Skip to main content
sharethis

มารค ตามไท


กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)


กรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)


นักวิชาการด้านสันติวิธี


 


 


คิดว่าเนื้อหาในรายการสนทนาพิเศษเรื่อง "การสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" ระหว่างนายกฯ กับคุณอานันท์ ตรงตามเป้าหมายของกอส.หรือไม่


 


มันกำลังเข้าสู่เป้า แต่เวลาจำกัดมาก ไม่ได้เริ่มตรงเป้าแต่ไปเริ่มทั่วๆ ไป เริ่มจะเข้าบ้างตอนท้าย แต่หมดเวลาก่อนเลยไม่ได้รายละเอียด


 


สำหรับผมโดยส่วนตัว ประเด็นที่สำคัญที่สุดต้องชี้ให้เห็นคือ พ.ร.ก.นี้ มันใช้การได้โดยยังเดินแนวทางสมานฉันท์หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง


 


ทีนี้มันมีข้อห่วงใยอยู่ 2 อย่าง คือ ต้องชี้ให้เห็นว่า พ.ร.ก.นั้นไม่ใช่ประเด็นเรื่องละเมิดเสรีภาพอะไรหรือเปล่า แต่ประเด็นที่กำลังห่วงเฉพาะหน้าก็คือ มันมีประสิทธิภาพพอที่จะลดความรุนแรงหรือไม่ เพราะอย่างที่คุณอานันท์พูดในรายการและนายกฯ ทักษิณก็ยอมรับด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัตินอกลู่นอกทางอยู่


 


มันมีหลักประกันอะไรบ้างว่าเมื่ออำนาจเพิ่มภายใต้ พ.ร.ก.นี้ จะควบคุมเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ซึ่งก็ยังอยู่ในพื้นที่ได้ อันนี้เป็นสิ่งซึ่งนึกว่าจะได้ยิน แต่ว่ามันไม่ถึงว่าในรายละเอียดจริงๆ จะคุมอย่างไร


 


อันที่สอง เงื่อนไขที่จะทำให้ พ.ร.ก.ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ การข่าวต้องดีพอ เพราะว่าจะใช้อำนาจทางกฎหมายไปจับ นายกฯ บอกมีชื่ออยู่ 200 คน คำตอบที่จะต้องตอบก็คือ ในอดีตการข่าวไม่ดี ทำไมตอนนี้จะดีขึ้น 


 


ถ้าไม่ตอบสองอันนี้มันจะเจอปัญหาอย่างที่นายกฯ ทักษิณอธิบายเองว่า จริงๆ พ.ร.ก.ประกาศทีละ 3 เดือน แล้วมาพิจารณาว่าจะต่อหรือเปล่า ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็จะต่ออีก ทีนี้ถ้าตัวการใช้พ.ร.ก.เองเป็นตัวทำให้สถานการณ์เลวลง ฉะนั้น ทุก 3 เดือนมันก็ยิ่งเลวลง มันก็ยิ่งต้องต่อ กลายเป็นตัวสร้างปัญหาให้ตัวเอง ทราบได้อย่างไรว่ามันจะไม่เข้าวัฏจักรอันนั้น


 


มาตรา 14 ข้อที่รัฐบาลรับในหลักการ และนายกฯ ยืนยันในรายการว่าบางส่วนต้องมีการทบทวนว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ เช่นเรื่องอาวุธปืน  มีความคิดเห็นอย่างไร


 


บางครั้งเวลาเสนอมาตรการ มาตรการต่างๆ มันไม่ได้เป็นอิสระจากกัน มันเป็นชุด ไปเลือกไม่ได้ เพราะบางอันไปสนับสนุนอันอื่น มันไม่ใช่ชอบข้อ 1,7,5,9,11 อย่างนี้ พอไม่รับบางอัน อันอื่นก็เลยใช้ไม่ได้ผล ในรายการไม่ได้พูดถึงมาตรการเท่าไร พูดเพียงนิดหน่อย


 


แต่มีข้อบางข้อที่สำคัญมาก เช่น ข้อที่บอกว่าการคิดวิธีแก้ปัญหา ลดความรุนแรง กรรมการของรัฐต้องเอาคนในพื้นที่มาเป็นกรรมการร่วมกัน ข้อนั้นมันเกือบจะเป็นหัวใจของข้ออื่น เพราะว่าทำอย่างนั้นข้ออื่นก็จะตามมาจากกรรมการชุดนี้เองด้วย


 


เราพูดกันมาตลอดเวลาว่า คนในพื้นที่ขาดความไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ ในรายการก็พูดบ่อย และต้องสร้างความไว้วางใจนี้ให้กลับคืนมา แต่จริงๆ มันมีความไว้วางใจอีกทางที่ก็สำคัญด้วย คือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ไว้วางใจคนในพื้นที่


 


สมมติว่าเชื่ออย่างที่นายกฯ ทักษิณบอกว่า 90% ของประชาชนเป็นคนดี 10% เป็นผู้ก่อเรื่อง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้ว่า 10% นั้นคือใคร แล้วมองทุกคนว่าอาจเป็น 10% ก็เลยระแวงหมด พอระแวงหมดก็ไม่พร้อมจะชวนมาร่วมคิดแก้ปัญหา อันนั้นจึงเป็นหัวใจข้อหนึ่งใน 14 ข้อที่เราเสนอ ถ้าฝ่ายรัฐไม่ไว้ใจคนในพื้นพอที่จะมาคิดร่วมกัน มันก็เดินต่อไม่ได้


 


มีความหวังในการแก้ปัญหาเพียงไร และจุดไหนยังเป็นปัญหาสำคัญ


 


สำหรับผมเป็นคนซึ่งก็ต้องทำต่อเรื่อยๆ ฉะนั้น พอวันนี้เข้าไม่ถึงข้อที่ผมว่า ก็น่าจะเอาอีกครั้ง ต้องหาเวทีอีกครั้ง รัฐบาลต้องสร้างความสบายใจใน 2 ประเด็นที่ผมกล่าวไป ให้สังคม ไม่ใช่เฉพาะกอส. คนในพื้นที่ด้วย ต้องอธิบายได้ว่าจะคุมได้อย่างไรกับคนที่ก่อนนี้คุมไม่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้เขาจะอำนาจมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นส่วนน้อยก็ตาม กับอีกอันการข่าวจะดีขึ้นได้อย่างไร เพราะการข่าวเป็นตัวนำใต้พ.ร.ก.นี้ ไม่อย่างนั้นก็จับคนผิดๆ เรื่องก็จะบานปลาย ควรจะถามอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net