

 

 

"ระบบทั้งหมดจะเป็นอย่างนี้ในระยะยาว มหาวิทยาลัยก็จะมีค่าเล่าเรียนสูงขึ้นเยอะ เพราะต้นทุนเขาสูง แต่เราก็จะไม่ปล่อยให้การขึ้นค่าเล่าเรียนนี้เสรีไปเสียทีเดียว ยังขึ้นภายใต้การกำกับดูแล บทบาทของรัฐยังมีอยู่" ดร.สมชัยระบุ

 

 

 

 

 

5. จัดให้ภาคธุรกิจเอกชนร่วมส่วนในการสนองทุนเพื่อการอุดมศึกษาในหลากหลายวิธี รวมทั้งการให้ทุนวิจัย ก็คือ บทบาทของบริษัทห้างร้าน โรงงานต่างๆ ที่ใช้บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการจัดการศึกษา

 

 

 

 

 

6. ปฏิบัติต่อสถานศึกษาเอกชนอย่างเท่าเทียมกันกับสถานศึกษาของรัฐในแง่การอุดหนุนนักศึกษา (Demand Side)

 

 

 

 

 

"ข้อนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะในการให้ทุนกับนักศึกษา การภาษีอากร และกฎระเบียบต่างๆ อันนี้หลายคนยังมีข้อกังขา  หลักคิดของมันก็คือ รัฐต้องการคุณภาพของผลผลิต รัฐซื้อบริการ คือ ซื้อความเป็นบัณฑิต ส่วนใครจะเป็นผู้ผลิตไม่สำคัญ รัฐต้องการผู้ผลิตที่ผลิตได้คุณภาพดี จะซื้อจากเอกชนหรือของรัฐก็ต้องซื้อในราคาเดียวกันในคุณภาพของที่เท่ากัน" ดร.สมชัยกล่าว

 

 

 

 

 

7. เปลี่ยนสำนักงาน กยศ. เป็นสำนักงานบริหารเงินทุนด้าน Demand Side ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย กองทุนอุดหนุนนักศึกษาอุดมศึกษา (กอนอ.) ที่ให้เปล่าในการออกค่าเรียนให้นักศึกษาครึ่งหนึ่ง  กองทุน กรอ. กองทุนให้เปล่าเพื่อค่าใช้จ่ายในการครองชีพของนักศึกษายากจน และ กองทุนให้เปล่าแบบอื่นๆ เช่น กองทุนเรียนดี เป็นต้น  เหล่านี้จะบริหารโดย กยศ. ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อไปเพราะมีภารกิจมากขึ้น

 

 

 

 

 

8. ยกเลิกกองทุน กยศ.เดิม ซึ่งเป็นผลทำให้นักเรียน ม.ปลาย ซึ่งปัจจุบันสามารกู้จาก กยศ. จะกู้จาก กรอ. ไม่ได้ จึงควรมีกองทุนค่าครองชีพของนักเรียนม.ปลายเข้ามาทดแทน

 

 

 

 

 

บทบาทและหน้าที่ของแต่ละกองทุน

 

 

 

 

 

กองทุนอุดหนุนนักศึกษาอุดมศึกษา (กอนอ.) หรือ Higher Education Student Assistance (HESA) เป็นกองทุนที่ได้รับงบประมาณเพื่ออุดหนุนนักศึกษาอุดมศึกษาทุกคน คือเอางบประมาณไปให้ทุนกับนักเรียนมาชำระค่าเล่าเรียนประมาณครึ่งหนึ่งของค่าเล่าเรียน ครึ่งในที่นี้หมายถึงเชิง macro คือดูโดยรวมทั้งประเทศไทย ถ้านักเรียนต้องจ่ายค่าเรียนทั้งเอกชนและรัฐประมาณ 100,000 ล้าน กองทุนนี้ก็มีประมาณ 50,000 ล้าน

 

 

 

 

 

"ส่วนว่าอุดหนุนใครเท่าไร นักเรียนวิศวะอาจจะให้ 50% นักเรียนโบราณอาจจะให้ 80% เพราะกลัวไม่มีคนเรียนโบราณคดี สังคมศาสตร์มีคนเรียนเยอะเกินไปอาจจะให้ 40% ก็เป็นเครื่องมือที่จะบริหารจัดการได้" ดร.สมชัยกล่าว

 

 

 

 

 

กองทุนไอซีแอล หรือกรอ. ถือเป็นกองทุนที่เป็นพระเอก โดยจะให้ทุนกับนักเรียนที่เรียนได้ ซึ่งนักศึกษาไม่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยของเงินกู้ ที่กรอ.ไปกู้มา เพราะรัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยให้ ส่วนการชำระคืนจะเริ่มเมื่อรายได้สูงถึงระดับหนึ่ง และชำระคืนสูงขึ้น ถ้ารายได้สูงขึ้น แต่หยุดชำระเมื่อมีรายได้ต่ำกว่าระดับ หรือไม่มีรายได้ชั่วคราว

 

 

 

 

 

ขณะที่ผู้ไม่กู้ได้รับส่วนลดค่าเล่าเรียนทั้งในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน โดยรัฐอาจอุดหนุนค่าส่วนลดให้ หรือถ้าคนที่กู้ชำระคืนก่อนกำหนดหรือชำระคืนในอัตราที่สูงกว่ากำหนดก็จะได้ส่วนลดด้วย โดยจะเท่ากับอัตราค่าดอกเบี้ยที่รัฐไม่ต้องจ่ายเพราะมีคนชำระคืนแล้ว ส่วนคนที่ตาย ทุพพลภาพ รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ต้องชำระคืน โดยขณะนี้กรมสรรพากรรับจะจัดการเรื่องการรับชำระคืน และการบังคับใช้กติการในการชำระคืน

 

 

 

 

 

กองทุนกรอ.นี้ จะให้กยศ.บริหาร และเงินที่มาจะมากจากเงินงบประมาณ อีกส่วนมากจากเงินกู้จากตลาดการเงิน โดยการออกพันธบัตร และรัฐชำระดอกเบี้ยแทน รวมถึงการชดเชยเงินต้นที่สูญเสีย

 

 

 

 

 

กองทุนเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพสำหรับนักเรียนที่ยากจน เป็นกองทุนให้เปล่าเพื่อการครองชีพระหว่างเรียน ซึ่งให้นักศึกษายากจนเท่านั้น โดยต้องมี Mean Test และมีเงื่อนไข  นอกจากนี้ยังมีการทำงานของนักศึกษาระหว่างเรียน และการสนับสนุนขององค์กรศาสนา และองค์กรการกุศลอื่นๆ เช่น จูงใจให้มีการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อให้การศึกษาให้มากขึ้น

 

 

 

 

 

สำหรับสถานภาพของอาจารย์ในสถาบันการอุดมศึกษานั้น เพื่อให้อาจารย์ยังเป็นข้าราชการ และดำรงสถานะของการเป็นข้าราชการต่อไป จะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การรับเงินเดือนจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ถือเป็นการรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท