Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวการขาดแคลนน้ำของอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ดูเหมือนจะเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งปรากฏทั้งตามสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามสถาบันวิจัยสาธารณสุข (สวรส.) ลงพื้นที่เก็บข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เมื่อประมาณ วันที่ 30 มิ.ย. และ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา


 


จนกระทั่งเมื่อกระแสการคัดค้านนโยบายเร่งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐบาลดังขึ้น จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้าน ตำบลทับมา เมื่อวันที่ 24-25 ก.ค. 48 ทำให้ผู้เขียนและทีมงานประชาไท ได้มีโอกาสลงไปติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดระยองอีกครั้ง เมื่อวันที่ 27-28 ก.ค.48


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 3 ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่ในจังหวัดระยอง โดยมุ่งหวังที่จะเก็บบรรยากาศการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบหากนโยบายของรัฐบาลในการเร่งหาน้ำแผ่ขยายไปถึง


 


เดินทางสู่บูรพาวิถี


 


เป้สองใบกับผู้ชายสองมือสองเท้า พร้อมเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสาย กรุงเทพฯ-ระยอง ในเวลา 15 นาฬิกา 30 นาที วันที่ 31 ก.ค. 48 มุ่งหน้าสู่จังหวัดระยอง จนกระทั่งถึงที่หมายเมื่อเวลา 6 นาฬิกา 30 นาที หลังจองที่พัก และเก็บข้าวของเรียบร้อย ผู้เขียนพยายามโทรติดต่อ คุณสุทธิชัย อัชฌาศัย ซึ่งเป็นมิตรชาวระยองผู้เดียวที่ผู้เขียนพอจะนึกออกในเวลานั้น เรานัดแนะกันว่าพรุ่งนี้ (1 ส.ค. 48) ทางพี่สุทธิ จะนำรถตู้มารับผู้เขียนเริ่มเดินทางเก็บข้อมูลตั้งแต่ 8 นาฬิกา


 


ในเวลานี้ อย่างน้อยการที่มีมิตร แปลกหน้าให้พึ่งพา ก็ทำให้ผู้เขียนสบายใจไปเปราะหนึ่ง


 


แวะเมืองจันทน์ ฯ


 


ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายตั้งแต่ช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2548 คล้ายจะเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้เขียนรับรู้ว่า การเดินทางติดตามปัญหาน้ำภาคตะวันออกครานี้ คงจะประสบกับอุปสรรคครั้งใหญ่หลวง ทั้งจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เป็นใจต่อการลงพื้นที่ และข้อจำกัดทางคุณวุฒิของตนเองที่ยังอ่อนต่อข้อมูลในเรื่องที่กำลังติดตาม


 


ผู้เขียน พี่สุทธิ และมิตรสหายอีก 3 ท่าน ออกเดินทางจากระยอง ในเวลา 9 นาฬิกา โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี แม้จะไม่ใช่แหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนต้องการมากนัก แต่เมื่อเป็นความต้องการและจุดประสงค์ของพี่สุทธิ ผู้หยิบยื่นความสะดวกสบายให้ มีหรือที่ผู้เขียนจะปฏิเสธ


 


การเปิดตัวโครงการบ้านมั่นคงในวันที่สายฝนไม่เป็นใจ ทำให้สภาพของชาวบ้านส่วนใหญ่ ทั้งจากเหนือ กลางอีสาน ใต้ ประดุจผู้ขาดแคลนที่พักอาศัย ซึ่งไม่มีแม้ใบไม้จะบดบัง เพราะขบวนของชาวบ้านจากทั่วสารทิศที่ต้องมารอต้อนรับประธานเปิดงาน อย่างท่านนายกรัฐมนตรี จำต้องหาที่หลบฝนคุ้มภัยกันอย่างเบียดเสียดในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด


 


เมื่อสายฝนทำท่าโหมกระหน่ำรุนแรง ไมตรีจิตจากเจ้าของบ้านมั่นคงหลังหนึ่งที่พร้อมจะเปิดประตูรับผู้เดือดร้อนจากต่างแดน ได้ช่วยให้ผู้เขียน และสหาย รวมทั้งชาวบ้านอีก 7-8 คน พอจะมีหลังคาคุ้มหัว


 


บทสนทนาไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบเล็กน้อยถึงปานกลาง ท่ามกลางฝนห่าใหญ่ ทำให้ผู้เขียนทราบว่า เจ้าของบ้าน 20 หลัง ในโครงการบ้านมั่นคง ต.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี แห่งนี้ เป็นผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน ในเขตตัวเมืองจันทบุรีมาก่อน ปัจจุบันปัญหาที่ผู้อาศัยในโครงการบ้านมั่นคงแห่งนี้ต้องประสบก็คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค เนื่องจากยังไม่มีน้ำประปา ทุกวันนี้แต่ละบ้านยังต้องซื้อน้ำจากรถ ในราคา 120 บาท ซึ่งสามารถใช้ได้ประมาณ 2 วัน


 


หลังจากสายฝนโหมซัดอยู่พักใหญ่ๆ ผู้เขียน คุณโกย มิตรหน้าใหม่อีกท่านที่ร่วมเดินทางลงรถลำเดียวกัน ก็กล่าวคำอำลาจากเจ้าของบ้านผู้มีเมตตาหลังนั้น เพื่อจะเดินทางต่อไปยังริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี ในช่วงเวลาประมาณ 14 นาฬิกา เพื่อเข้าฟังการสัมมนา เรื่อง "แนวทางการแก้ไขวิกฤตน้ำภาคตะวันออก" โดยมีตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก เข้าร่วมการสัมมนา


 


จากการสังเกตการณ์พบว่า ในช่วงแรกๆ ของการสัมมนา ตัวแทนอนุกรรมการลุ่มน้ำหลายท่าน ได้แสดงความเป็นห่วงนโยบายการจัดการแหล่งน้ำของรัฐบาลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก  ทั้งในเรื่องที่จะมีการวางท่อส่งน้ำจากแม่น้ำบางปะกง สู่อ่างเก็บน้ำบางพระ  จังหวัดชลบุรี, การสร้างทำนบปิดกั้นแม่น้ำระยอง เพื่อสูบน้ำจากฝายทับมา รวมถึงการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อส่งให้กับภาคอุตสาหกรรม ว่า อาจจะส่งผกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และระบบนิเวศ  รวมถึงอาจจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันจากสถานการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวก็พิสูจน์แล้วว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเหลือน้อยจนถึงขั้นวิกฤติ


 


ส่วนทางรองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางเกษมศรี หอมชื่น ชี้แจงว่าปัจจุบันภาคอุตสาห กรรมในภาคตะวันออก ก็มีการลดการใช้น้ำลง 10% โดยมีการปรับเปลี่ยนเป็นการหมุนเวียนน้ำจากอุตสาห


กรรมมาใช้ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่มีเหลืออยู่ในอ่างเก็บน้ำ


 


ด้าน นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ ก็น้ำข้อมูลซึ่งเป็นตัวเลขมาชี้แจงในวงสนทนา เพื่อยืนยันว่าปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างน้ำเก็บน้ำต่างๆ ไม่ได้วิกฤติ หากแต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ด้วยวิธีการที่ว่าอ่างไหนมีมากก็จ่ายน้ำมาก อ่างไหนมีน้อยก็จ่ายน้ำน้อย  ซึ่งถ้าสามารถบริหารการใช้น้ำในอ่างให้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมได้ ก็จะไม่มีปัญหา เพราะเดือนหน้าฝนจะตกมากขึ้น


 


ข้อมูลจากหน่วยราชการ ทำเอาคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำหลายท่านเคลิบเคลิ้ม บางท่านถึงกับออกปากชม และอยากให้ มีผู้ที่สามารถอธิบายข้อมูลอย่างกระจ่างชัดเช่นเดียวกับที่ ผอ.ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ อธิบาย  หลังจากนั้นทางรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ก็เอ่ยปากรับคำ ที่จะนำขอเสนอของคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ ยื่นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในช่วงเย็น


 


ผู้เขียนเดินออกจากห้องสัมมนา ดักรอสัมภาษณ์รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ ผอ.ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำอยู่หน้าห้อง หลังการสัมภาษณ์ ผู้เขียนก็เดินมาหยุดรอรถอยู่หน้าโรงแรม มองฝ่าสายฝนปรอยๆ ที่โปรยปราย ตั้งแต่เช้า จนถึงขณะนี้ (เกือบ 17 นาฬิกา) ก็ยังไม่มีทีท่าว่าหยาดฝนบนฟ้าจะหยุดถ่ายเทลงมาเป็นระยะๆ มันสมองบึ้งตึงกับข้อมูลคาดการณ์ หยาดน้ำฝนที่จะหยดลงในเดือนหน้า  พลางตั้งคำถามว่าแล้วหากเดือนหน้าฝนยังไม่ตกอย่างที่คิดจะเป็นเช่นไร? และถึงแม้ว่าน้ำฝนจากฟ้าฟากหยดหยาดสาดซัด กระหน่ำให้ชาวบ้านชุ่มฉ่ำหัวใจ แต่มันจะเพียงพอหรือไม่ที่จะหล่อเลี้ยงการเติบโตอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ซึ่งทวีขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดสิ้นความคิด พาหนะเดินทางที่ถูกหยิบยื่นจากไมตรีของมิตรที่เพิ่งรู้จักคุ้นเคยก็มาถึง


 


เวลาประมาณ 19 นาฬิกา 30 นาที มณีจันทร์ รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี สถานที่แห่งความหวังของชาวบ้านหลายๆ คน ที่ปรารถนาจะพบหน้าผู้นำที่พวกเขาลงทุนลงแรงกาบัตรเลือกเข้าไปนั่งเป็นตัวแทนในสภา เพื่อยื่นขอเรียกร้องสารพัดสารพัน และเป็นสถานที่ซึ่งนักข่าวอีกมากมาย (รวมทั้งตัวผู้เขียนเอง) มุ่งหมายจะล้วงความลับจากปากผู้มีอำนาจไปป่าวประกาศให้ได้ก่อนใคร บัดนี้สถานที่แห่งนี้ยังคาคั่งไปด้วยผู้คน


 


ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง นายปรัชญา สมลาภา ซึ่งมีทีท่าว่ายินดีและมีความหวังต่อแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก หลังจากเข้าร่วมหารือกับ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งในเรื่องการจัดสรรปันส่วนโควตาน้ำในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกที่เหมาะสม และการพัฒนาธุรกิจการค้าอัญมณี


 


บัดนี้ เวลาเกือบ 21 นาฬิกา ผู้เขียนได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ แต่พี่สุทธิ ยังคงยืนรอด้วยความหวังว่า ผู้ที่เคยรับปากจะนำข้อเสนอของชาวบ้านไปยื่นให้ท่านนายกฯ จะออกมาปฏิบัติตามคำสัญญา แต่ความหวังนั้นดูจะริบหรี่ลงเรื่อยๆ ตามความผันแปรของเวลา ภายใต้บรรยากาศเศร้าๆ ของสายฝน เมื่อความหวังนั้นไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด พี่สุทธิและผู้เขียนจึงตัดสินใจเดินทางกลับจังหวัดระยอง เพื่อรอรับข่าวสารวันใหม่ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน


 


23 นาฬิกา เดินทางถึงที่พัก เซ็นทรัล เพลส จังหวัดระยอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net