Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

            ชุมชนเมืองมีการขยายตัวอยู่ตลอดเวลา  พร้อมกันนั้นได้นำมาซึ่งปัญหาหลายด้าน  ยิ่งมีความเป็นชุมชนเมืองมากเท่าไร  ความซับซ้อนของปัญหายิ่งทบทวีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว  เมืองเชียงใหม่นั้นเคยเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่ง  ไม่เพียงในระดับประเทศหรือภูมิภาค  แต่เป็นในระดับโลก  ทว่าในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา  เชียงใหม่มีการขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต  ไร้ทิศทางที่แน่นอน  และขาดการวางแผนที่ชัดเจน  ปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังมาเป็นเวลานาน  จึงค่อยๆเปิดเผยตัวออกมาทีละเล็กทีละน้อย  ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าเชียงใหม่กำลังเจ็บป่วย  แม้ว่าล่าสุดจากการจัดอันดับนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังของสหรัฐฯ  "Travel  and  Leisure"  เชียงใหม่ยังคงติดอันดับ 5 ของเมืองที่ดีที่สุดในโลกจากการลงความเห็นโดยผู้อ่านนิตยสารดังกล่าว  ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่อาจปิดบังสภาพความเป็นจริงที่ต้องได้รับการเยียวยาของเชียงใหม่ได้  เชียงใหม่เวลานี้เป็นอย่างไร  ชาวเชียงใหม่เองน่าจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด 


            แนวความคิดเรื่องเมืองน่าอยู่  ชุมชนน่าอยู่  ตามการจัดแบ่งมุมมองของมูลนิธิพัฒนาไท  แบ่งชุมชนน่าอยู่ออกเป็น 5 มิติ  ได้แก่  เมืองปลอดภัย  เมืองสะอาด  เมืองคุณภาพชีวิต  เมืองธรรมาภิบาล  และเมืองวัฒนธรรม


            เมืองปลอดภัย  คือเมืองที่มีสถิติของอาชญากรรมและภัยพิบัติต่ำ


            เมืองสะอาด  คือเมืองที่มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย  โดยมีดัชนีชี้วัดได้แก่  การผลิตขยะของเมือง  การมีน้ำประปาใช้ในระดับคุณภาพที่สามารถดื่มได้  และชุมชนแออัดที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา


            เมืองคุณภาพชีวิต  คือเมืองที่เอื้อให้ประชากรมีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย  จิตใจ  และสติปัญญา  นั่นคือมีปัจจัยที่พอเพียงทางด้านสุขภาพ  การศึกษา  และเศรษฐกิจ


            เมืองธรรมาภิบาล  คือเมืองที่มีการจัดการบริหารโดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคม  ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  โดยยึดหลัก  "ธรรมาภิบาล"


            เมืองวัฒนธรรม  คือเมืองที่มีขนบธรรมเนียม  ประเพณี  วิถีชีวิต  ศิลปกรรม  และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์


            ศาตราจารย์  ดร.มิ่งสรรพ์  ขาวสอาด  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เปิดเผยว่า  เมื่อจัดอันอับเมืองน่าอยู่ตามมุมมอง 5 มิติดังกล่าว  พบว่าเชียงใหม่ติดอันดับต่ำสุดของตัวชี้วัด 2 ด้าน  คือ  มีอัตราการผลิตขยะสูงสุด  และอัตราการให้บริการน้ำประปาแก่ครัวเรือนต่ำสุด  แต่ในภาพรวมทั้ง 5 มิติ  เทศบาลนครเชียงใหม่มีคะแนนจากการประเมินสูงที่สุดจากทั้งประเทศ  แสดงให้เห็นว่าแม้จะได้คะแนนการประเมินสูงสุด  ก็ไม่ได้หมายความว่าในความเป็นจริงจะเป็นเมืองที่เพียบพร้อมไปเสียทุกด้าน  ยังมีบางด้านที่ยังเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขอยู่


 


ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่


            ย่านวัดเกตอาจเป็นเพียงชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่งซึ่งไม่อาจบรรยายภาพรวมทั้งหมดของเมืองเชียงใหม่ได้  อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นชุมชนเก่าแก่และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประชากรอย่างสูง  จึงอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของเสียงสะท้อนจากผู้คนในเชียงใหม่ได้  วรวิมล  ชัยรัต  หนึ่งในผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและความต้องการของชาวบ้านในย่านวัดเกต  กล่าวว่า  เมืองที่น่าอยู่ต้องมีความสงบ  สวยงาม  สะอาด  มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  ไม่มีการจราจรที่คับคั่ง  มีบรรยากาศของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ผู้คนมีมารยาท  มีศีลธรรม  ซึ่งนั่นคือภาพของเชียงใหม่ในอดีต  การจัดตั้งชุมชนของทางการ  นับเป็นการตั้งโครงสร้างทางการเมืองขึ้นมาทับซ้อนโครงสร้างทางวัฒนธรรม  ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายและความแตกแยกภายในสังคมชาวบ้าน  ส่งผลให้ชุมชนเกิดความอ่อนแอ  ในขณะที่การพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่นั้น  มีใจความสำคัญอยู่ที่การตระหนักว่า  "พัฒนาเพื่อใคร  ให้ใครเป็นผู้พัฒนา  และ  น่าอยู่สำหรับใคร  ใครเป็นคนอยู่"  ร่วมกับสัจธรรมที่ว่า  "ไม่มีใครรู้จักและรักบ้านเมืองของใครได้ดีกว่ากว่าผู้ที่เป็นเจ้าของ"


 


กลับสู่รากเหง้าที่แท้จริง


            จากสายตาของคนภายนอกที่มองเข้ามา  ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.ยงธนิศร์  พิมลเสถียร  ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  กล่าวว่า  เชียงใหม่อาจต้องหวนกลับมาพิจารณาถึงรากเหง้าที่แท้จริง  เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  เป็นที่ทราบกันดีว่าเชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์  มีมรดกทางวัฒนธรรมหลายแขนง  ทั้งที่จับต้องได้  เช่น  อาคาร  สิ่งก่อสร้าง  โบราณวัตถุ  และที่จับจ้องไม่ได้  เช่น  ประเพณี  ความเชื่อ  ที่แสดงออกในรูปของเทศกาล  พิธีกรรม  อาหาร  การแต่งกาย  ภาษา  ฯลฯ  ซึ่งทำให้เกิดเอกลักษณ์ของเมือง  นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของผู้อยู่อาศัย  และความสนใจของผู้ที่มาเยือน  น่าสังเกตว่าผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์เป็นเงื่อนไขที่มีผลต่อทิศทางของการเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่  ในทางการผังเมืองสามารถพิจารณาผลกระทบได้ใน 4 มิติ  ได้แก่  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  สังคม  และการเมืองการปกครอง


 


การมีส่วนร่วม


            ในด้านวัฒนธรรม  จะเห็นได้ว่าเกิดกระแสการอนุรักษ์เมืองเก่ามากขึ้น  และภาครัฐมักใช้เป็นกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว  ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ซึ่งมีวิถีชีวิตต่างจากคนกลุ่มดั้งเดิม  ทำให้ความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคของเมืองเปลี่ยนรูปแบบไป  ในด้านเศรษฐกิจ  มีการศึกษาแล้วว่าการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขยายขอบเขตพื้นที่เมือง  หากภาครัฐยังมีนโยบายเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจให้กับเมืองเชียงใหม่  คนเชียงใหม่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาจากการขยายตัวของเมืองซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการลดลงของทรัพยากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ในด้านสังคม  ปัญหาความยากจนไม่ได้มาจากการมีรายได้น้อยอย่างเดียว  แต่รวมไปถึงการขาดปัจจัยต่างๆในการดำรงชีพ  อย่างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  การเข้าถึงสาธารณูปโภคของรัฐ  และการขาดองค์ความรู้ใหม่ในการประกอบอาชีพด้วย  และในด้านการเมืองการปกครองซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจและการบริการประชาชน  แต่กลับยังไม่มีความก้าวหน้าในการสร้างระบบหรือช่องทางที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาหรือตัดสินใจในโครงการที่มีผลกระทบ  ทั้งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของหลักการบริหารจัดการที่ดี


            แนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่จึงควรมีการถ่วงดุลระหว่างคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการรับกระแสโลกาภิวัฒน์  โดยทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองในทิศทางที่เชื่อมโยงกับสังคมร่วมสมัย  มีการวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งถึงคุณค่ามรดกและวัฒนธรรมของเมือง  และพยายามรักษาหรือส่งเสริมคุณค่าเหล่านั้น  กำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงรูปแบบที่มีมาแต่ดั้งเดิม  ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนและชุมชน  และการกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาในอนาคตที่ยังคงมีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ของเมือง  ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเช่นกัน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net