Skip to main content
sharethis

พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดูเหมือนจะเป็นตัวละครหลักบนพื้นที่สื่อในบ้านเราในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และทำท่าจะซบซาไปภายหลังการระเบิดลอนดอนรอบที่ 2 ...เป็นการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาทอย่างธรรมดาสามัญของสังคมการสื่อสาร....


 


อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้กำลังทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย....ภาพของนักกฎหมายและนักวิชาการดาหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์พ.ร.ก. ฉบับนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยยึดถือและอธิบายด้วยหลักกฎหมายและหลักการไม่คุ้นหู ไม่ว่าจะเป็นหลักนิติรัฐ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมๆ กับการโต้ตอบจากผู้รักชาติซึ่งอ้างอิงถึงความมั่นคงของชาติ ความไม่ปลอดภัย โจรใต้ และความเด็ดขาด


 


การประดาบระหว่างวาทกรรม 2 ขั้ว....ชาติ ความมั่นคง กับ สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ เป็นเหมือนละครซ้ำซากในสังคม แต่มันก็จะยังดำเนินต่อไปในสังคมนี้ (เหมือน ๆ กับอีกหลาย ๆ คู่ตรงข้าม ที่ต่างทำหน้าที่ของตนเองไปอย่างซื่อสัตย์)


 


.............................................................................................................................


 


น.พ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี กล่าวซ้ำๆ ในเกือบทุก ๆ เวทีว่า "ผมพูดในฐานะผู้รักชาติ และประณามความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากโจรใต้ หรือความรุนแรงจากการกระทำละเมิดโดยรัฐ"


 


เขาอาจเรียนรู้ที่จะพูดประโยคนี้ ภายหลังถูกกล่าวหามาซ้ำแล้วซ้ำแล้วว่าเป็นส.ว. ฟากที่พยายามปกป้องสิทธิมนุษยโจร ไม่เห็นใจผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อโจร


 


อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะเรียนรู้ที่จะ "เคลียร์" ประเด็นที่อาจเข้าใจไม่ตรงกันก่อนหน้าการแสดงความเห็นและจุดยืนทางการเมืองทุกครั้ง....ผลตอบรับยังเป็นเช่นเดิม


 


เขาก็ยังถูกอธิบายว่า เป็นส.ว. ที่ปกป้องโจรใต้อยู่เช่นเดิม....นี่คือตัวอย่าง


 


.........................................................................................................................


 


ผมเห็นผลการสำรวจความเห็นของประชาชนแล้วไม่แปลกใจ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบโครงสร้างของอำนาจในการตรากฎหมายในระบบกฎหมายของเรา แต่เศร้าใจที่หลายคนที่มีความรู้กลับประณามคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลว่าไม่รักชาติบ้านเมือง


 


จนถึงวันนี้ความร้าวฉานในบ้านเมืองอาจจะมากมีมากขึ้น ผมไม่อยากให้สัมภาษณ์ตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเพราะไม่เกิดประโยชน์แต่อยากให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องนี้มากกว่า เพราะถ้าประชาชนมีความรู้


ผู้มีอำนาจจะไม่กล้ากระทำการในลักษณะเช่นนี้


 


เป็นคำอธิบายจาก ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ภาควิชากฎหมายมหาชน  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์....เขาก็คงเรียนรู้มาไม่ต่างจากส.ว. คนข้างบน


 


อย่างไรก็ตาม การกล่าวในลักษณะเช่นนี้ ก็อาจถูกอธิบายว่า เป็นความคิดเห็นที่ดูถูกสติปัญญาของสังคมไทยได้ไม่ต่างไปจากตัวอย่างก่อนหน้า


 


.....................................................................................................


 


ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเสนอความเห็นและเขียนบทความว่าด้วยการแยก "ปัญญาชน" ออกจาก "สาธารณะ" ว่ารัฐบาลทักษิณนั้น มีความสามารถอันแยบคายในการทำให้นักวิชาการทั้งหลายกลาย "เป็นอื่น" ไปโดยการทำให้เป็นตัวตลกบ้าง หรือทำลายความน่าเชื่อถือส่วนตัวบ้าง นี่เป็นวิธีที่แยบคายกว่าการจับไปขังคุกยิ่งนัก


 


และอาจจะเป็นการอหังการเกินไปที่จะสรุปว่า บัดนี้กระบวนการแยกปัญญาชนออกจากสาธารณะได้ประสบผลสัมฤทธิ์แล้ว


 


เพราะความหมายของ "ปัญญาชน" ก็ดูจะพร่าเลือนไปในสังคมไทย คนไทยมีคนจบปริญญาตรีเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด จะไม่เรียกคนจบปริญญาตรีว่าเป็นปัญญาชนได้อย่างไร ใครบังอาจถือดีมาจำกัดความคำว่าปัญญาชน


 


............................................................................................................


 


ในทางหนึ่ง สังคมไทยดูเหมือนจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในอีกทางความกว้างขวางนั้นก็เวิ้งว้างยิ่งนัก


 


"คอนเซ็ปท์" ของ "คำ" ที่คนไทยใช้ร่วมกันช่างเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น "ชาติ" "ความรักชาติ" "สิทธิ" "เสรีภาพ" "สิทธิมนุษยชน ฯลฯ


 


มองอย่างมีความหวังถึงที่สุด นี่อาจเป็นอาการของสังคมประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ......ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการตีความทุกสิ่งอย่างอิสระ แม้แต่คำว่า "ประชาธิปไตย" เองก็ตาม


 


แต่ที่สุดแล้ว ก็ยังเหลือคำถาม....อะไรที่ทำให้สังคมไทยเข้าใจไม่เท่ากัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net