อนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ มอง "15 ปี สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" ไทยยังมีแต้มต่อในลุ่มน้ำโขง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รายงานพิเศษ

สุธิดา  สุวรรณกันธา

 

"สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเทียบได้กับสินค้าโอท็อปของไทยชิ้นหนึ่ง ที่ซ่อนอยู่และไม่เคยถูกหยิบมาใช้ 15 ปีที่แล้วหอการค้าจังหวัดเชียงรายเป็นองค์กรแรกที่จัดคาราวานจากแม่สาย - จีน เชื่อว่ามีคนจำนวนน้อยมากในขณะนั้นที่รู้จักสิบสองปันนา นี่เป็นจุดเริ่มของโครงการความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และเราก็สามารถผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติเงินงบประมาณพัฒนาเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ"

            "อนันต์ เหล่าธรรมทัศน์" ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดเชียงราย และประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มของโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ในโอกาสที่เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงและความร่วมมือระดับภูมิภาคในทศวรรษใหม่" ที่จัดโดยภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

15 ปี รูปธรรมแห่งความร่วมมือ

            ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือในระดับภูมิภาค 4 ประเทศ คือไทย ลาว พม่าและจีน อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของจีนที่โตแบบก้าวกระโดด ในระยะเริ่มต้นประเทศไทยมองตัวเองว่ายังอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าทั้ง 3 ประเทศ และมองว่าจีนอาจต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 15 ปีจึงจะวิ่งไล่ตามไทยได้ แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะปัจจุบันเรายังพัฒนาไปไม่ถึงไหน ขณะที่จีนไปไกลกว่าเราหลายเท่าแล้ว จากวันนั้นถึงวันนี้วอลุ่มสินค้าที่ค้าขายเฉพาะเส้นทางเดินเรือแม่น้ำโขงมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ลำเรือ ซึ่งเรือ 1 ลำบรรทุกน้ำหนักได้ประมาณ 100 - 150 ตัน

            นอกจากความร่วมมือทางการค้าที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดแล้ว ยังมีโครงการความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญและน่าสนใจมากในกลุ่มสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ  เช่น การสร้างเขื่อนในจีนและลาวเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือความร่สมมือในการผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินลงสู่แม่น้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่อนาคตอันใกล้นี้กลุ่มทุนไทยที่อยู่ทางภาคเหนือก็มีโอกาสสูงมากที่จะเข้าไปลงทุนปลูกพืชเกษตรในลาวและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันสำปะหลัง ที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่จะนำมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนเช่น เอทานอล

 

อนาคตท่องเที่ยวเหนือบูม

            กรอบความร่วมมือของทั้ง 4 ประเทศตามโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ นอกจากมุ่งประเด็นพัฒนาการค้าและการลงทุนแล้ว ยังขยายความร่วมมือไปสู่กรอบด้านการท่องเที่ยว แม้ถึงวันนี้การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก แต่ประเด็นนี้ทุกประเทศก็ให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะจีนที่เริ่มรุกเรื่องการท่องเที่ยวอย่างหนัก จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าในแต่ละวันจะมีเครื่องบินจากยูนนาน - สิบสองปันนากว่า 20 เที่ยวบิน แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนจากยูนนานเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทางภาคใต้ของจีนมากขึ้น คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนที่มาเที่ยวที่สิบสองปันนา และนักท่องเที่ยวจำนวน 20 - 30%ให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยวต่อที่เชียงราย ซึ่งประเด็นนี้ภาคเอกชนจังหวัดเชียงรายกำลังวางแผนว่าจะทำอย่างไรจะดุงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาได้

           

            แต่ก็ยังมีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับเรื่องวีซ่าและหนังสือเดินทางที่ยังไม่เอื้อ แม้ที่ผ่านมาจะพยายามผลักดันให้รัฐบาลไทยจัดทำเอกสารผ่านแดนให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเที่ยวทางตอนเหนือของไทยได้สะดวกมากขึ้น แต่ก็ต้องถูกระงับเพราะจีนเกรงว่าจะมีการหลบเข้าไปประเทศที่สาม ซึ่งเรื่องนี้เราต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้การเดินทางมาท่องเที่ยวยังภาคเหนือของไทยสะดวกมากขึ้น

 

จับตาบทบาท 3 อำเภอหน้าด่าน

            อนันต์ กล่าวว่า ในอนาคตเมื่อระบบโครงข่ายคมนาคมทางบกจากเชียงของ - ลาว - จีนตอนใต้ แล้วเสร็จ  ความเจริญในพื้นที่แถบนี้จะมีมากขึ้น และจังหวัดเชียงรายก็จะเปลี่ยนแปลงไปในหลาย ๆ ด้าน ซึ่ง 3 อำเภอซึ่งถือเป็นหน้าด่านสำคัญคือ เชียงของ เชียงแสน และแม่สาย จะมีบทบาททางการค้าที่สำคัญมากยิ่งขึ้น ในฐานะเป็นเมืองค้าขายในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ อำเภอเชียงของจะมีบทบาทเรื่องโลจิสติกส์ ซึ่งอนาคตสินค้าต่าง ๆ จะมาออกที่ท่าเรือเชียงของมากขึ้น ส่วนอำเภอเชียงแสนจะถูกปรับบทบาทเป็นเมืองท่าขนส่งทางน้ำในด้านท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่อำเภอแม่สายจะมีความชัดเจนของการเป็นเมืองท่องเที่ยวและการค้าทั่วไป

 

ชี้จีนรุกเร็ว-เกมที่ไทยต้องระวัง

            ในระยะที่ผ่านมาของโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ในเรื่องของการค้าขายไทยยังฝันหวานคิดว่าจีนล้าหลังเรา แต่ในระยะ 5 - 10 ปีจีนทันเกมกว่าเรามาก การค้าหลาย ๆ อย่างจีนตัดตอนเราหมด เช่นนักธุรกิจจีนที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยเมื่อก่อนจะผ่านตัวแทนการค้าของไทย แต่ปัจจุบันจีนเข้ามาฝังตัวในไทย ชิปป้งก็เป็นคนจีน โบรกเกอร์ก็เป็นคนจีน ทำให้เราเสียเปรียบมากในช่วงที่ผ่านมา อีกประเด็นสำคัญคือ การค้าในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจยังไม่มีระบบประกันสินค้า ทำให้การค้าและการขนส่งสินค้าใช้ระบบบาร์เทอร์แทน การใช้ระบบ LC แทบจะไม่มี การค้าส่วนใหญ่ยังถ่านโอนสินค้าไม่ถูกกฎหมาย เรียกได้ว่าเป็นระบบใต้ดินทั้งนั้น เพราะไม่มีใครกล้าบอกว่าขายสินค้าเยอะ ๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี

            เกี่ยวกับปัญหานี้ภาคเอกชนก็พยายามผลักดันให้มีระบบประกันสินค้า ผลักดันให้การค้าเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 4 ประเทศคงต้องร่วมมือทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในอนาคต

 

ไทยยังมีแต้มต่อในลุ่มน้ำโขง

            อย่างไรก็ตามปัจจุบันโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจได้รับการยอมรับจากทั้ง 4 ประเทศอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อนาคตเชื่อว่าจะยังคงเดินหน้าไปได้ดี ยิ่งจีนมีนโยบายพัฒนามณฑลด้านตะวันตกทั้งยูนนาน กวางสี เส ฉวน ให้ทัดเทียบกับมณฑลด้านตะวันออก ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสเข้าไปค้าขายหรือโรดโชว์สินค้าของไทยได้มากขึ้น ที่น่าสนใจคือจีนเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมาก ซึ่งคนระดับชั้นกลางของจีนประมาณ 200 - 300 ล้านคน ที่นิยมซื้อสินค้าแพง ๆ และไม่นิยมซื้อของถูก ๆ แม้ว่าขณะนี้จีนจะมีต้นทุนการผลิตสินค้าถูกและมีสินค้าราคาถูกจำนวนมาก ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทย หากผลิตสินค้าคุณภาพดี ราคาไม่สูงเกินไป ก็อาจทำให้จีนกลับเป็นฝ่ายมาซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น และหากทั้ง 4 ประเทศยังมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีต่อกันเหมือนเช่นวันนี้ ก็น่าจะทำให้ไทยมีแต้มต่อทางการค้าอีกมากในลุ่มแม่น้ำโขง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท