หน้าที่ใคร ? ดันเชียงใหม่อันดับ 1 เมืองน่าเที่ยวของโลก !

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สังคมเมืองเชียงใหม่มีปฏิกริยาตอบสนองน้อยเกินไปหรือเปล่า ต่อผลการจัดอันดับของนิตยสารท่องเที่ยวอเมริกา ที่ยกให้เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับ 5 ของโลก

              คนในเมืองเชียงใหม่อาจกำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า   เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?  

            ต่างจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการโหวตจากนิตยสารชื่อดังของอเมริกาอีกเช่นกัน ครั้งนั้นเชียงใหม่ได้ถูกเตือนว่าเป็นเมืองเริ่มน่าเกลียด หรือ Getting Ugly  ก่อให้เกิดการตื่นตัวแทบทุกวงการที่จะหันมาสำรวจและปรับปรุงเมืองในแง่มุมต่างๆ เป็นอันมาก

แต่ครั้งนี้ผู้บริหารเมืองเช่นผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ออกมาแสดงความชื่นชมต่อ

ข่าวนี้  และหยิบยกเป็นผลงานว่าเป็นเพราะได้มีโครงการพัฒนาเมืองร่วมกันจึงส่งผลถึงการเข้าชาร์ตของการโหวตครั้งนี้   ล่าสุดถึงกับขึ้นป้ายรณรงค์ให้ร่วมกันผลักดันให้เป็นเมืองอันดับ 1   ….          

                      คำถามต่อมาคือ…ด้วยวิธีใด ?

                                                            //////

            นี่เป็นครั้งแรกที่เชียงใหม่เข้าชาร์ตการโหวตของ "TRAVEL + LEISURE" นิตยสารท่องเที่ยวอเมริกัน โดยถูกจัดให้เชียงใหม่เป็นเมืองอันดับ 5 ของโลกที่น่ามาเที่ยวที่สุดประจำปี 2005  โดยมีซิดนีย์เป็นอันดับ 1 ซึ่งครองแชมป์นี้หลายต่อหลายปี กรุงเทพมหานครเป็นอันดับ 2  โรมและฟลอเรนซ์แห่งอิตาลีมาเป็นอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ

            นิตยสารดังกล่าวซึ่งสามารถเข้าไปดูข้อมูลทางเว็บไซต์ได้ที่  www.travelandleisure.com  ในหน้าแรก   จะพบกรอบเนื้อหาระบุว่า  "World"s  Best  Awards  2005"  The  very  best  in  travel  ซึ่งจะเชื่อมไปสู่หน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยว

            โดยการจัดอันดับจะแบ่งเป็นหลายกลุ่ม  ได้แก่  โรงแรม  สปา  เมืองและหมู่เกาะ  เรือสำราญ  และอื่นๆ  เชียงใหม่อยู่ในกลุ่มของเมืองและหมู่เกาะ  (Cities  and  Islands)  เป็นอันดับที่ 5  ประจำปี 2005  โดยไม่ติดอันดับในปีที่แล้ว  (2004)  ส่วนกรุงเทพฯอยู่อันดับ 4 ในปีที่แล้ว  และขยับขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 2 รองจากซิดนีย์ในปีนี้

            วิธีการจัดอันดับมาจากการลงคะแนนโดยสมาชิกนิตยสาร  "TRAVEL + LEISURE"  ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมลงคะแนนทางเว็บไซด์  www.tlworldsbest.com  ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม  2005  โดยสมาชิกหนึ่งคนสามารถลงคะแนนได้หนึ่งครั้ง  และสมาชิกที่มีอาชีพอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะไม่ถูกนำมารวมคะแนนเสียงด้วย  ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินสำหรับเมือง  ได้แก่  ทิวทัศน์  ศิลปวัฒนธรรม  อาหารและร้านอาหาร  ผู้คน  สถานที่จับจ่ายซื้อของ  และคุณค่าความสำคัญของเมือง  เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีข้อมูลแสดงในส่วนของจำนวนผู้ลงคะแนน

            ในส่วนเนื้อหาของนิตยสารมีอย่างน้อย 2 บทความเกี่ยวกับเชียงใหม่ที่สามารถเข้าไปอ่านได้โดยคลิกชื่อเมืองเชียงใหม่ในตารางจัดอันดับ 

2 บทความนี้สะท้อนภาพของเมืองเชียงใหม่ในสายตาของนักเขียนต่างชาติ ซึ่งอาจทำให้เรารู้ว่าทำไมเราถึงเข้าชาร์ตเมืองในฝันของนักท่องเที่ยว และอะไรกันคือฝันร้าย

 บทความชื่อ  "Chiang  Mai  Pleasure  Palace"   หรือแปลให้หรูได้ว่า  เรือนสำราญแห่งเมืองเชียงใหม่  เขียนโดย  ปีเตอร์  จอน  ลินด์เบิร์ก ซึ่งเป็นบรรณาธิการ  Travel + Leisure  มีเนื้อหาโดยรวมเริ่มต้นด้วยการบรรยายภาพของโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ลดาราเทวี  กล่าวถึงความใหญ่โตโอ่โถงของและหรูหรางดงามของสถานที่  ยกย่องให้ที่แห่งนี้พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมแห่งล้านนา  สัมภาษณ์เจ้าของ  สถาปนิก และนักเขียนไกด์บุ๊คเมืองเชียงใหม่ที่ชื่อ   โจ  คัมมิงส์  นักเขียนแห่ง  "Lonely  Planet"  

มีการกล่าวถึงข้อขัดแย้งมุมสถาปัตยกรรมของโรงแรมดาราเทวีในเรื่องการนำองค์ประกอบพุทธศาสนามาใช้บ้างเล็กน้อย  ภาพลักษณ์ของเชียงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยปรากฏอยู่ในไกด์บุ๊คว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมเก่าแก่ เมืองหัตถกรรม วิถีท้องถิ่น มาสู่เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เต็มไปด้วยบาร์และผู้คนเบียดเสียด  แต่ก็ยังเป็นเมืองที่ดึงดูดการมาเยือนรวมทั้งการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนของโรงแรมระดับ 5 ดาวอีกหลายแห่ง

  ทั้งนี้ ปีเตอร์  จอน  ลินด์เบิร์ก ได้ให้  โจ คัมมิงส์ ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นเชียงใหม่ในอีกมุมมองหนึ่งที่แสดงให้เห็นภาพในมุมกว้างได้อย่างน่าสนใจ

"นายกฯทักษิณจ่ายไม่อั้นเลยทีเดียวสำหรับการพัฒนาเมืองบ้านเกิดของเขา  แต่โชคไม่ดีเท่าไรที่โครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่จำเป็นสำหรับเชียงใหม่อย่างระบบขนส่งสาธารณะกลับถูกมองข้ามเสีย  ไม่มีกฎหมายควบคุมพื้นที่จัดสรรการใช้ประโยชน์ของเมือง  ไม่มีกฎหมายอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์  ไม่มีการควบคุมยานพาหนะที่เข้าสู่พื้นที่ทางประวัติศาสตร์  เป็นเรื่องน่าขันที่เมืองซึ่งมีพลเมืองในเขตเมืองกว่า 250,000 คน  ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย  กลับไม่มีรถโดยสารประจำทางสาธารณะ  และมีแท็กซี่เพียง 13 คัน  ทั้งชาวเมืองและนักท่องเที่ยวมีเพียง  ตุ๊ก-ตุ๊ก  และ  รถสองแถวเท่านั้นให้เลือกใช้"

อีกบทความ ใช้ชื่อว่า  In the Driver's Seat   หรือแปลให้คุ้นอารมณ์แบบไทยคือ "หลังพวง

มาลัย" เขียนโดย  Alan Brown นักเขียนมือรางวัล และยังเป็นผู้เขียนและกำกับภาพยนต์สารคดีชื่อดังด้วย    เขาเช่ารถและท่องเที่ยวไปทั่วภาคเหนือทั้งเชียงใหม่  ปาย แม่ฮ่องสอน ฯลฯ  เขียนวิถีชีวิตที่เขาพบเห็น

  เขาเลือกใช้วิธีนั่งอยู่หลังพวงมาลัยและท่องเที่ยวไปด้วยตัวเอง เพราะมีเหตุผล

 เขาเริ่มบทความว่า เคยมาเยือนภาคเหนือของไทยราวกลางทศวรรษที่ 80  เชียงใหม่เวลานั้นเชียงใหม่ยังแปลกใหม่และไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวตะวันตกนัก   เชียงใหม่เป็นเหมือนจุดแวะสำหรับการเดินป่าหรือเยี่ยมชมชีวิตชาวเขา 

ตอนนั้นเขาเชื่อว่ารถประจำทางคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเที่ยวชมประเทศและรู้จักผู้คน  เขาจึงพูดคุยกับทุกคนไม่ว่าพระ ตำรวจ  หรือหญิงชรา  แต่ก็พบกับความไม่น่าประทับใจนัก    และเมื่อนึกถึงภาพการนั่งรถเป็นเวลานาน ต้องเกร็งตัวบนที่นั่งที่ไม่ค่อยสบาย ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เบียดเสียดกับผู้คนและหนวกหูจากเสียงวิทยุ  ความโรแมนติกของเขาที่มีต่อรถประจำทางจึงจางหายไป และเลือกที่จะเช่ารถขับไปบนทางที่คดเคี้ยวแทน

            ระบบขนส่งมวลชน  คือมุมที่นักเขียนต่างชาติ สะท้อนให้เห็น     

โจทย์แรกที่ควรทำ   หากต้องการให้เชียงใหม่ไต่อันดับให้สูงกว่านี้   ….ไม่จำเป็นจะต้องขึ้นป้ายรณรงค์ให้เค้นความเป็นตัวเองให้ตอบสนองใดใดเลย   เมื่อรู้สิ่งที่เขาต้องการแล้ว ถึงขณะนี้ตอนนี้ผู้บริหารเมืองคงจะตอบตัวเองได้แล้วว่า   เป็นหน้าที่ของใครที่ต้องเริ่มต้น ??

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท