Skip to main content
sharethis

ในบริบทการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548



25 กรกฎาคม 2548

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อหาลู่ทางลดปัญหาความรุนแรงที่ลุกลามร้ายแรงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2548 เป็นต้นมา ในระยะเวลาสี่เดือนนับแต่คณะกรรมการฯ เริ่มทำงานมา ได้พบปะผู้คนทั้งฝ่ายประชาชนและราชการ ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมที่ได้รับความทุกข์ เพราะความรุนแรงที่ดำเนินต่อเนื่องเหมือนไม่รู้จบ จนที่สุดรัฐบาลได้ตัดสินใจออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ให้รัฐมีอำนาจพิเศษใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้



กอส. ขอประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมไทยทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าความรุนแรงเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเพราะน้ำมือของฝ่ายใด ทั้งที่เป็นผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่และฝ่ายรัฐ



ที่ผ่านมา กอส. ยืนหยัดในหลักการสมานฉันท์เพื่อระงับความรุนแรงมาโดยตลอด โดยมีหลักสำคัญหลายประการอันประกอบด้วย การเปิดเผยความจริง การสร้างความยุติธรรม ความพร้อมรับผิด และการใช้สันติวิธี เป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ได้เสนอแนะให้รัฐบาลมุ่งสร้างความเป็นธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษ อันจะเป็นการฟื้นคืนความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐและสังคมไทยซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของสันติภาพและความมั่นคงของประเทศ



การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นการชี้ให้เห็นว่า กรอบความคิดของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายังเป็นไปในกรอบเดิม ซึ่งไม่เพียงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ยังอาจก่อเงื่อนไขให้ความรุนแรงลุกลามขยายตัวจนยากจะเยียวยาได้ในอนาคต



กอส.เห็นว่า การตัดสินใจเช่นนี้ของรัฐบาลส่งผลให้การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น โอกาสในการทำงานเพื่อผลักดันแนวทางสันติวิธีลดน้อยถอยลง จึงเหมาะสมแล้วที่รัฐบาลลดการใช้ประกาศเพื่อประกอบพระราชกำหนดดังกล่าวเพื่อตัดทอนเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรงลงบ้าง เช่นที่ปรากฏจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา



กอส. ขอถือโอกาสนี้เสนอแนะมาตรการรูปธรรมบางประการที่คาดว่าจะมีผลลดความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ลงได้บ้าง โดยมีเกณฑ์การนำเสนอ 3 ประการคือ



• เป็นมาตรการที่อยู่ในกรอบความคิดสมานฉันท์ และมีผลเพิ่มพูนพลังสมานฉันท์และสันติวิธีในสังคมไทย
• เป็นมาตรการที่มุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ทั้งที่เป็นสามัญชนและข้าราชการ ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม
• เป็นมาตรการรูปธรรมที่ภาครัฐปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจภาครัฐมากกว่าที่มีอยู่ตามปรกติ


มาตรการรูปธรรมเหล่านี้แบ่งได้เป็น 5 ด้านคือ



ด้านหลักรัฐประศาสโนบาย



1. อาศัยพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เคยทรงกำหนดไว้สำหรับมณฑลปัตตานีเป็นการเฉพาะเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2466 เป็นแนวทางกำกับการปฏิบัติราชการแผ่นดินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับทุกข์สุขของราษฎรส่วนใหญ่ผู้มีวัฒนธรรมแตกต่างออกไป ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยข้าราชการที่มี "นิสัยสัตย์ซื่อ สุจริต สงบเสงี่ยมเยือกเย็น" ไม่เบียดเบียนราษฎร ไม่ทำการใดให้ประชาชนในท้องที่เห็นว่าพวกเขาถูกกดขี่ ไม่มีสุขเปรียบเทียบกับผู้อื่นในบ้านเมืองอื่นได้



ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการย้ายคนดี คนสุจริต และรู้ปัญหาออกจากพื้นที่ ในขณะเดียวกันกลับส่งเสริมและสนับสนุนข้าราชการที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ไม่ให้เกียรติและรังแกผู้คน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สวนทางกับหลักรัฐประศาสโนบายของล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ 6 โดยตรง



ด้านมาตรการจัดการระบบยุติธรรมระดับชาติ



2. จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม มีหน้าที่ตรวจสอบคดีความและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ต้องหา เสริมความไว้วางใจของสาธารณชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ผ่านหลักประกันการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมาย



3. เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามมาตรา 11 (1) ของพระราชกำหนดฯ ได้พบกับทนายของตนและได้รับความช่วยเหลือแนะนำจากทนายภายในเวลา 48 ชั่วโมง เพื่อธำรงรักษากระบวนการยุติธรรมไทยไว้ให้ได้ท่ามกลางสถานการณ์รุนแรง



4. นำกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสืบสวน สอบสวน ตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการดำเนินคดีของรัฐ สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมให้เกิดกับประชาชนทุกหมู่เหล่า



ด้านมาตรการลดความรุนแรงในพื้นที่โดยตรง



5. ในคณะกรรมการของรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่กำหนดมาตรการลดความรุนแรงเฉพาะหน้า ให้ผู้แทนของผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนาทั้งอิสลามและพุทธเข้าร่วมเป็นกรรมการร่วมกำหนดนโยบายและทิศทาง เพื่อให้ฝ่ายรัฐได้รับความรู้ที่จำเป็นว่าผู้คนในท้องถิ่นคิดเห็นอย่างไร อีกทั้งยังจะได้เป็นสื่อกลางระหว่างผู้บังคับใช้พระราชกำหนดฯ และประชาชนด้วย



6. ให้ถือว่าปืนทุกชนิดเป็นอาวุธผิดกฎหมายในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ให้อยู่ในครอบครองของของสาธารณชน เว้นแต่จะอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายคือทหารและตำรวจของรัฐเท่านั้น อันน่าจะลดความรุนแรงในพื้นที่ได้บ้าง อีกทั้งยังจะทำให้อาวุธอยู่แต่เฉพาะในมือของผู้ที่ต้องใช้อาวุธในกำกับของความรับผิดชอบตามกฎหมายเท่านั้น

7. ให้มีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดในที่สาธารณะให้ทั่วเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 3 จังหวัด เพื่อให้ได้หลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ก่อภัยร้ายแรงเอาชีวิตผู้บริสุทธิ์ในขณะนี้



8. จัดระบบแบ่งเขตพื้นที่ (zoning) ให้แหล่งอบายมุขอยู่ห่างจากเขตชุมชน ศาสนสถาน สถาน

ศึกษา และแหล่งหย่อนใจของเยาวชน เพราะแหล่งอบายมุขเหล่านี้กลายเป็นเป้าของความรุนแรงตลอดมา โดยควรเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนสำคัญในการกำหนดเขตดังกล่าวร่วมกับภาครัฐ


มาตรการระดับชุมชน



9. จัดกลุ่มชุมชนแถลงข่าวในพื้นที่แสดงความจริงและการรับรู้ของชุมชนให้ประจักษ์ในกรณีที่เกิดความรุนแรงขึ้น โดยอาศัยสถาบันธรรมชาติเป็นเวทีเช่น ร้านน้ำชาประจำหมู่บ้านเพื่อลดภัยที่เกิดจากข่าวลือ



10. จัดตั้งชุดคุ้มครองหมู่บ้านเป็นหน่วยรากแก้ว ประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดนเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหน่วยงานรัฐระดับพื้นที่ เป็นชุดพัฒนาออกพบปะเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ลาดตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ ระหว่างรัฐกับประชาชนซึ่งจะส่งผลต่องานการข่าว การรักษาความสงบเรียบร้อย และลดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน



11. จัดให้มีคณะกรรมการสันติสุขชุมชนอันประกอบด้วย ผู้นำชุมชนเช่น อิหม่ามประจำมัสยิด โต๊ะครู กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต./สมาชิก อบต. ปลัดประจำตำบล/ครู/เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบล ตลอดจนทหารและตำรวจ



12. ให้ความสำคัญกับนักศึกษา ในการรณรงค์เผยแพร่แนวคิดสันติวิธี พยายามส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่พวกเขาโดยปราศจาการบีบบังคับคุกคาม พึงหลีกเลี่ยงการปฏิบัตินักศึกษาในทางลบ คือไม่เข้าสอบสวน จับกุมนักศึกษาในสถาบันการศึกษาโดยไม่มีคณาจารย์ของสถาบันการศึกษาเหล่านั้นเป็นพยานอยู่ด้วย



มาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับครู



13. ทุกโรงเรียนทั้งที่เป็นโรงเรียนสอนศาสนาและโรงเรียนของรัฐควรมีระบบเตือนภัย ระบบป้องกันภัย เปิดไฟส่องสว่างตลอดเวลากลางคืนและเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย สามารถประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทันทีที่เกิดเหตุร้ายขึ้น



14. เปิดโอกาสให้ครูในพื้นที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่โรงเรียนและครู การตัดสินใจเปิดหรือปิดโรงเรียน หรือการเคลื่อนย้ายเด็กนักเรียน ให้เป็นผลของการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคง ฝ่ายปกครองและโรงเรียน ขอให้ฝ่ายบ้านเมืองเห็นความสำคัญของครู ให้เกียรติครูตามที่สมควร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net