Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง **


 


            ศาลเจ้า : พื้นที่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ 


ชาวจีนนั้นไม่ว่าจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ใด มักจะนำพาความเชื่อในเทพเจ้าต่างๆ ไปกับตนเองด้วย ชาวจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในยะลาก็เช่นเดียวกัน ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ให้ความเห็นเรื่องศาลเจ้าจีนไว้ว่า "...ศาลเจ้าจีนนั้นนับเป็นศาสนสถานสำคัญอย่างหนึ่งของย่านตลาด เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายของคนจีน" (ศรีศักร วัลลิโภดม 2531:34) ถึงแม้ว่าชาวจีนในยะลาจะไปทำบุญและสักการะบูชาพระที่วัดในวันสำคัญทางศาสนาพุทธเช่นเดียวกับชาวไทยพุทธ แต่เมื่อเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ เกิดปัญหาในชีวิต หรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นครั้งใดชาวจีนนิยมที่จะไปไหว้เจ้าในศาลเจ้าเพื่อขอให้เทพเจ้าคุ้มครอง ปกปักรักษา และดลบันดาลให้มี       ความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพมากกว่าที่จะไปวัด


นอกจากศาลเจ้าจีนจะสะท้อนให้เห็นบทบาทและหน้าที่ที่มีต่อสังคมชาวจีนในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน องค์กรที่ก่อตั้งในรูปแบบของศาลเจ้าจีนยังมีส่วนช่วยสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนชาติพันธุ์ต่างๆ ในยะลาอีกด้วย โดยจะเห็นได้จากงานวันเทกระจาดของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  ในวันที่มีการแจกจ่ายอาหารแห้ง ผู้ที่มารอรับส่วนใหญ่เป็นชาวไทยและชาวมลายูมุสลิม ศาลเจ้าแม่พระโพธิสัตว์เป็นศาลเจ้าหนึ่งที่มีประเพณีการให้ทานในงานวันเกิดเจ้าแม่ งานสิ้นปีและงานวันสารทจีน ในการให้ทานงานวันเกิดเจ้าแม่จะมีการแจกข้าวสารและอาหารแห้ง มีชาวมลายูมุสลิมและชาวไทยจำนวนมากไปรอรับ  ส่วนงานวันสิ้นปี และงานวันสารทจีนทางศาลเจ้าจะจัดอาหารปรุงสำเร็จบรรทุกใส่ท้ายรถกะบะไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ คณะกรรมการศาลเจ้าเล่าว่า โดยมากจะนำไปให้กับชุมชนมุสลิมที่ยากจน


ในอดีตพิธีกรรมการเทกระจาดของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดยะลา เป็นพิธีใหญ่ที่มีคนจีน และ คนไทยไปร่วมรับของเป็นจำนวนมาก ไม่พบว่ามีชาวมลายูมุสลิมไปร่วมในพิธีนี้  แต่เมื่อประมาณ 4 - 5 ปี   ที่ผ่านมามีชาวมลายูมุสลิมไปร่วมรับของบริจาคเหล่านี้ด้วย สันนิษฐานว่าอาจเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาทางการเงิน


 



 


 


 


ในที่นี้ศาลเจ้าไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะในการพบปะสังสรรค์ระหว่างชาติพันธุ์ ผู้คนที่มารับข้าวของเครื่องบริโภคอาจไม่ได้พูดคุย หรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่แห่งนี้ หากความสำคัญของกิจกรรมเทกระจาดเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ขึ้นมา ชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจจากการประกอบอาชีพค้าขาย โดยมีลูกค้ากว่าร้อยละ 80 เป็นชาวมลายูมุสลิม ร้อยละ 20 คือชาวไทยพุทธและชาวจีน เงินบริจาคหรือข้าวสารอาหารแห้งนั้นเป็นผลกำไรจากการค้า นำมาบริจาคด้วยความเชื่อว่าการบริจาคจะทำให้การค้าเจริญยิ่งขึ้น โดยไม่ได้จำกัดว่าผู้รับต้องเป็นใคร ผู้ที่ได้รับบริจาคทั้งหลายก็คือลูกค้าผู้ที่ไปอุดหนุนสินค้าของชาวจีนนั่นเอง ในทางหนึ่งดูเหมือนว่าชาวจีนเป็นผู้อุปถัมภ์ชาวไทยพุทธ และชาวมลายูมุสลิมที่มีฐานะทางเศรษฐกิจน้อยกว่าชาวจีน อีกทางหนึ่งหากขาดคนทั้งสองกลุ่มนี้ ชาวจีนก็อาจไม่มีเงินกำไรมาบริจาคเพื่อธำรงส่งเสริมอาชีพของตนต่อไป


 


การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีต ผ่านการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมาเป็นระยะเวลายาวนานจนสามารถสร้างดุลยภาพในการอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ด้วยเพราะต่างได้เรียนรู้ความแตกต่างโดยธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็ก ทำความเข้าใจและปรับตัวในความหลากหลายเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วยการเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ไม่ลำเส้นความหลากหลายทางความเชื่อ รวมทั้งไม่หมิ่นหยามวัฒนธรรมของคนที่อยู่ร่วมกันมา 


 


ก่อนกาลไม่มี "สมานฉันท์" เราอยู่กันเช่นนี้เอง


 


ท่ามกลางความรุนแรงที่ไร้ผู้กระทำในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลดูแล ปกป้อง คุ้มครองประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้จากเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างไร จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างชาติพันธุ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ร่วมกันเป็นอันดีมาชั่วนาตาปี ตกอยู่ในภาวะหวาดระแวง หวั่นไหว ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันดังที่ผ่านมา กลไกการปรับตัวในการที่อยู่ร่วมกันโดยธรรมชาติเริ่มบกพร่องไป  จนผู้ปกครองต้อง "ปลอบประโลม" ชาว 3 จังหวัดด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เข้าไปช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ซ่อมแซมกลไกการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันที่สึกหรอไป ตลอดจนเรียกคืนความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นให้คืนมาดีดั่งเดิม


 



 


 


บทความนี้ใช้ประกอบงานห้องเรียนสัญจร ครั้งที่ 1 "เข้าใจวิถีมุสลิม" วันที่ 30 กรกฎาคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี ร่วมจัดโดย ศูนย์อิสลามและมุสลิมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี โครงการวารสารข่าวทางอินเตอร์เน็ท ประชาไท และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


เอกสารอ้างอิง


 


จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง. "ชุมชนมุสลิมในเมืองตลาดชายแดนไทย-พม่า:สัมพันธภาพระหว่าง           พหุสังคม วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ และการธำรงชาติพันธุ์." วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและ    มานุษยวิทยาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.


ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. "มุสลิมศึกษา:สังคมศาสตร์ทวนกระแส และ "ความเป็นอื่น," ใน วารสาร   สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 4,1 (มกราคม-เมษายน 2541) : 1-10.


นิธิ เอียวศรีวงศ์. "การศึกษานอกรั้วโรงเรียน."  ใน สังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง.  กรุงเทพฯ : คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา, 2539 (136 - 138) 


แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. "ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมและชาวจีน ย่านสายกลาง จังหวัดยะลา."  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546. 


ศรีศักร วัลลิโภดม. "คนจีนในเมืองไทย," ศิลปวัฒนธรรม 9,4 (กุมภาพันธ์ 2531) : 25-34.


Chavivun Prachuabmoh. "The Role of Women in Maintaining Ethnic Identity and Boundaries : A case of Thai Muslims (The Malay-speaking Group) in Southern Thailand." Ph.D.dessertation in anthropology, University of Hawaii, 1980.


 


 


เชิงอรรถ


* บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ความทรงจำของผู้เขียน และเรียบเรียงบางส่วนจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมและชาวจีนในย่านสายกลาง จังหวัดยะลา


** อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net