เอทานอล - แก๊สโซฮอล์ อนาคตพลังงานของชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

รัฐบาลประกาศออกมาว่าภายในปี 2549 ประเทศไทยต้องมีแก๊สโซฮอล์ใช้กันอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ  ซึ่งหมายความว่าจะมีแหล่งจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ที่คนทั่วประเทศสามารถเข้าถึง  โดยเวลานี้มีเพียงสถานบริการน้ำมันไม่กี่แห่งที่จำหน่ายแก๊สโซฮอล์  และผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ก็ยังมีอยู่เพียงน้อยนิด

 

ในฉบับที่ผ่านมา  "พลเมืองเหนือ"  ได้กล่าวถึงงานวิจัยของนักวิจัยชาวสหรัฐฯ  ซึ่งตรวจสอบพลังงานทั้งหมดซึ่งใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอลภายในประเทศสหรัฐฯ  ตั้งแต่ขั้นตอนของการเพาะปลูกพืชที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ  การขนส่ง  ไปจนถึงกระบวนการสกัดวัตถุดิบเหล่านั้นให้ได้เป็นเอทานอลออกมา  แล้วนำมาเปรียบเทียบกับพลังงานที่จะได้รับจากเอทานอล  ผลวิจัยดังกล่าวสรุปชี้ชัดออกมาว่า  การใช้เอทานอลในฐานะพลังงานทดแทนนั้น  ท้ายที่สุดแล้วอาจกลายเป็น  "การขาดทุนทางพลังงาน"

 

รองศาสตราจารย์ศิรินทร์ญา  ภักดี  ภาควิชาเคมี  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เจ้าของงานวิจัย  "เอทานอลข้าวเหนียว"  (พลเมืองเหนือ  ฉบับที่ 179  หน้า 19)  กล่าวว่า  สถานการณ์โดยทั่วไปของประเทศไทยคือเราไม่มีน้ำมันเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ  แม้จะสามารถขุดเจาะได้เองในบางส่วนก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี  เหตุนี้รัฐบาลไทยจึงต้องเร่งหามาตรการด้านพลังงานทดแทนอย่างเร่งด่วน  โดยประกาศใช้แก๊สโซฮอล์ทั้งประเทศภายในปี 2549 เป็นต้นไป  มาตรการดังกล่าวเรามีข้อได้เปรียบอยู่คือ  เรามีผลผลิตทางการเกษตรปริมาณมหาศาลในแต่ละปี  ซึ่งบางครั้งมากจนเกินความต้องการของตลาด  ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำหรือขายไม่ออก  จนเหลือทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ในปริมาณไม่น้อย  ซึ่งหากเราสามารถดึงผลผลิตตรงนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้  จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติในหลายด้าน  เช่น  ลดการน้ำเข้าน้ำมัน  และ  ส่งเสริมการเกษตร  เป็นต้น

 

ในการวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งพลังงานทดแทนอย่างแก๊สโซฮอล์นั้น  ความคุ้มค่าต้องพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในวัตถุดิบตั้งต้นเป็นหลัก  หากวัตถุดิบตั้งต้นมีปริมาณมากเท่าไรก็ยิ่งผลิตเอทานอลได้มากเท่านั้น  ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากงานวิจัยของนักวิจัยชาวสหรัฐฯจะเห็นได้ว่าพืชที่นำมาเป็นตัวอย่าง  เป็นพืชที่มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างน้อย  อย่างเช่น  ข้าวโพด  ซึ่งเป็นพืชที่สหรัฐฯสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก  อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสหรัฐฯมีการวิจัยที่กว้างขวางกว่าเรามาก  แง่มุมดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์สำหรับงานวิจัยอื่นๆที่จะสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการต่อยอดได้  แต่เราต้องไม่ลืมว่าสหรัฐฯสามารถผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ  ต่างจากประเทศไทยเราที่ไม่สามารถผลิตใช้ได้เอง  ขณะที่เราสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้มาก  ดังนั้นเมื่อมีหนทางที่จะช่วยให้ประเทศชาติอยู่รอดได้เช่นนี้  เราจึงควรต้องมุ่งเน้นเป็นอย่างยิ่ง  อย่างน้อยเพื่อให้สามารถลดการนำเข้าน้ำมันลงได้บ้าง  และแม้ว่าเราจะใช้แก๊สโซฮอล์ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มของปริมาณน้ำมันเบนซินที่เคยใช้  เราก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันเบนซินอีก 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี  ซึ่งในอนาคตควรต้องมีการต่อยอดงานวิจัยเพื่อให้สามารถพัฒนาการใช้เอทานอลเป็นแหล่งพลังงานได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งจะทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้และไม่ต้องนำเข้าน้ำมันอีกต่อไป

 

แหล่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตเอทานอลในประเทศไทย  ที่โดดเด่นและน่าสนใจในเวลานี้ได้แก่มันสำปะหลังและกากน้ำตาล  โดยมันสำปะหลังมีปลูกกันมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งที่ผ่านมามีอยู่บ่อยครั้งที่เกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและผลผลิตล้นตลาดจนเกษตรกรเกิดความเดือดร้อน  และออกมาเรียกร้องภาครัฐให้ดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว  หลายครั้งบานปลายถึงขั้นนำผลผลิตไปเททิ้งบริเวณหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการประท้วงที่ภาครัฐไม่ได้ให้การเอาใจใส่เท่าที่ควร  หากสามารถนำผลผลิตเหล่านี้มาเป็นแหล่งพลังงานทดแทนได้  ก็น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

 

อย่างในภาคเหนือเองก็มีผลผลิตลำไยปริมาณมากซึ่งควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของการผลิตเอทานอล  เนื่องจากลำไยเป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง  มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตเอทานอลได้ในปริมาณมาก  อีกทั้งสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันที่ผลผลิตลำไยตกค้างปีละหลายแสนตัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตกค้างจากปี 2545  การนำมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงานทดแทนจึงดีกว่าการเผาทิ้งอย่างไม่ต้องสงสัย  ซึ่งกรณีนี้  "พลเมืองเหนือ"  เคยนำเสนองานวิจัยเรื่อง  "เอทานอลจากลำไย"  ของ  ดร.พรชัย  เหลืองอาภาพงษ์  คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้  (พลเมืองเหนือ  ฉบับที่ 184  หน้า 21)

 

ประเทศบราซิลเป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จในการใช้เอทานอลในฐานะพลังงานทดแทน  บราซิลเคยนำเข้าน้ำมันปริมาณมหาศาลต่อปี  แต่มีพืชผลทางการเกษตรอย่างหนึ่งที่สามารถผลิตได้ในปริมาณมหาศาลคืออ้อย  ซึ่งเป็นพืชที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบอยู่ในปริมาณมาก  เมื่อนำความได้เปรียบดังกล่าวมาปรับใช้  โดยนำอ้อยมาเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตเอทานอล  และส่งเสริมการพลังงานจากแหล่งดังกล่าวจนแพร่หลายทั้งประเทศ  ทำให้ปัจจุบันบราซิลแทบไม่ต้องนำเข้าน้ำมันเลย

 

จุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่งของการกระตุ้นการเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์  คือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้  ให้ผู้ใช้สามารถมั่นใจได้ว่าประสิทธิภาพของแก๊สโซฮอล์ที่มีต่อเครื่องยนต์ไม่ได้ด้อยไปกว่าการใช้น้ำมันเบนซิน 95  รวมทั้งการลดความกังวลในเรื่องเกี่ยวกับการสึกหรอของเครื่องยนต์ด้วย  ซึ่งกรณีนี้ควรต้องมีการสนับสนุนงานวิจัยทดสอบเชิงวิศวกรรมให้มากขึ้น  เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้มากกว่าที่เป็นอยู่

 

ข้อได้เปรียบที่ชัดเจนของแก๊สโซฮอล์คือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรมุ่งเน้นให้เกิดความตระหนักในวงกว้าง  ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งในการจูงใจผู้คนให้หันมาใช้แก๊สโซฮอล์คือการสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนด้านราคา  ซึ่งในปัจจุบันแก๊สโซฮอล์ก็มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 95 อยู่แล้ว  แม้ว่าจะไม่มาก  แต่หากสามารถผลิตเอทานอลได้ในปริมาณมากขึ้น  ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยลดลง  ความแตกต่างด้านราคาก็จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  และเป็นปัจจัยที่สามารถจูงใจผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี  เพื่อให้มองเห็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอนาคตด้านพลังงานของประเทศ.

           

 


รายงานพิเศษ

ฉัตรชัย  ชัยนนถี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท