สรุปบันทึกของคณะกรรมการสิทธิฯ กรณีการประเมินการแถลงการปฎิบัติตามพันธกรณีของรัฐบาลไทย ณ กรุงเจนีวา


สรุปบันทึกถ้อยแถลงการณ์

การติดตามการปฏิบัติงานของรัฐบาล การประเมินผลการปฏิบัติตามพันธกรณี

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย

ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘

โดย ศาสตราจารย์เสน่ห์  จามริก  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ

คุณหญิงอัมพร   มีศุข  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ณ ห้อง ๕๐๑ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 



            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Committee) มีหน้าที่ตรวจรายงานของประเทศสมาชิกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)  โดยรัฐบาลไทยได้นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานตามพันธกรณีกติการะหว่างประเทศฉบับดังกล่าวในระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นี้   การตรวจสอบการปฏิบัติงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเชิญผู้แทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วมนำเสนอข้อเท็จจริงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วย โดยคุณหญิงอัมพร  มีศุข  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนนำเสนอรายงานประเมินผลการปฏิบัติตามพันธกรณี ICCPR (รายละเอียดตามเอกสารประกอบข่าวแจกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)[๑]

 

โดยสรุปเนื้อหาสาระการปฏิบัติงานระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ นครเจนีวา ดังนี้

 

            ๑.สหประชาชาติมีคำถามในการปฏิบัติงานตามกติการะหว่างประเทศ ICCPR กับรัฐบาลโดยตรง แต่ก็มีความต้องการทราบข้อเท็จจริงจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม  โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลก็นำเสนอข้อสรุปไปเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา

 

            ๒.เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่อง "สองคนยลตามช่อง" รัฐบาลมองจากการปฏิบัติงาน หน้าที่ แต่ภาคประชาสังคมก็มองจากมุมมองของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพยายามมองมุมที่เที่ยงตรง ความแตกต่างมิใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นการเรียนรู้ในความหลากหลายในสังคม

 

            ๓.การเข้าร่วมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องการเสนอให้เห็นทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นจริง ปัญหาการละเมิดสิทธิอยู่กับสังคมไทยมานาน การประพฤติปฏิบัติบางครั้งก็เป็นเสมือนวัฒนธรรม  การแก้ไขปัญหาที่นำเสนอในแนวทางระยะยาว คือ การสร้างทัศนคติ พฤติกรรม และวัฒนธรรมที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน การนำเสนอรายงานการประเมินการปฏิบัติงานของรัฐในครั้งนี้ จุดใหญ่ๆ คือ การพิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระยะยาว

            การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการฯ มองจากมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น  อยากจะเรียนว่า เราพยายามให้เกิดการมองเห็นรากฐาน หรือสาเหตุของปัญหาอย่างถ่องแท้  โดยเฉพาะนโยบายของรัฐซึ่งใช้ในการดำเนินการในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

            ๔.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานตามกติการะหว่างประเทศ ICCPR  โดยคณะกรรมการเป็นผู้แทนจากรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศฉบับดังกล่าว คณะเดินทางที่ไปมี ๓ กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ ๑ รัฐบาล มี ดร.สรจักรฯ เป็นหัวหน้าคณะ

กลุ่มที่ ๒ ผู้แทนองค์กรประชาสังคม

กลุ่มที่ ๓ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

            ซึ่งการประชุมครั้งที่ ๘๔ นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เชิญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วมในฐานะผู้แลกเปลี่ยนข้อมูล

 

            ๕.รายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานฉบับดังกล่าว เป็นการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยรวมของประเทศไทย โดยได้รับการชื่นชมในลักษณะการจัดเตรียมความพร้อม และการทำงาน ในการทำงานดังกล่าวมีสื่อมวลชนระหว่างประเทศนำเสนอประเด็นต่างๆ มาโดยตลอด อาทิ Asian Center for Human Rights นำเสนอตัวอย่างการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างขององค์กรที่ดีในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความโปร่งใส ทั้งนี้ยังเน้นย้ำประเด็นการอพยพม้งลาวที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าในช่วงนั้นๆ

 

            ๖.การซักถามนอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้วก็ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาคประชาสังคมก่อนที่จะซักถามจากคณะผู้แทนรัฐบาลไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอชื่นชมการปฏิบัติงานของผู้แทนรัฐบาลไทย ที่แสดงความจริงใจ และจริงจังในการตอบข้อถาม ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความชื่นชมว่า (๑) คณะรัฐบาลทำงานเตรียมความพร้อมได้ดี (๒)มีความพยายามการประสานงานของภาคส่วนต่างๆ ในการปฏิบัติงาน นำเสนอรายงาน ทั้งนี้อาจจะมีประเด็นข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ยังไม่สอดคล้องกันบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการสร้างมาตรการตรวจสอบ และ (๓) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ จำนวนมาก

 

            ๗.ข้อสรุปเนื้อหาในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยสรุป คือ

            (๑) ขอให้รัฐบาลเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคประชาชนในการจัดทำรายงานการปฏิบัติงานตามพันธกรณี และกติการะหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และการร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

            (๒) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้พิพากษาศาลยุติธรรม โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอว่า มีการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

            (๓) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่มีความขัดแย้งใดๆ ในการทำงานกับรัฐบาลไทย ทั้งนี้เน้นย้ำเรื่องการร่วมมือในการทำงาน

            (๔) สถานการณ์ปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย หรือบุคคลที่มิใช่พลเมืองของรัฐในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของสถานะบุคคล

 

            ๘.การที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีกับพันธกรณี หรือกติการะหว่างประเทศฉบับต่างๆ ทั้งเรื่องสิทธิเด็ก , สตรี , ชนชาติ และอื่นๆ อยากให้เห็นว่า เราควรสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกันที่เป็นจริงได้อย่างไร อยากให้เกิดกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริง

 

            ๙.เรื่องพระราชกำหนดฯ ภาวะฉุกเฉินฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ถามต่อผู้แทนรัฐบาล ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เห็นว่า ข้อบัญญัติในพระราชกำหนดทั้ง ๑๕ ข้อ ล้วนละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น แต่การปฏิบัติงานเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริงอาจจะต้องหาสมดุลระหว่างปัจเจกบุคคล และส่วนรวม อยากขอร้องให้รัฐบาลสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินการเกี่ยวกับพระราชกำหนดดังกล่าว

 

            ๑๐.ท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีความเข้าใจสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยค่อนข้างมาก และยังเห็นว่า ในบางประเทศก็มีปัญหาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมากกว่าประเทศไทย แต่ประเด็นที่คณะกรรมการฯ เป็นห่วงมากก็คือ สถานการณ์ความรุนแรงของภาคใต้ ทั้งนี้ทางคณะกรรมการฯ จะส่งรายงานสรุป และข้อเสนอต่อการปฏิบัติงานของรัฐบาลไทยภายในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘

 

            ๑๑.การที่มีข่าวว่า "คณะกรรมการฯ ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลไทย" ในการประชุมครั้งนี้มีนายวีรศักดิ์  โควสุรัตน์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมชี้แจงด้วย เท่าที่สังเกตท่าทีแล้วเห็นว่า คณะกรรมการฯ ไม่ได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจน การชี้แจงของผู้แทนทั้งหมดจากประเทศไทย ตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถือว่าทำได้ดี คณะผู้แทนรัฐบาลทำงานโปร่งใส เปิดเผยการทำงาน โดยเน้นเรื่อง "...เราพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวในลักษณะ..." หรือ "...เราขอแสดงความเสียใจ หรือความห่วงใยต่อการสูญเสีย..." นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพร้อมที่เปิดเผย ยอมรับการปฏิบัติงาน และพยายามหาทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

            ๑๒.ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของกติกา ICCPR จำนวน ๑๕๓ ประเทศ

 

            ๑๓. ส่วนการประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ของรัฐบาล  ยังไม่มีความเคยชินในการทำงานเพื่อให้แก้ไขปัญหาจริง เพราะอยู่ในกลไกเดิม มีวัฒนธรรมการทำงานที่ขัดแย้ง ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่กับกลไกการทำงานของรัฐบาลในทุกรูปแบบ การที่มีคณะกรรมการอยากให้ทำหน้าที่ประสานงานมากกว่าการแก้ไขปัญหาโดยคณะกรรมการเอง  ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เสนอแนะลักษณะการทำงานดังกล่าว โดยอยากให้ช่วยกันติดตามการจัดตั้งกลไกดังกล่าว

            ปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนในการทำงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือไม่ อยากให้ถือว่า เจตนารมณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระในการทำงานเรื่องดังกล่าว

            การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฯ ของรัฐบาล ในความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยากให้ทบทวนเรื่องการออกกฎหมายให้รัดกุม รอบคอบ และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากที่สุด การทบทวนโดยเคารพเจตนารมณ์และบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ

 

            ๑๔.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีจำนวน ๑๘ คนที่มาจากประเทศสมาชิกของรัฐภาคีตามกติกาดังกล่าว ซึ่งโดยทั่วไปประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๕๓ ประเทศ ต้องส่งรายงานการปฏิบัติงานตามกติกาดังกล่าว และมีการนำเสนอ หรือให้ข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้กติการะหว่างประเทศ หรือพันธกรณีต่างๆ มี ๗ ฉบับ แต่ที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีมีทั้งหมด ๕ ฉบับ

 

            ๑๕.ส่วนการเปรียบเทียบกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นๆ ที่เป็นรัฐภาคี อาจจะต้องพิจารณาที่รายงานของแต่ละประเทศ

 

            ๑๖.การสัมมนา "สิทธิมนุษยชน" ของรัฐบาล วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคงนำเสนอความคิดเห็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะประเด็นด้านฐานทรัพยากร  ส่วนการทำงานเรื่องกลไก หรือคณะกรรมการอิสระต่างๆ ก็เป็นการพยายามประสานงานการทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมานายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประสาน งานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

            ๑๗.ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อกรณีต่างๆ ที่ใหญ่ๆ ได้ส่งให้รัฐบาลไทยมีประมาณ ๑๐ เรื่องต่อปี โดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตอบรับในลักษณะเดียวกับข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากการดำเนินการที่ซับซ้อน และต้องการหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมหารือจำนวนมาก  ทั้งนี้กรณีที่รัฐบาลไม่ตอบสนองต่อข้อเสนอ หรือไม่ดำเนินการใดๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เสนอต่อรัฐสภา และภาคประชาชน โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาจจะยังไม่ได้ส่งไปถึงรัฐสภามากนัก ตัวอย่างกรณีที่ส่งให้รัฐสภามีทั้งท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และการสร้างโรงไฟฟ้าที่บ่อนอก - หินกรูด

            รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินอกจากการปฏิบัติงานตามขั้นตอนแล้ว ก็อยากให้เป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกับสังคมด้วย รายงานแต่ละฉบับอาจจะเป็นเรื่องเฉพาะ แต่ก็สะท้อนข้อเท็จจริงของผู้เสียหาย หรือผู้ที่เดือดร้อนได้ส่วนหนึ่ง

            บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ผ่านมาอาจจะมองว่าเป็นเพียงผู้จัดทำรายงานนำเสนอเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการสั่งการ หรือดำเนินการใดๆ อยากให้เข้าใจว่า อำนาจจริงๆ เป็นของประชาชนมากกว่าองค์กรอิสระ สังคมต้องป้องกันตัวเองมากกว่าที่ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระใดๆ ทั้งนี้หากองค์กรอิสระมีอำนาจก็อาจจะกลายเป็นดาบสองคมคือ มีทั้งคุณและโทษ  การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ผ่านมา พยายามสร้างกลไกเชิงรุกไปพร้อมๆ กับกลไกเชิงรับ

 

            ๑๘.กรณีการย้ายโรงไฟฟ้าที่บ่อนอกมาที่แก่งคอย ขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ติดตาม ตรวจสอบการทำงานอยู่ โดยเน้นย้ำว่า การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมิใช่การขัดขวางการปฏิบัติงานของรัฐบาล แต่มองที่การสร้างกลไกในการทำงานที่เคารพต่อสิทธิของประชาชนทั้งตามหลักการในรัฐธรรมนูญ หรือกติกาต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้อง การดำเนินการชดเชย หรือการให้การเยียวยาใดๆ ภายหลังจากการดำเนินการ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นหลังจากการดำเนินการที่เคารพตามหลักการดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมองว่ามิควรจะเกิดขึ้นหากการดำเนินการมีการเอาใจใส่ต่อสิทธิมนุษยชนมากพอ อาทิ กรณีของเขื่อนปากมูล  หรือการอพยพย้ายชุมชนบนพื้นที่สูงออกจากเขตทำกินดั้งเดิม เป็นต้น





[๑] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดทำรายงานประเมินผลการปฏิบัติตามพันธกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย (Assessing Thailand"s Compliance with the Obligations under the International Covenant on Civil and Political Rights) นำเสนอในการประชุมดังกล่าว เนื้อหาโดยสรุปตามเอกสารประกอบข่าวแจก กรณีที่ต้องการฉบับสมบูรณ์(ภาษาอังกฤษ) กรุณาติดต่อกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและประสานงานเครือข่าย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โทร. ๐ ๒๒๑๙ ๒๙๘๐ ต่อ ๕๐๒๓ , ๕๐๒๔(คุณทวีชัย,คุณกิติพร)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท