Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 








เมื่อวันที่ ๘ ส.ค. ศกนี้ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถานำในการสัมมนาMaster Trainers ของโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ในหัวข้อ "การศึกษากับการบ่มเพาะเยาวชนท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม" โดย ดร.ชัยวัฒน์ได้เริ่มจากการหยิบยก keywords ที่น่าสนใจ ๓ คำในหัวข้อปาฐกถา คือ "การศึกษา" "เยาวชน" "วัฒนธรรม" ประกอบไปกับการกระตุ้นการขบคิดด้วยคำถามสำคัญ และเรื่องเล่าที่บอกให้เราได้คิดว่าความรุนแรงบ่มเพาะและหยุดได้อย่างไร

 



โรงเรียนนักฆ่า !?!


เรื่องเล่า๑


 


ในสมัยสงครามเวียดนามกองทัพอเมริกันมีการฝึกอบรมนักฆ่า ด้วยวิธีการ ๓ อย่างคือ หนึ่งเลือกคนที่สามารถจะเป็นฆาตกรได้ ซึ่งมีลักษณะ ก้าวร้าวโดยไม่แสดงออก (passive aggressive) จะเป็นคนที่มีความสามารถในการควบคุมตนเองได้ดี ไม่ใช่คนที่อารมณ์ร้อน เนื่องจากงานนี้ไม่ใช่เอาคนมาทำงานตามใจตัว แต่เป็นคนที่ทำตามคำสั่ง สองสร้างให้เกิดความชาชินต่อความรุนแรง (desensitization) โดยให้ดูภาพยนตร์ที่แสดงความรุนแรงตลอดเวลาและประการสุดท้ายคือทำให้มองอีกฝ่ายไม่เป็นมนุษย์  (dehumanization) โดยคนที่ทำหน้าที่สอนคือนักมานุษยวิทยาที่จะทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมแบบแผนการปฏิบัติของอีกฝ่ายน่ารังเกียจ


 


อาจารย์ชัยวัฒน์ได้เปรียบเทียบว่าการฝึกนักฆ่าดังกล่าวก็คือการศึกษาแบบหนึ่งโดยการสร้างนักฆ่าเกิดขึ้นเมื่อได้คนที่เลือดเย็น ที่มีความรู้สึกชาชินกับอาวุธและวิธีการที่จะใช้ ร่วมด้วยทัศนคติที่มองไม่เห็นคนอื่นเป็นมนุษย์ แต่คำถามท้าทายคือ"ในชีวิตประจำวันของเรา เราถูกทำให้เป็นแบบนี้มากน้อยแค่ไหน"


 


เยาวชนคือ..  แล้วอะไรฆ่า "เยาวชน"


 


เยาวชนคืออะไรเป็นคำถามถัดมาที่อาจารย์ชัยวัฒน์ได้ชวนให้ผู้ร่วมประชุมช่วยกันตอบ คำตอบที่ได้มีตั้งแต่การให้ความหมายเยาวชนว่าคือ บุคคลเป้าหมายที่จะเป็นพลังสำคัญของชาติ, คนที่อายุ ๑๒-๒๐ ปี, คนที่เรามองว่าอายุน้อยกว่า, คนที่กล้าคิด กล้าทำ ฯลฯ


 


เรื่องเล่า๒


 


หลายปีก่อนผมขับรถผ่านแถวสวนลุมพินีหลานสาววัยห้าขวบจ้องมองตึกดุสิตธานีด้วยความสนใจก่อนที่จะถามออกมาว่า "คุณลุงค่ะตึกนี้เขาสร้างจากข้างล่างหรือข้างบน?" เป็นคำถามที่ผู้ใหญ่แบบเราหมดความสามารถที่จะถามต่อ แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่มักจะปฏิบัติต่อคำถามของเด็ก ก็มีตั้งแต่การหัวเราะขำความไร้สาระของคำถาม หรือไม่ก็แก้ไขให้ถูกต้องด้วยความรู้ความเข้าใจที่ผู้ใหญ่มี ถ้าตามความเข้าใจที่มีอยู่เดิมการสร้างตึกยังไงก็ต้องสร้างมาจากฐาน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ในวันนี้ก็เริ่มมีวิศวกรที่ออกแบบการสร้างตึกที่เริ่มจากส่วนบน


 


เยาวชนในความหมายที่อาจารย์ชัยวัฒน์นำเสนอผ่านเรื่องเล่าข้างต้น คือ ความรู้สึกอัศจรรย์ใจกับสิ่งต่างๆ (sense of wonder) อันนำมาซึ่งคำถามที่คนซึ่งถูกทำให้เป็นผู้ใหญ่คิดไม่ถึงหรือไม่สามารถจะถามคำถามที่มาจากความรู้สึกอัศจรรย์ใจเช่นนั้นได้อีกต่อไป ร่วมกับสำนึกที่อยากผจญภัย(sense of adventure) จึงยังทำให้คนๆหนึ่งยังเป็นเยาวชนได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม แต่จากประสบการณ์การสอนของอาจารย์ชัยวัฒน์พบว่า "ยิ่งสอนคนอายุน้อย ยิ่งมีคำถามที่น่าประหลาดใจ" ดังนั้นจึงน่าสนใจเช่นกันว่า อะไรเป็นตัวการฆ่าหรือทำลายความเป็นเยาวชน


 


สิ่งที่ผู้ร่วมประชุมตอบมามีตั้งแต่ การที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมรับฟัง, การไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม, ความเชื่อว่าเยาวชนรู้น้อยกว่า, การคิดแทนเยาวชน, สื่อ, การตักตวงผลประโยชน์จากเยาวชน, การคาดหวังจากเยาวชน, กรอบความคิด/ความรู้สึก, ความกลัวของผู้ใหญ่ และกับดักความคิดที่ไม่ให้เด็กคิดมากกว่ากรอบ


 


อาจารย์ชัยวัฒน์ชี้ว่า คำตอบที่ได้สะท้อนว่าส่วนใหญ่มองว่าผู้ใหญ่หรือสิ่งที่สังคมกระทำต่อเยาวชนนั่นเองที่ทำลายความเป็นเยาวชน ด้วยการตีกรอบ, การกำหนดความคาดหวัง และมักบอกว่ามีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ว่าคืออะไร ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เรียกว่า "การศึกษา" ปัญหาการทำลายเยาวชนส่วนหนึ่งคือการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นตัวทำให้ความรู้สึกอัศจรรย์ใจกับสิ่งต่างๆและสำนึกที่อยากผจญภัยของคนเราหายไป ข้อค้นพบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หากเป็นสิ่งที่เคยกล่าวไว้ในปรัชญากรีกโบราณ


 


การศึกษาฆ่า "เยาวชน" !?!


 


Education is corruption of youth คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปรัชญากรีกโบราณ ที่น่าสนใจคือโดยปรัชญาการศึกษาแล้ว การศึกษาทำอะไร? จากการเปิดประเด็นท้าทายดังกล่าวผู้ร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนว่าการศึกษาที่ทำให้รู้จริงจะไม่ใช่ปัญหาแต่สิ่งที่เรากำลังพูดกันอยู่คือปัญหาการศึกษา, ผู้ร่วมประชุมหลายคนได้ให้ความเห็นใกล้เคียงกันว่า การศึกษาทำหน้าที่เพิ่มความรู้และความรู้ก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น องค์ความรู้ทำให้คำถามหมดไป, การศึกษาจึงช่วยเปลี่ยนให้คนไม่รู้ได้รู้ เปลี่ยนคนไม่มีประสบการณ์ให้มีประสบการณ์ นอกจากนี้การศึกษาคือความเจริญงอกงาม


 


จากคำตอบดังกล่าวนำมาซึ่งการตั้งคำถามชวนคิดต่อไปด้วยว่า ถ้าบอกว่าการศึกษาไม่ใช่ปัญหาถ้า "รู้จริง" ดังนั้นคนให้การศึกษาต้องพยายามที่จะทำให้ตนเองเป็นผู้รู้จริง เพราะถ้าคนให้การศึกษารู้จริงจนคำถามหายไป แล้วเราจะเรียกมันว่า "ความงอกงาม" ด้วยหรือไม่


 


อาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำเสนอต่อด้วยว่าปรัชญาการศึกษาที่เราคุ้นเคยมีสมมติฐานว่า "เขาไม่มี" ดังนั้นผู้ให้การ


ศึกษาจึงต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ และต้องเป็นผู้ที่รู้จริง โดย "รู้จริง" ในที่นี้ต้องรู้ว่าเรามีความรู้จะให้หรือไม่ รวมถึงรู้ด้วยว่าผู้เรียนจะได้รับในสิ่งที่เป็นความรู้จริง  ด้วยความเชื่อดังนี้เราจึงต้องวนเวียนและเหน็ดเหนื่อยกับการพิสูจน์และยืนยันการรู้จริง


 


มีปรัชญาการศึกษาอีกแบบที่มองว่า การศึกษาคือการที่จะทำอย่างไรที่จะเอาของที่มีอยู่ในตัวผู้ศึกษาออกมา และถ้ามองจากรากศัพท์ของคำว่าการศึกษาในภาษาละตินมาจากคำที่มีความหมายว่า "ดึงออกมา" ดังนั้นหน้าที่ของการศึกษาจึงไม่ใช่การใส่ให้แต่คือความสามารถที่จะดึงมันออกมา ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่าผู้เรียนมีความรู้ ความดีงามและศักยภาพของตน และหน้าที่ทางการศึกษาคือการท้าทาย ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ก็ได้ท้าทายต่อด้วยว่า


 


ถ้าเช่นนี้แล้วเราแน่แค่ไหนที่จะไปดึงความสามารถในตัวเขาออกมา และเราแน่แค่ไหนที่จะเห็นความดีของคนอื่นๆ  ดังนั้นการศึกษาจึงอาจไม่ใช่เรื่องทักษะ แต่อยู่ที่การจัดระบบความคิดที่จะให้คนอื่นมีคำถามเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญเรารู้วิธีที่จะดึงส่วนดีของคนออกมาให้เห็นหรือไม่ เพราะหากเราทำได้ การศึกษาจะกลายเป็นเรื่องสนุก เราเรียนรู้จากเขาได้มันสนุกช่วยให้คิดอะไรใหม่ๆ


 


วัฒนธรรมดีงามของ...?


 


"วัฒนธรรม" คือ keyword สุดท้ายที่อาจารย์ชัยวัฒน์กระตุ้นให้ผู้ร่วมประชุมขบความหมายด้วยคำถามว่า "วัฒนธรรมทำหน้าที่อะไร?"  คำตอบที่ได้ประกอบด้วย การทำให้คนเป็นคนดีซึ่งคนดีในความหมายว่าคนที่สังคมนั้นยอมรับซึ่งจะเป็นสังคมย่อยๆก็ได้ (นำมาซึ่งคำถามชวนขบต่อว่าถ้าเช่นนั้นในสังคมเด็กแก๊งก็สามารถที่จะมีคนดีตามความหมายของสังคมนั้นก็ได้ ซึ่งไม่ต้องเหมือนสังคมอื่น!?!), วัฒนธรรมทำหน้าที่เป็นกฎหมายเบื้องต้นที่เป็นวิถีชาวบ้านที่ถือปฏิบัติ, ทำหน้าที่เป็นกรอบสังคมเพื่อให้คนมีความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน


 


อาจารย์ชัยวัฒน์ชี้ประเด็นต่อด้วยว่าถ้าวัฒนธรรมเป็นเสมือนกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เกิดจากคน คำถามต่อมาคือ ใครที่ทำหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์เหล่านี้ใช่คนส่วนใหญ่รึเปล่า แล้วคนส่วนใหญ่ที่ว่านี้คือมนุษย์ที่เสมอกันรึเปล่า


 


เรื่องเล่า๓


 


เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะกดดันให้เกาหลีเหนือยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่การพัฒนาและครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในหลายประเทศมีได้โดยไม่ถูกแทรกแซง กดดัน หรือบังคับแต่อย่างใด


 


ย้อนกลับไปเมื่อ ๙ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๔๕ระเบิดปรมาณูลูกที่สองที่นางาซากิถือเป็นระเบิดที่ไม่จำเป็น เพราะขณะนั้นญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่ใกล้จะแพ้สงคราม ความสูญเสียและเสียหายจากระเบิดลูกแรกที่ฮิโรชิมาซึ่งคร่าชีวิตผู้คนกว่า ๖ หมื่นและส่งผลให้เกิดบาดแผลและความเจ็บป่วยให้แก่ผู้คนอีกเป็นล้านยังไม่ทันจาง ระเบิดลูกที่สองก็ถูกทิ้งลงที่นางาซากิ โดยอเมริกันอ้างความชอบธรรมในการลงโทษเด็กเกเรแบบญี่ปุ่นด้วยระเบิดปรมาณูที่ไร้ความจำเป็น


 


ในมุมมองของอาจารย์ชัยวัฒน์แล้ววัฒนธรรมจึงทำหน้าที่ในการที่จะให้ความชอบธรรมกับบางอย่างและไม่ให้ความชอบธรรมกับบางอย่าง และถ้าเราย้อนมองเกณฑ์ที่บอกว่าอะไรดี เราก็พบว่าผ่านกาลเวลาที่เปลี่ยน สถานที่ที่ต่างไปเกณฑ์ที่ว่านี้ก็เปลี่ยน เช่น ความงามในสมัยนี้กับในอดีตก็ไม่เหมือนกัน ขณะที่แบบของความงามในสังคมที่ต่างพื้นที่ก็ไม่ใช่แบบเดียวกัน


 


ทางออกของสันติวัฒนธรรม


 


อาจารย์ชัยวัฒน์ได้ชี้ให้เห็นว่าสันติวัฒนธรรม(peace culture) เกิดขึ้นเมื่อเราพยายามทำในสิ่งที่เป็นมุมกลับกับแบบการศึกษาของการฝึกนักฆ่า เพราะถ้าสังคมมนุษย์ถูกผลักให้เราไปสู่การเป็นมนุษย์ที่เก็บกดความก้าวร้าว(passive aggressive) เราก็ต้องพยายามเปลี่ยนให้กลายเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความกรุณา(active compassionate) และช่วยให้คนรู้สึกกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น(resensitization) แทนที่ความรู้สึกชาชินกับปัญหา(desensitization)ที่เรากำลังถูกทำให้เป็นอยู่


 


ตลอดจนการสร้างทัศนคติที่ทำให้เห็นคนอื่นเป็น "คน" เหมือนกับเรา แทนที่การที่เราจะเห็นว่าคนอื่นคือความเป็นอื่น หรือคนที่ต่างจากเราต้องด้อยกว่าเรา ดังนั้นเราจึงใช้ความรุนแรงกับเขาได้ โดยรู้สึกว่าเป็นหน้าที่และชอบธรรมที่จะทำ


 


หากเราแทนที่สันติวัฒนธรรมลงไปได้ดังนี้ โศกนาฏกรรมของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่นางาซากิเมื่อ ๖๐ ปีก่อนจะไม่เกิดขึ้นอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net