Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยังคงดังระงม ข้อสงสัยต่างๆ ยังไม่เป็นที่ประจักษ์แจ้ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเรียบร้อย


 


ท่ามกลางความห่วงใยหลายหลากประเด็น "ประชาไท"  มีโอกาสได้พูดคุยกับ "เกษียร เตชะพีระ" นักวิชาการฝีปากคมจากรั้วธรรมศาสตร์ และคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ซึ่งตั้งข้อสังเกตถึงโฉมหน้าความรุนแรงที่อาจเปลี่ยนไป หลังการใช้พ.ร.ก.ฯ ในสภาพการณ์ที่มีการติดอาวุธให้ชาวบ้านในพื้นที่ไว้อย่างน่าสนใจ


 



ประชาไท          ในฐานะนักรัฐศาสตร์ มองการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ของรัฐบาลอย่างไร


 


เกษียร   ผมนึกถึงอยู่ 2-3 เรื่อง คือ มันเป็นผลผลิตที่จะต้องเกิดขึ้นจากวิธีการคิดในการมองปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้แบบนี้ ผมรู้สึกว่าตราบเท่าที่ยังคิดในแนวนี้ในที่สุดมันก็จะนำไปสู่การออกกฎหมายลักษณะนี้


 


วิธีคิดดังกล่าวคือวิธีคิดที่มองว่าปัญหาการก่อการร้ายที่ภาคใต้เป็นสงคราม และเป็นสงครามที่ถูกมองด้วยวิธีคิดหรือทฤษฎีแบบที่อเมริกากำลังมองว่าตัวเองกำลังทำสงครามกับอัลเคด้า หรืออัฟกานิสถาน หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อวิธีการมองมันคล้องกัน ผมไม่ทราบรายละเอียด แต่มีคนบอกว่าเผลอๆ ตอนที่ไประดมหน่วย งานความมั่นคงมาร่วมกันเขียนกฎหมายนี้ อย่างกับว่าแต่ละหน่วยงานมี vision list มาว่าอย่างได้กฎหมายอะไรบ้างเพื่อจะแก้ปัญหาได้ แล้วมายัดรวมออกมาเป็นพ.ร.ก.นี้ ผมคิดว่าเผลอๆ ก็ไปลอกกฎหมายคนอื่นมา ตัวใหญ่ๆ ก็คือ Patriot Act ของอเมริกา หรือของอังกฤษ ซึ่งมันเป็นกระแสทั่วโลก


 


พอมันมีวิธีการมองปัญหาแบบนี้ และคิดจะแก้แบบนี้ มองเป็นสงครามแบบใหม่ที่ทำกับการก่อการร้าย ดัง


นั้นก็ต้องมีมาตรการแบบใหม่และต้องไปแก้กฎหมาย มันก็เลยออกมาแบบนี้


 


วิธีคิดแบบนี้มีปัญหาอะไร


 


วิธีคิดแบบนี้อันตราย เพราะคำว่าสงครามแบบใหม่ที่ทำกับการก่อการร้าย มันรุกรานเข้ามาในพื้นที่ของประชาสังคม และสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาก บนฐานความคิด 2-3 อย่าง ที่สำคัญคือ สนามรบกับสังคมโดยทั่วไปไม่มีเส้นแบ่งแยก ทหารกับพลเมืองไม่มีเส้นแบ่งแยก การรบกับการเมืองไม่มีเส้นแบ่งแยก


 


วิธีคิดของอเมริกาเวลาเจอกับสิ่งที่เกิดขึ้น เจอกับอัลเคด้า เจอบอมบ์ มันพบว่าวิธีจัดการกับสิ่งเหล่านี้ต้องยกเลิกเส้นแบ่งนี้ทั้งหมด กล่าวคือ คนที่มาทำร้ายคุณไม่ได้มาในชุดทหาร ดังนั้นเมื่อคุณจะรับมือกับศัตรูที่มีโฉมหน้าเป็นพลเมือง คุณไม่สามารถรับมือแบบปกติได้ เมื่อสนามรบเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง เพื่อจัดการกับสนามรบที่อาจจะอยู่ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ในศูนย์การค้า ในโรงแรม ในสนามบินได้ คุณต้องมีมาตรการอยู่จำนวนหนึ่ง


 


เมื่อการรบกับการเมืองไม่แยกกัน กล่าวคือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองปกติธรรมดาอาจจะพาไปสู่กลุ่มคนที่ถูกปลุกระดมด้วยความคิดสุดโต่งบางอย่าง แล้วเปลี่ยนตัวเองจากผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองไปเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างง่ายดาย วิธีคิดก็คือ ต้องยกเลิกเส้นแบ่งเหล่านี้  ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นว่า ประชาสังคม บุคคลที่มีสิทธิเสรีภาพและเป็นพลเมืองอยู่ในสังคมโดยปกติธรรมดา กลายเป็นผู้ที่มีศักยภาพที่จะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายได้เสมอ


 


คิดถึงสมัยก่อน คุณรบก็รบไป เราเป็นพลเรือนธรรมดา แต่พอยกเลิกเส้นแบ่งเหล่านี้ เขากวาดตามามองรอบตัว แล้วเขาไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าระเบิดลูกต่อไปจะระเบิดที่ไหน พอคิดแบบนี้วิธีเดียวที่จะป้องกันได้ ก็ต้องขยายอำนาจรัฐให้มันยุ่มย่ามครอบคลุม คุมคนให้แน่นหนาไปหมด เพราะเขาไม่รู้ว่าคุณจะกลาย


เป็นผู้ก่อการร้ายเมื่อไหร่ อีเมล์ที่คุณๆ ส่งกันไป จะเป็นการนัดกันวางระเบิดไหม ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่กฎ


หมายที่มีบุคลิกยกเลิกเส้นแบ่งเหล่านี้ คุมเข้ม แล้วฝากความมั่นคงทั้งหมดไว้ที่รัฐ


 


ถ้าคิดแบบนี้และดำเนินตามตรรกะแบบนี้ พ.ร.ก.ออกมาแล้วทำให้เกิดอะไรบ้าง มี 2-3 อย่างที่ผมเป็นห่วงมาก


 


การออก พ.ร.ก.ฉบับจะส่งผลกระทบกับสังคมการเมืองต่อไปอย่างไร


 


ขั้นต้น ผมคิดว่าที่ผ่านมาภาคใต้ยุ่งด้วยการก่อการร้าย 2 ชนิด แต่มันมีแนวโน้มของการก่อการร้ายที่จะเป็น


ไปได้ชนิดที่สาม อย่างแรกยุ่งเพราะการก่อการร้ายของผู้ก่อความไม่สงบ อันนี้เรารู้กันอยู่ พวกฆ่ารายวัน  อย่างที่สองยุ่งเพราะการก่อการร้ายภาครัฐ กล่าวคือ เพื่อจัดการกับผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ รัฐดำเนินมาตรการตามกฎหมายจำนวนหนึ่ง และใช้มาตรการจำนวนหนึ่งที่นอกกฎหมาย เช่น การอุ้ม การทรมาน การซ้อม อะไรก็แล้วแต่ รวมทั้งการเก็บซึ่งมีผู้สงสัยกันมาก มาตรการเหล่านี้ไม่อยู่ในกฎหมาย มันเป็นพื้นที่สีเทาที่รัฐทำเพื่อจัดการกับการก่อการร้ายประเภทแรก ทั้งสองอันนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านเดือนร้อน


 


จะว่าไปความเปรียบของนายกฯ แกเปรียบได้ดี ที่บอกว่า เหมือนชาวบ้านเดินถนนฟากนี้ ทหารเดินถนนฟากโน้น แล้วพื้นที่ทหารมันขยายใหญ่โตมาเบียดถนนตรงกลางของประชาชน ประชาชนจะไปอยู่ตรงไหน ดังนั้นต้องให้ประชาชนเผื่อไว้สายหลัก เสร็จแล้วทหารอยู่ฝั่งนี้ ผู้ก่อการอยู่ฝั่งโน้นแล้วหาทางต่อสะพาน แกคิดแบบนั้นถูกแล้ว แต่ตอนนี้แกลุยลงมาในพื้นที่ถนนเลย เบียดถนนให้แคบเข้าเรื่อยๆ ฝั่งนั้นก็ขว้างระเบิด ฝั่งนี้ก็ยิง


 


พ.ร.ก.ฉบับนี้มันน่ากลัวที่ว่ามันทำพื้นที่สีเทาเป็นพื้นที่ถูกกฎหมาย อะไรต่อมิอะไรที่เคยทำในอดีตเช่น อุ้มผู้ต้องสงสัยไปเก็บเอาไว้ ถามว่าถูกกฎหมายไหม ไม่ถูก ถ้าอุ้มไม่ระวังเขาเป็นอะไรไปก็เป็นการอุ้มฆ่าอีก แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ การกักกันผู้ต้องสงสัยไว้โดยไม่มีข้อกล่าวหา และโดยไม่ต้องเอาตัวขึ้นศาล สามารถทำได้ 7 วันและต่อไปได้ถึง 30 วัน โดยที่ไม่มีหลักประกันว่าจะได้พบญาติ ทนาย บรรดาอะไรก็แล้วแต่ที่รัฐทำในพื้นที่สีเทาแล้วประชาชนเดือดร้อน ตอนนี้กลายเป็นถูกกฎหมายหมดเลย แล้วประชาชนจะมีพื้นที่ตรงไหนให้เดิน


 


ส่วนอันที่สามที่ผมคิดว่าน่ากลัว แล้วมันเริ่มก่อตัวขึ้นแต่ไม่ทันปะทุชัดเจน ก็คือ การติดอาวุธชาวบ้าน


 


เป็นที่เข้าใจได้ว่าในเมื่อผู้ก่อการเหิมเกริมทำความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์อย่างไม่หยุดหย่อน แล้วรัฐก็ดูเหมือนไม่มีศักยภาพในการจัดการกับเรื่องราว ตรงกับข้ามกลับทำให้ผู้บริสุทธิ์เดือดร้อน ในที่สุดกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เขารู้สึกว่าตกเป็นเป้า พูดตรงไปตรงมาคือ คนไทยพุทธ เพราะเขาเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ เขารู้สึกว่าต้องป้องกันตัวเอง ต้องติดอาวุธ ครูก็เริ่มติดอาวุธ


 


สิ่งที่ผมกลัวคือนี่จะกลายเป็น vigilante terrorism หรือปัญหาความรุนแรงไร้สังกัดภาคเอกชน มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ เมื่อพวกโปรแตสแตนท์ โดนพวกไออาร์เอเล่นงาน แล้วไม่รู้จะจัด


การยังไง เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจของอังกฤษก็ป้องกันไม่ได้ ก็เลยติดอาวุธกลายเป็นกลุ่มกองกำลังที่ยิงสู้กับไออาร์เอ แล้วใช้วิธีก่อการร้ายจัดการกับพวกไออาร์เอเหมือนกัน กล่าวคือ มึงต้องสงสัยเป็นหัวหน้าไออาร์เอ ก็ฆ่ามึง มึงบอมบ์กู กูบอมบ์มึง


 


สถานการณ์ในบ้านเรามันยังไม่มีอะไรที่ไปใกล้ขนาดนั้น แต่รู้ไหมว่าถ้าเราเริ่มสตาร์ทตรงจุดนี้ มันไหลไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเงื่อนไขที่คุณก็ไม่รู้ว่าใครรบอยู่กับคุณ ผู้ก่อการร้ายไม่แขวนป้ายยี่ห้อ ไม่ใส่เครื่องแบบ ปืนที่มีมันจะหันไปถูกทิศไหม


 


พอเราติดปืนเข้าไปแล้ว สมมติว่าเขาเริ่มคิดว่าในเมื่อเราไม่สามารถป้องกันการก่อการร้ายได้ ทำไมเราไม่ preemptive strike แบบที่อเมริกาทำล่ะ ก็คือ ยิงก่อน มันมีบัญชีดำบินว่อนอยู่ในพื้นที่หลายบัญชีก็เป็นที่รู้กันอยู่ สมมติว่าบัญชีดำเหล่านี้ตกไปอยู่กับกองกำลังชาวบ้านเหล่านี้ และกองกำลังชาวบ้านเหล่านี้ตัดสิน


ใจป้องกันตัวเองโดยใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลม ถึงตอนนั้นผมว่ามิคสัญญีแล้ว


 


ถ้าถึงจุดนั้นจะเป็นสภาพที่อาจารย์นิธิเรียกว่า "แดนไร้รัฐ" เป็น state of nature คือเป็นภาวะธรรมชาติ สงครามของทุกคนต่อทุกคน  


 


อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเราควรจะคิดถึง พ.ร.ก.นี้ในบริบทของภัยก่อการร้าย 3 ทิศนี้


 


คิดว่ากฎหมายหรือเครื่องมือที่รัฐมีปกติเพียงพอต่อการแก้ปัญหาไหม


 


สำหรับผมยังไม่มีไอเดียที่ชัดในเรื่องนี้ ก็มีคนที่บอกว่าเพื่อจัดการกับปัญหาการก่อการร้ายต้องให้อำนาจพิเศษ แต่ก็มีคนที่บอกว่าเพื่อจัดการกับปัญหาการก่อการร้ายเราสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ปกติธรรมดารับมือได้ ผมไม่รู้ว่าใครถูก แต่ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าเราไม่ได้ใช้วิธีธรรมดาเท่าที่ควร มันจึงมีปัญหาว่าหมอพรทิพย์ (โรจนสุนันท์) ก็โวยอยู่ตลอด คุณอานันท์ (ปันยารชุน) ก็ออกมาบอกว่าไม่ได้ใช้วิธีนิติวิทยาศาสตร์ ให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์ ใช้บรรดาวิธีการที่ใช้กับอาชญากรรมปกติมาจัดการกับมัน ถ้าคุณใช้วิธีเหล่านี้ คุณอาจจะแก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษก็ได้


 


และอย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่แค่ใช้อำนาจธรรมดาบวกอำนาจกฎอัยการศึกก็ทำอะไรที่เลวร้ายไปเยอะแล้ว ก่อการร้ายโดย รัฐก็ยังทำ ให้อำนาจพิเศษไปจะไม่ยุ่งกันใหญ่หรือ มันเหมือนอยู่บนทางสองแพร่งแล้วรัฐก็ตัดสินใจโดยพ.ร.ก.นี้ออกมา


 


การให้อำนาจพิเศษมันจะแก้ปัญหาการก่อการร้ายได้หรือเปล่า มันไปทำอะไรกับการก่อการร้ายภาครัฐ ไปทำให้มันถูกกฎหมายแล้วไปเบียดพื้นที่ชาวบ้าน ทำให้เขาเดือดร้อนมากขึ้นใช่ไหม แล้วมันจะไปแก้ปัญหา vigilante terrorism ได้ไหมหรือไม่แก้ หรือทำให้เกิดโอกาสที่มันจะรุนแรงขึ้น


 


ผมคิดว่านี่คือฐานคิดที่มาของกอส. (คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) ว่าให้ถือว่าพื้นที่ 3 จังหวัดใครติดปืนผิดกฎหมายหมด อันนี้ผมไม่รู้ ผมไม่ได้ไปนั่งอยู่ในใจท่าน แต่ผมเดาว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหา vigilante terrorism ได้


 


ในแง่มุมทางรัฐศาสตร์ มีข้อกังวลอะไรบ้าง


 


ในแง่รัฐศาสตร์โดยตรง ผมมีความห่วงกังวลใน 2 ข้อ


 


อย่างแรกคือ พ.ร.ก.ฉบับนี้ต่อระบอบประชาธิปไตย


 


ผมคิดว่าพ.ร.ก.นี้มันยืนยันข้อกังวลที่มีมาตั้งแต่เริ่มสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดีบุชในระดับโลกแล้วว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายจะรบไม่ชนะการก่อการร้าย สงครามต่อต้านการก่อการร้ายจะทำให้ผู้ก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอีก ที่ร้ายกว่านั้นมันจะทำลายประชาธิปไตย


 


มันทำลายประชาธิปไตยในความหมายที่ว่า แทนที่ระบอบประชาธิปไตยจะวิวัฒน์ในทางที่เป็นเสรีประชา


ธิปไตย มันกลับจะย้อนหลังกลับมาเป็นแบบอำนาจนิยมยิ่งขึ้น และที่สำคัญไปจำกัดและทำลายการเมืองภาคประชาชนลง อันนี้เป็นข้อกังวลที่มีมาตั้งแต่อเมริกาประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย


 


มันแก้ได้จริงหรือเปล่า ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมา 2-3 ปี มีผู้ก่อการร้ายมากขึ้นทั่วโลก โดย


เฉพาะในประเทศที่อเมริกาทุ่มกำลังไปปราบ เช่น อิรัก กลายเป็นดงการก่อการร้ายเลย จนอเมริกาอยากจะหยุดประกาศสถิติเรื่องการก่อการร้ายแล้ว


 


ดังนั้นผมคิดถึงการเมืองภาคประชาชนเป็นพิเศษในความหมายว่า ถ้าไม่แก้การก่อการร้ายแบบลัทธิใหม่ ทฤษฎีใหม่ของอเมริกา จะแก้ยังไง ในเมืองไทยก็เคยมีผู้เสนอ อย่างอาจารย์นิธิ ให้แก้การก่อการร้ายด้วยการเมืองภาคประชาชน ภาวะตอนนี้ประชาชนไม่มีทางออก เหมือนคนดู ฝ่ายรัฐก็ใช้อำนาจเกินขอบเขต ฝ่ายผู้ก่อการร้ายก็ฆ่าฟันผู้คนบริสุทธิ์ ประชาชนเป็นผู้ดู นั่งเงียบๆ และหวังว่าตัวเองจะไม่ไปอยู่ผิดที่ผิดเวลาแล้วโดนระเบิดหรือโดนยิงตาย ประชาชนกลายเป็นกลุ่มคนที่ passive มาก ได้แต่นั่งงอมืองอเท้ารอว่าลูกหลงจะมาโดนตัวเองเมื่อไร


 


ข้อเสนอของอาจารย์นิธิคือ ประชาชนต้องเดินสู่เวทีการเมืองโดยตรง เป็นเวทีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แล้วเคลื่อนไหวการเมือง เพื่ออะไร เพื่อแก้ปัญหาความอยุติธรรม ปัญหาการถูกล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพ ปัญหาที่ถูกพวกที่มีอำนาจรัฐอำนาจทุนกดขี่รังแก โดยวิธีการสันติในกรอบของกฎหมาย


 


เปิดพื้นที่การเมืองเพื่อแก้ปัญหาซึ่งเป็นมูลเหตุให้คนจำนวนหนึ่งหันไปก่อการร้าย โดยคิดว่าวิธีแบบนั้นจะแก้ได้ กล่าวคือ ถ้าคุณไม่เปิดพื้นที่ให้คนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอย่างสันติวิธี คนที่รักความเป็นธรรมก็จะไปต่อสู้ด้วยอาวุธและการก่อการร้าย


 


ข้อเสนอของอาจารย์นิธิคือว่า อย่าใช้ความรุนแรง แต่อย่าเลิกสู้ ให้สู้ต่อเพื่อแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีในกรอบของกฎหมาย ซึ่งมันตรงกับข้อคิดของบรรดาคนจำนวนหนึ่งที่วิตกกังวลกับแนวโน้มการต่อต้านการก่อการร้ายในอเมริกา แก้ปัญหาไม่ได้ แถมยังไปทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมโทรม


 


เขาก็เสนอว่าตรงกันข้ามคือ อย่าคิดว่ามันคือสงคราม อย่าเรียกมันว่าสงคราม อย่าใช้วิธีสงครามรับมือกับมัน เพราะมันไม่ใช่สงคราม ไม่ใช่อะไรที่คุณจะแก้ได้ด้วยการทหาร ไม่ว่าจะเป็นแบบเก่ายกพลประจัญกับเขา หรือแบบใหม่ซึ่งร้ายกว่าเพราะทุกที่เป็นสนามรบ ทุกคนมีศักยภาพเป็นผู้ก่อการร้าย สิ่งที่เกิดขึ้นคืออาชญา


กรรม เป็นอาชญา กรรมที่ร้ายแรง เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และใช้วิธีที่จัดการกับอาชญากรรมจัดการกับมัน ใช้เครื่องมือทางกฎหมาย ตำรวจ ทั้งหมดเท่าที่มีอย่างเต็มที่ ถ้ายังไม่ได้ค่อยคิดถึงอำนาจที่อาจจะต้องเพิ่มเติม แต่ไม่ใช่คิดแต่แรกว่าเป็นสงคราม และให้อำนาจพิเศษที่จำเป็นในภาวะสงคราม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหามากขึ้น


 


สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับตาลปัตร วิธีการที่รัฐบาลทำตอนนี้คือ การกดพื้นที่สิทธิเสรีภาพลงไปอีก ทั้งที่นั่นคือสิ่งที่กอส.พยายามทำให้เกิดขึ้น คือ เปิดพื้นที่ประชาสังคมให้ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหา


 


ในส่วนเรื่องของรากฐานของปัญหา มีคนบางกลุ่มที่มองว่ารากฐานของปัญหาเศรษฐกิจสังคมคือ เส้นทางการพัฒนา และปัญหารากฐานในแง่ของอำนาจ คือ รัฐนิยม คุณคิดว่าอำนาจรวมศูนย์แก้ปัญหาทุกอย่าง มันมีเส้นทางผิดใหญ่ 2 เส้นก็คือ เส้นทางผิดในแง่การพัฒนา พูดตรงไปตรงมาคือ ทุนนิยมโลกภิวัตน์กับเส้นทางรัฐนิยม ที่การใช้อำนาจรวมศูนย์แก้ปัญหา นี่คือเส้นทางผิดที่ยิ่งเดินยิ่งสร้างปัญหา แต่คราวนี้รัฐไม่ลงไปซักตรงความถูกผิดของเส้นทางเหล่านั้น รัฐกลับคิดว่ามันถูก แล้วจะเดินเส้นทางนี้เพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นปัญหาจึงไม่ถูกขุดลงไปที่ราก แต่เกิดจาก มึงอยากแยกดินแดน  เกิดจากมึงเป็นมุสลิมหัวรุนแรง ไปจับตรงอาการ


 


ทีนี้การแตะตรงรากจะแตะยังไง  พระอินทร์ลงมามันก็คงไม่เกิด จะให้รัฐเปลี่ยนเส้นทางการพัฒนาและเปลี่ยนเส้นทางรัฐนิยมผมก็ไม่เชื่อว่าจะเกิด ที่ทำได้คือ เปิดพื้นที่ทางการเมือง เปิดพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้คนในสังคมได้เลือก โดยเฉพาะคนที่มีกำลังทุนน้อย มีกำลังการเมืองน้อย ให้เขามีโอกาสออกเสียง ออกความเห็น เพื่อถ่วงดุลเส้นทางการพัฒนาที่มันสวิงให้มันกลับมาตรงกลางบ้าง


 


จะให้แก้ตรงรากคงแก้ไม่ได้ ที่ทำได้คือต้องเปลี่ยนสนามของการต่อสู้ทางการเมืองในเรื่องนี้ ให้มีกลุ่มคนต่างๆ ที่เขาได้รับผลกระทบ ได้รับความเดือดร้อนจากสองเส้นทางนี้ ให้เข้ามาสู่เวทีเปิด ได้พูดถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนได้ถ่วงดุลได้มีพื้นที่มากขึ้น  ถ้าไม่มีพื้นที่เปิดตรงนั้นเส้นทางสองเส้นนี้ก็จะไม่ถูกท้าทาย ไม่ถูกตั้งคำถาม ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกเปลี่ยน มันจะเปลี่ยนหรือไม่ผมไม่รู้ ถ้าถามผมส่วนตัวผมอยากให้มันเปลี่ยน ถ้าเปิดพื้นที่อย่างนี้แล้วมันอาจจะเห็นทางเลือกและทางออกใหม่นอกเหลือจากสองเส้นทางนั้น


 


แต่เสียงส่วนมาก ไม่ว่าในประเทศไทย หรือในอังกฤษหลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด  สวิงกลับเห็นด้วยกับสิ่งที่แบลร์ทำในอิรัก


 


พูดให้บ้าเลือดไปกว่านั้นหน่อยก็คือ คุณจะทำยังไงในเมื่อประชาธิปไตยยินดีให้รัฐก่อการร้าย กระบวนการนั้นผมไม่คิดว่าระบอบประชาธิปไตยที่เรามีอยู่มันเป็นประชาธิปไตยสักเท่าไร เมื่อไรที่คุณมีรัฐที่ไม่เคารพกฎหมายและก่อการร้าย รัฐนั้นไม่มีความเป็นประชาธิปไตยสักเท่าไร แต่โอเคนี่คือ สภาพที่เราเจออยู่ เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย พร้อมจะยอมให้รัฐก่อการร้ายเพื่อความมั่นคงของตัวเอง


 


ผมอยากตอบเรื่องนี้ใน 2-3 ประเด็นกล่าวคือ  อันดับแรก ประเทศไทยแบบไหนที่คุณอยากจะมีอยู่หลังจากเราจัดการการก่อการร้ายจบไปแล้ว ประเทศไทยที่รักษาไว้ได้ แต่ไม่มีสิทธิเสรีภาพเหลือ เป็นประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าประเทศไทย และมีความภูมิใจว่ามีจังหวัดครบ แต่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งคนไทยจำนวนมากรักประเทศนี้เพราะมันมี กล่าวคือ ในขบวนการที่คุณแก้ปัญหาของประเทศ คุณได้ทำลายบุคลิกหรือสารัตถะของประเทศลงไปหรือเปล่า คนจำนวนมาก อย่างน้อยคนรุ่นผมรักประเทศไทย เพราะเราสู้จนมันมีเสรีภาพ จากที่ไม่มีตอนนี้มันพอมีเสรีภาพที่จะมีปากเสียงเรียกร้องสิ่งต่างๆ ได้


 


ถ้าสู้จนเสียสิ่งนี้ไปคุ้มไหม แล้วที่เหลือเก็บเอาไว้เป็นประเทศไทยมันยังมีความน่ารักอยู่หรือเปล่า ต้องคิดให้ดีสำหรับคนทั้งหลายที่รักชาติ ยินดีเสียสละทุกอย่างเพื่อรักษาชาติไว้ มันอาจเป็นแค่คุกที่ไม่มีใครมีสิทธิพูดเลยก็ได้


 


อันที่สองคือ เป็นเรื่องของความอับจนของการเมืองในแบบ (formal politic) สิ่งที่เราเรียกว่าประชา


ธิปไตยตอนหลังมาเรียวลีบเล็กลงเรื่อยๆ  คนมองว่า ประชาธิปไตยเท่ากับเลือกตั้ง มีพรรคเสียงข้างมากในรัฐสภาเท่านั้นเอง เราก็รู้กันอยู่ว่าการเมืองในแบบ ภายในสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เสมอภาค เหลื่อมล้ำกันอยู่ มันเป็นการเมืองที่กลุ่มทุนครอบงำ ในที่สุดคนที่มีอำนาจทุนทรัพย์มากก็จะเข้ามาผูกขาดอำนาจการเมือง นี่คือโจทก์ใหญ่ที่เราต้องคิดแก้


 


แต่ภายใต้เงื่อนไขที่เราเจออยู่ตอนนี้ ประชาธิปไตยในทางปฏิบัติกลายเป็นว่ากลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งอาศัยเสียงข้างมากเข้ามากุมอำนาจรัฐได้อย่างเต็มที่ มันทำให้ทั้งสมรรถภาพและโจทก์ที่ผู้กุมอำนาจตั้งและสามารถแก้ไขได้มันหดเล็กปัญหาจำนวนมากไม่ถูกแก้ และไม่มีปัญญาแก้ ผมยกตัวอย่างปัญหาน้ำ การแย่งชิงทรัพยากร นี่ระเบิดแล้วที่ภาคตะวันออก


 


สมรรถภาพในการแก้ปัญหาน้อยลง เห็นปัญหาเล็กลง และเห็นทางเลือกในการแก้ปัญหาน้อยลง การที่จะทะลวงปัญหานี้ออกไป เราต้อง invite การเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่มากกว่าการเมืองในแบบเข้ามา อย่างที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่ การเมืองในแบบ  มันอยู่นอกสภา อันนี้คือที่มาของสมรรถภาพ พลัง ลู่ทาง วิสัยทัศน์ที่จะแก้ปัญหาที่การเมืองในแบบแก้ไม่ได้ 


 


อันนี้เป็นความหวังส่วนหนึ่งที่ประเทศต่างๆ เห็นความสำคัญว่าการเมืองภาคประชาชนต้องรักษาไว้ โดย


เฉพาะยิ่งเมื่อเจอกับการก่อการร้าย เพราะมันอาจเป็นลู่ทางในการรับมือการก่อการร้าย นอกเหนือไปจากการเพิ่มอำนาจรัฐอย่างหูหนาตาเร่อ อย่างบ้าบอคอแตก และมันยังเป็นลู่ทางในการแก้ปัญหาอื่นด้วย เช่น เรื่องทรัพยากร การตกลงระหว่างประเทศเอฟทีเอ


 


อันที่สาม สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมาไม่นานนัก เป็นประชาธิปไตยหลังจากเผด็จการทหารและเหยียดผู้คนที่มีอำนาจน้อย เราเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่( immerging democracy) ที่วัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมมีรากเหง้าของวัฒนธรรมศักดินา เผด็จการ อุปถัมภ์อยู่เยอะ ไม่แปลกที่เสียงข้างมากในสังคมไทยจะออกมาอย่างที่เราเห็น ตามเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยความบ้าเลือด ความมักง่ายทางการเมืองที่จะใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยไม่คิดถึงคนอื่นหรือเพื่อนร่วมสังคม


 


ในสังคมที่อยู่ในระยะแบบนี้ มีรากเหง้ามีมรดกตกทอดมาจากระบอบเดิมเยอะ พลังการเมืองอะไรก็แล้วแต่ที่จะช่วยดึงการเมืองในแบบระบอบประชาธิปไตยให้ยับยั้งชั่งใจไว้บ้าง ให้มีดุลบ้าง ผมคิดว่าต้องระดมมาใช้ พลังส่วนหนึ่งที่สำคัญได้แก่ พลังการเมืองภาคประชาชน อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าในเมืองไทยแต่ไหนแต่ไรมาเรามีชนชั้นนำหลายกลุ่ม เราเป็นสังคมที่มีความเป็นพหุนิยมในแง่ชนชั้นนำ แต่ภายใต้ระบอบทักษิณนี้ ต้องยืมคำของอาจารย์ธีรยุทธ(บุญมี) ว่า มันโดนบูรณาการให้เหลือกลุ่มเดียว และต้องยอมภักดีต่ออำนาจรัฐ ชนชั้นนำ กลุ่มต่างๆ ก็คงไม่มีความสุขเท่าไร ผมคิดว่ากลุ่มต่างๆ เป็นทรัพยากรทางการเมือง เป็นพลังทางการเมืองที่เราควรจะระดมให้มาถ่วงดุลการเมืองในช่วงที่คับขัน


 


ผมคิดว่าในทางปฏิบัติมันเกิดมาเป็นระยะ อย่างปัญหาภาคใต้ที่พอเกิดขึ้นรัฐบาลกำลังบ้าเลือดจะลุยแหลก จังหวะคับขันที่ประชาชนมักจะตามรัฐบาล คนที่ออกมาเตือนสติ คนที่ออกมาดึงก็มักจะเป็นชนชั้นนำ ชนชั้นนำด้านกฎ หมาย บรรดาผู้พิพากษา ทนายความต่างๆ ชนชั้นนำตามประเพณี บรรดาผู้นำศาสนา ผู้นำสถาบันหลัก องคมนตรี บรรดาผู้นำในวงการศึกษา วงการสื่อมวลชน ยังโชคดีที่มี ชนชั้นนำเหล่านี้ คนพวกนี้เป็นคนส่วนน้อยในสังคมไทย ผมคิดว่าพลังเหล่านี้ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาได้ช่วยดึงการเมืองในแบบให้มีสติ และเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้ประชาธิปไตยที่ขาดวุฒิภาวะมีแนวโน้มเป็นแบบอำนาจนิยม เบรกไว้ได้เป็นพักๆ


 


สังคมทุกวันนี้ที่มีความเป็นปัจเจกสูง ดูเหมือนแม้กระทั่งปัญหาภาคใต้ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจริงจัง ทั้งไม่รู้ว่าจะร่วมส่วนในการแก้ปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นักศึกษา


 


ผมไม่เคยเห็นกลุ่มคนที่มีความตื่นตัวทางการเมือง และเอาการเอางานอย่างนักศึกษาที่มอ.ปัตตานี ผมลงไปเจอเขาเมื่อประมาณธันวาคมปีที่แล้วเป็นหนแรก ด้วยวิธีคิด ด้วยบรรยากาศ ด้วยอารมณ์ความรู้สึก ผมเห็นเงาของตัวผมและเพื่อนผมเมื่อสมัย 14 ตุลา 6 ตุลาอยู่ที่พวกเขา เขาเป็นกลุ่มคนที่รักความเป็นธรรม รักเพื่อนมนุษย์ รักชาติ เพียงแต่ชาติที่เขารัก อาจจะมีคุณสมบัติ มีสาระสำคัญไม่เหมือนกับบรรดาชาติที่คนไทยส่วนใหญ่รัก เป็นคนที่มีคุณภาพทางการเมืองสูง นี่คือกลุ่มพลังที่สามารถที่จะช่วยดึงสังคมไทยจากความรุนแรงไปสู่สันติวิธีได้ ถ้าเรายอมรับ โอบอุ้ม ให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจและสนับสนุนเขาดีพอ


 


ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีนักศึกษาจากหลายสถาบันลงไปในพื้นที่ ผมก็เห็นเขาหลายคนเปลี่ยน เขาเปลี่ยนจากคนที่ไม่เคยสนใจปัญหาสังคมบ้านเมืองไกลเกินตัวสักเท่าไรหันมาสนใจมากขึ้น ที่จริงก็น่าเห็นใจ ถ้าเรามาเกิดยุคนี้เราอาจจะเป็นเหมือนเขาก็ได้ ก็บริโภคนิยม แล้วก็ไม่สนใจอะไร


 


แต่ตอนนี้นักศึกษามอ.เป็นเป้า กลายเป็นกลับกันคือ จะไล่เขาเข้าป่า เหมือนกับที่เคยไล่รุ่นผมเข้าป่ามาแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันควรจะตรงกันข้าม ควรจะคุยกับเขาให้มากๆ ควรจะดึงเขาให้เข้ามาสู่หนทางของการเมืองภาคประชาชน สันติวิธี ให้เป็นทางเลือก ให้เขาด่ารัฐบาลเพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องมาจับปืนยิงรัฐบาล ให้เขาชุมนุมประท้วงไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล เพื่อที่เขาจะได้ไม่เอาบอมบ์ไปขว้างผู้บริสุทธิ์ ทำไมมันโง่อย่างนี้ ผมไม่เข้าใจรัฐบาลเลย


 


สันติวิธีไม่ใช่ passive หรือยอมจำนน สันติวิธีคือสู้ในทางการเมืองกับการก่อการร้ายภาครัฐ กับความใช้อำนาจอย่างไม่ยุติธรรมของภาครัฐ และกับผู้ก่อการร้ายที่มาฆ่าคนบริสุทธิ์แต่อย่างสันติ ต้องสู้กับผู้ก่อ


การร้ายด้วย แต่ต้องใช้สันติวิธี สู้อย่างไร สู้ตรงจุดอ่อนที่สุดของเขา คือ ใจของเขา


 


ผมไม่รู้จะพูดยังไง เพราะรัฐบาลเคยชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มาแล้ว และคิดว่าน่าจะเข้าใจ รัฐบาลชนะ ไม่ใช่ว่าสามารถยิงชนะพวกผมทุกคน หักปืนทุกกระบอกในมือพวกผม แล้วหลบกระสุนทุกนัดที่พวกผมยิง ฝ่ายรัฐชนะพวกผมเพราะเปลี่ยนใจพวกผม พวกผมวางปืน ประหยัดกว่ากันตั้งแต่ไหน เซฟชีวิตกว่ากันตั้งแค่ไหน


 


บางทีผมรู้สึกว่าเท่าทีทำอยู่ตอนนี้คือ จะนั่งมอเตอร์ไซด์ลาดตระเวนแบบไหนดี พอเริ่มนิยามปัญหาว่าเป็นปัญหาการทหาร คุณคิดแต่เทคนิค มีรถกวาดตะปู กวาดเรือใบ แล้วเขาก็คิดเทคนิคแก้กันไปเรื่อยๆ ซ้อนไปเรื่อยๆ ต้องเปลี่ยนใจเขา


 


ผมคิดว่าศาสนาก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องคุย เพราะตอนนี้ศาสนาถูกใช้จนกลายเป็นวัฒนธรรมความรุนแรงแบบหนึ่งแล้ว แล้วคุณต้องคลี่คลายตรงนี้ จะไปแก้เชิงโครงสร้างตรง 2 เส้นทางนั้นชาติหน้าตอนบ่ายๆ แต่มันมีคนจำนวนหนึ่งเนื่องจากได้รับความไม่เป็นธรรมจาก 2 เส้นทางนั้น ได้ตัดสินใจฆ่าคนบริสุทธิ์โดยการใช้การก่อการร้าย เพราะคำอธิบายทางศาสนา


 


ช่วงต้น ได้พูดถึงการเมืองภาคประชาชน  คิดว่า  ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรมีรูปธรรมอย่างไร


 


ผมว่าใน 14 ข้อที่ กอส.เสนอมามันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่ผมบอกว่า ตั้งนโม ให้ถูกก่อน รัฐบาลชอบพูดว่าทำยังไงจะแย่งชิงมวลชนมาอยู่ฝ่ายเราได้ ทำไงจะไม่เสียคนให้กับเขา ตั้งโจทก์ผิดแต่ต้น มันไม่ใช่แค่พวกเรากับพวกเขา มีพวกประชาชนเป็นพวกที่สาม ผมคิดว่าต้องเริ่มตั้งโจทก์เลยว่า ต้องคิดว่าประชาชนคือเสาทางการเมืองอีกต้นหนึ่ง เปิดพื้นที่ให้พวกเขาบอกว่าจะเอายังไง จะแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรม


ชาติยังไง จะแก้ปัญหาการกระจายอำนาจยังไง จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างมลายยูมุสลิมกับไทยพุทธในพื้นที่ยังไง จะแก้ปัญหาการก่อการร้ายยังไง ให้คำตอบมาจากพวกเขา แล้วรัฐไปอยู่ข้างประชาชนสิ ดำเนินนโยบายตามประชาชนได้ไหม ทำไมรัฐชอบคิดว่ากูเป็นพวกหนึ่ง  ผู้ก่อการเป็นอีกพวกหนึ่ง แล้วประชาชนมาเป็นพวกกู  คิดผิดหมด


 


ถ้าหากมีพวกประชาชนแล้ว สิ่งที่ผู้ก่อการร้ายเผชิญจะไม่ใช่รัฐเท่านั้น แต่เป็นประชาชนกับรัฐ ซึ่งผมคิดว่าผู้ก่อการร้ายจะสู้กับประชาชนและรัฐยากมาก เพราะเขากำลังสู้กับพ่อแม่พี่น้องเขาเอง  กำลังสู้กับคนที่หาคำตอบให้กับตัวเองว่าจะเดินเส้นนี้ ไม่ว่าเส้นนั้นจะแยกดินแดนหรือปกครองตัวเอง ไม่ว่าเส้นนั้นจะเอามลายูแค่ไหน ไม่ว่าเส้นนั้นจะจัดการกับการก่อการร้ายยังไง เขามีเส้นของเขาเอง และถ้าผู้ก่อการจะสู้ก็สู้กับเส้นนี้ ผมคิดว่าผู้ก่อการร้ายจะสู้ยากมาก ถ้าปรากฏพลังที่สาม แต่ตอนนี้ปรากฏว่าสิ่งที่รัฐบาลและผู้ก่อการร้ายทำเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ขยี้พลังที่สาม บีบให้มันแคบ เล็ก แล้วพังไป


 


ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ ผมคิดว่ารูปธรรมออก แล้วมันอาจจะออกมาดี หรือพิลึกพิสดารกว่าที่เราคิด แต่คุณต้องมีพื้นที่ให้เขา ให้สิทธิเสรีภาพ ให้ความสบายใจกับเขาที่จะทำ


 


ตัวอย่างที่ผมได้ยินมาจากพื้นที่เขาบอกว่าตอนนี้วิทยุชุมชนเหี่ยวหมด ทหารขอเข้าไปจัดเพราะไม่ไว้ใจว่าที่พูดยะวีออกวิทยุชุมชนพูดอะไร เพราะฟังไม่รู้เรื่อง แล้วก็จ้างคนตัวเองไปจัด มันเลยกลายเป็นวิทยุทหารในนามวิทยุชุมชน นี่คือรูปธรรมแนวทางที่ผิด คุณควรจะให้เขาเกิดและอาศัยเขาเป็นพลังหลักในการที่จะรับมือ


 


ยกตัวอย่างหนึ่งที่ไปเจออีก คือ กลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกับเอ็นจีโอสู้กับเรืออวนรุนแล้วชนะระดับหนึ่ง คือสามารถตื้อจนกระทั่งกรมประมงออกงบประมาณต่อเรือให้ แล้วเอาเรือนั้นไปลาดตระเวนไล่จับพวกเรืออวนรุน จริงๆ วันนั้นไม่ได้ตั้งใจไป แต่เพื่อนนักข่าวคนหนึ่งชวนไปดูตอนเช้า ก่อนที่จะขึ้นเครื่องกลับช่วงบ่าย ทั้งที่เหนื่อยมาก ผมไม่เคยเห็นแผลในวันเดียวเยอะมากเท่านี้มาก่อน เขาพาผมไปดูคนที่โดนเล่นงานที่ตากใบ แผล แผล แผล แผล แผล แม่งเยอะฉิบหาย แล้วคิดดูว่ารัฐจะต้องเยียวยารักษาแผลเท่าไร ทำไมไปทำแผลกับเขาไว้เยอะอย่างนี้ แต่ในที่สุดผมก็ไป


 


ที่เขาเล่าให้ฟังมี 2 เรื่องที่น่าสนใจ อันที่หนึ่งทหารระแวงชาวบ้านพวกนี้ พอทหารลงไปในพื้นที่ มีอยู่วันหนึ่ง นายพันยกกำลังไป 50 คนเข้ามาที่บ้านแกนนำมาคุย ทำไมต้องมา 50 คน เพราะกลัว ไม่รู้ใครเป็นใคร ลงพื้นที่มาแบบหูหนาตาบอด เพราะงานข่าวกรองในพื้นที่ถูกทำลายไปหมดแล้ว จากความขัดแย้งของทหารและตำรวจ เขาเห็นรวมกลุ่มกันแล้วก็มีเอ็นจีโอด้วย ก็ไม่รู้ว่าทำอะไรบ้าง ไม่ไว้ใจ ระแวงไว้ก่อน


 


ใช้เวลาหลายเดือนที่คุยกัน จนกระทั่งเขาไว้ใจ เขาเลิกมา ในกระบวนการอันนั้นสิ่งที่น่าสนใจมาก คือ กลุ่มประชาชนตรงนั้นต้องดำเนินนโยบายทางการทูตต่อทหาร เพื่อที่จะเลิกระแวง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ดึงเราเข้าไปใกล้จนผู้ก่อการเห็นเราเป็นเป้า ในที่สุดทำได้ ประสบความสำเร็จขนาดที่ดึงทหารไปช่วยไล่จับพวกเรืออวนรุนได้


 


ผมคิดว่ากลุ่มประชาชนในภาคใต้เท่าที่มีต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้ แล้วฝ่ายความมั่นคงต้องคิดว่าเขาเป็นพวกประชาชน ไม่ใช่พวกผู้ก่อการร้าย อย่าไปขู่เขา


 


ในพื้นที่ท่ามกลางความเงียบมันมีความเคลื่อนไหว แล้วเราน่าจะไปเสริมเขา แทนที่จะไปคุมเข้มแล้วทำให้เขาไม่มีทางไป เพราะอันนี้คือพื้นที่ที่ค่อนข้างสงบ ไม่มีการฆ่าฟันเจ้าหน้าที่


 


คิดว่า 14 ข้อของกอส. ถ้ารัฐรับทำทั้งหมดจะแก้ปัญหาได้หรือไม่


 


ผมเห็นวิญญาณของมัน อย่างข้อที่เสนอให้ประกาศว่าเป็นเขตที่ใครมีปืนผิดกฎหมายหมด อันนี้จะแก้ปัญหา vigilante terrorism หรือความรุนแรงไร้สังกัดภาคเอกชน ซึ่งมันจะเกิดถ้ายังแก้ปัญหาการก่อการร้ายไม่ได้ หรือการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสันติสุขประจำหมู่บ้าน ก็คือสร้างหมวกหรือยี่ห้อมาตั้งว่าอันนี้ไม่ผิดกฎหมาย ช่วยให้เขามาร่วมโดยไม่ผิดกฎหมาย แล้วเขาจะได้โผล่ตัวแล้วมาทำงานการเมืองภาคประชาชนได้ คือการสร้างเกราะแล้วเปิดพื้นที่ให้เขาทำ และเป็นการป้องกันตัวเองที่ดีกว่าการใช้ปืน หลายๆ ข้อในนั้นออกมาใน line แบบนั้น


 


แล้วมันมีบทเรียนจากสงครามคอมมิวนิสต์ น่าสนใจมากว่าความขัดแย้งย่อยถูกอ่านด้วยความขัดแย้งใหญ่ คนที่มีความขัดแย้งย่อยอยากอธิบายตัวเองด้วยความขัดแย้งใหญ่  ความขัดแย้งใหญ่ในสมัยนั้นคือ คอม


มิวนิสต์กับรัฐบาล เสร็จแล้วผมไปชอบผู้หญิงคนเดียวกับผู้ชายอีกคน อยู่ๆ ผู้ชายคนนั้นก็มาแย่งผู้หญิงของผมไป ผมก็ไปเป็นทหารป่าแล้วมายิงไอ้นั่นตาย แล้วบอกว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ ตามข้อมูลที่ผมอ่านดูมันเกิดเยอะมาก เกลียดกันเพราะเป็นนักเลงคนละแก็งค์  ฉะนั้น ความขัดแย้งย่อยในบริบทความขัดแย้งใหญ่มันโดนกลืนหมดเลย ในภาคใต้กำลังจะมีกรณีแบบนี้เพราะแต่ละคนมีปืนแล้ว คนมันก็ฉวยโอกาส


 


ความรุนแรงภาคใต้จะมีโอกาสกลายเป็นการก่อการร้ายสากลหรือไม่


 


ถ้ารัฐบาลจัดการไม่ได้ แล้วมี vigilante terrorism เกิดขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะมันจะมีข้อหาว่าคุณเลือกปฏิบัติต่อคนต่างชาติ ต่างศาสนา ถึงเวลานั้นก็คงแย่แน่นอน


 


ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่พยายามแยกคดีให้ชัดเจนระหว่าเรื่องส่วนตัวและเรื่องที่เป็นการก่อการร้าย


 


มันมีการพูดกันหลายทาง แต่อาจารย์ชัยวัฒน์ (สถาอานันท์) มีคำอธิบายที่ง่ายกว่า คือ มันยาก นิติวิทยาศาสตร์มันยาก เจ้าหน้าที่ไม่ได้เรียนมา ก็เลยทำเป็นสงคราม ทำให้เป็นเรื่องเหมารวม


 


นักข่าวเองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริง เพราะมักต้องรายงานจากคำบอกเล่าอีกที เหตุเกิดกลางคืนก็ต้องออกมาทำข่าวตอนเช้า


 


เมื่อคุณเอากำลังทหารเป็นหมื่นคนลงไปพื้นที่ที่เขาไม่รู้จัก แล้วไม่ได้พูดภาษาเขามันก็เป็นปัญหา มีตัว


อย่างเยอะมากในอิรัก ทหารอเมริกันนั่งรถมา บึ้ม โรดไซด์บอมบ์ มันเห็นใครกระโดดลงมามันยิงก่อน เด็กอิรักเล่นเตะฟุตบอลกันอยู่ เปรี้ยงๆๆๆ 10 คนแล้วก็ลากศพมากองรวมกันบอกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จบ แล้วญาติของพวกเขาแต่ละคนก็บอกว่า ไปเป็นผู้ก่อการร้ายดีกว่า


 


นี่คือการคิดแบบไม่มีเส้นแบ่งทหาร พลเรือน คิดแบบนี้แล้วทุ่มกำลังไปเยอะๆ เอาคนติดปืนเอ็ม 16 ไปอยู่กับคนที่คุยกันคนละภาษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net