Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปี 2528 กระบวนการรักษาป่าชายเลนโดยชุมชนได้ถูกจุดชนวนขึ้นที่บ้านแหลมมะขาม - บ้านแหลมไทร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง


จากกระบวนการที่ยืดเยื้อยาวนาน กระทั่ง กลายเป็นต้นแบบให้กับหลายชุมชนจนถึงปัจจุบัน นับเป็นจุดก่อเกิดงานพัฒนาชุมชน ที่ทำให้เกิดขบวนการผู้คนในชุมชนอย่างถึงแก่นเป็นจุดแรก ในแถบชายฝั่งอันดามัน


นับแต่นั้นมา ขบวนการชุมชนได้แตกหน่อขยายผล สรุปบทเรียนและเริ่มใหม่ เป็นงานพัฒนาที่ชุมชนเป็นหัวใจ เป็นแกนกลาง เกิดผู้นำชุมชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามครรลอง


ทว่า ขบวนการชุมชนโดยรวม ไม่เคยเปลี่ยน และไม่เคยหยุดนิ่ง...


ปี 2534 หน่อเนื้อทางความคิดจากบทเรียนที่สั่งสม ได้ขยายผลสู่อำเภอกันตัง ณ ตำบลเกาะลิบง ที่บ้านเจ้าไหม และบ้านมดตะนอยที่อยู่ใกล้เคียงกัน


การเคลื่อนไหวของชุมชนในการรักษาหญ้าทะเล ดูแลพะยูน เพื่อเป้าหมาย คือ ป้องกันเรืออวนรุนเข้ามารุกราน จากกระบวนการรักษาพะยูนได้ส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก ส่งผลสะเทือนจนผู้ที่รู้จัก "เจ้าโทน" พะยูนน้อยตัวหนึ่ง ต่างคาดไปไม่ถึง


ส่งผลสะเทือน กระทั่งพะยูนกลายเป็นสัญลักษณ์คู่เมืองตรัง จนการทำประมงด้วยอวนรุน ถูกสังคมเมืองตรังปฏิเสธ


มิยะ หะหวา หญิงแกร่งแห่งบ้านเจ้าไหม คือ หนึ่งในขบวนการนั้น มิยะ หะหว่า เป็นหญิงชาวบ้านลูก 5 ธรรมดาๆ คนหนึ่ง เป็นเสมือนแม่ของ "เจ้าโทน" พะยูนน้อยตัวนั้น


ด้วยบุคลิกรักสนุก ช่างคิด ช่างถาม ช่างคุย และเอาจริงเอาจัง บ้านของครอบครัวมิยะ จึงกลายเป็นที่สุมหัววางแผนงาน และกลายเป็นที่พำนักของใครต่อใคร


มิยะ หะหวา เป็นผู้นำหญิงคนแรกๆ ของบรรดาชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ที่ลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาตัวเอง โดยไม่ได้คิดว่าเป็นภาระของฝ่ายชายแต่ถ่ายเดียว มิยะ หะหวา ลงมือปฏิบัติการโดยไม่เรียกร้อง และไม่รอให้ใครมาเรียกร้องให้


มิยะ หะหวา กับครอบครัว นับเป็นครอบครัวผู้นำชุมชนแบบอย่าง เป็นครอบครัวที่ต้อนรับผู้มาเยี่ยมอย่างเสมอหน้า เป็นครอบครัวที่พร้อมเป็นธุระในเรื่องส่วนรวม เป็นครอบครัวที่ไม่เคยเปลี่ยนเข็มทิศชีวิต ไม่เคยใช้โอกาสที่พึงมี แสวงหาความมั่งมี


ระบบเศรษฐกิจ สังคมบริโภคนิยมในปัจจุบัน ได้รัดรึงทุกครอบครัวในสังคมชนบท สภาพปัญหาที่สลับซับซ้อนยากเกินความเข้าใจ ได้กระทำต่อครอบครัวเล็กครอบครัวน้อยในหมู่บ้านที่ยากจนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค ก็ถือกำเนิดขึ้นรายวัน


กล่าวเฉพาะชุมชนชายฝั่งทะเล นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และนโยบายธนาคารอาหารทะเล (Sea Food Bank) ที่มีแนวโน้มจะทำให้สิทธิของชาวบ้านคนเล็กคนน้อยหลุดไปจากมือ ก็นับว่ายากเกินจะรับมือ


            ในวาระที่ มิยะ  หะหวา ได้จากโลกดุลยาไปสู่โลกแห่งกียามัต ปิยมิตรแห่งครอบครัวหะหวา ได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงานระลึกถึงคุณความดีของมิยะ หะหวา และชุมชนเจ้าไหมที่ได้เคยกระทำร่วมกัน ตั้งแต่ 8.00 - 19.00 น. วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2548 ณ ริมเขาเจ้าไหม บ้านหาดเจ้าไหม ตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง


เนื้อหาของงานจะมีการแลกเปลี่ยน ทบทวนประสบการณ์ และสถานการณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ในหมู่ผู้เข้าร่วมจากกลุ่มชุมชนที่ทำงานพัฒนาและรักษาทรัพยากรธรรมชาติจากขอบเขตทั่วประเทศ โดยในช่วงบ่ายจะมีเวทีสัมมนา "วิกฤติทางทะเลและชายฝั่งกับบทบาทภาคประชาชน เพื่อระลึกถึงมิยะ หะหวา ยอดหญิงนักสู้ประมงพื้นบ้าน"


            ขณะนี้ มีการระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือครอบครัวหะหวา เพื่อสร้างบ้านและเป็นทุนการศึกษาบุตร ในชื่อบัญชี    นายหย่าเหตุ  หะหวา, นายพิศิษฐ์  ชาญเสนาะ และนายสมบูรณ์  คำแหง  หมายเลขบัญชี  261-0-99268-3 ธนาคาร กรุงเทพ  สาขา ตรัง   หรือให้ความช่วยเหลือได้โดยตรงกับครอบครัวหะหวา


            อันเป็นความช่วยเหลือ ครอบครัวผู้นำชุมชนประมงพื้นบ้านนามมิยะ หะหวา ผู้ไม่เคยปริปากเรียกร้องสิ่งพึงมีพึงได้ให้กับตัวเอง แม้จะอยู่ในสภาพลำบากเสดสาปานใดก็ตาม


"เรื่องความลำบากของครอบครัวจ๊ะ เทียบไม่ได้กับปัญหาสารพัดที่กระทำกับชาวบ้านส่วนใหญ่ พอเอามาเทียบกันแล้ว ปัญหาของจ๊ะเล็กนิดเดียว"


คำพูดของมิยะ หะหวา เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เป็นปณิธานที่คนยังอยู่ ต้องยึดมั่นและก้าวเดินต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net