กองทุนเงินกู้เงินเพื่ออุดมศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.)*

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

(Income  Contingent  Loan  for  Higher  Education): 

กรณีตัวอย่างประเทศออสเตรเลียและการนำมาใช้ในประเทศไทย

 

*เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา  ศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา  วันที่ 4  สิงหาคม 2548  รวบรวมโดย  ดร.สุวมาลย์  ม่วงประเสริฐ  เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการอุดมศึกษา  วุฒิสภา  และนักวิชาการในคณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรม  วุฒิสภา

 

รัฐบาลประเทศออสเตรเลียได้ริเริ่มต้นใช้ระบบเงินกู้ที่ชำระคืนเมื่อมีรายได้  (Income Related-TRLหรือ  Income Contingent  Loan -ICL)  ในหลายรูปแบบ  ในจำนวนนี้รูปแบบการมีส่วนร่วมในการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher  Education  Contribution  Scheme-HECS)  ซึ่งเริ่มใช้ในปี พ.ศ.2532  นับว่าเป็นรูปแบบที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

 

หลักการสำคัญของรูปแบบนี้ได้แก่การกำหนดให้นักศึกษาจ่ายค่าเล่าเรียนของตนเองโดยชะระคืนเมื่อมีรายได้ในอนาคต  เมื่อริเริ่มโครงการนี้หน่วยจัดเก็บภาษีของรัฐบาลออสเตรเลียได้ให้ความเห็นว่า  เรื่องดังกล่าวไม่มีทางที่จะดำเนินการได้  แต่ด้วยการผลักดันในเชิงนโยบายของรัฐบาล  ระบบนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบให้เปล่าทั้งหมดมาเป็นระบบที่ผู้เรียนต้องออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับอุดมศึกษาเองในรูปเงินกู้ยืม  ระบบนี้มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง  จนขณะนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้

 

ผู้ที่คิดระบบนี้ของประเทศออสเตรเลียได้แก่ศาสตราจารย์  Bruce  Chapman  ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันวิจัยด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย  ระบบนี้ได้ถูกนำไปใช้ในประเทศต่างๆ หลายประเทศ  เช่น  ในประเทศนิวซีแลนด์ (พ.ศ. 2534)  แอฟริกาใต้(พ.ศ. 2537)  สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2538) ชิลี (พ.ศ. 2539) อังกฤษ (พ.ศ.2547) เป็นต้น

 

การกำหนดให้ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเกิดจากพื้นฐานทางความคิดดังต่อไปนี้


  1. ผู้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่มักมาจากกลุ่มที่ได้เปรียบในสังคม

  2. การช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐหรือแหล่งอื่นยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างเต็มที่  เป็นเหตุให้มีการจำกัดจำนวนรับเข้า  และการอุดมศึกษาของเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูง  ส่งผลให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา

  3. สำหรับผู้เรียนนั้นการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าครองชีพ

  4. ผู้รับประโยชน์สูงสุดโดยตรงจาการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือ "ผู้เรียน"

  5. ระบบอุดมศึกษาที่เป็นการจัดแบบให้เปล่าถือเป็นระบบที่ไม่เป็นธรรมทางสังคมเนื่องจากผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงคือ  "ผู้เรียน" แต่  "ผู้เสียภาษี"  ต้องมารับผิดชอบในกระบวนการลงทุนนี้ด้วย

  6. การศึกษาระดับอุดมศึกาเป็นกระบวนการลงทุนที่ให้ประโยชน์ต่อสังคมด้วย  รัฐจึงควรเข้าแทรกแซงโดยการให้เงินอุดหนุนบางส่วน

  7. การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องไม่แน่นอน  ผู้เรียนอาจเรียนดีและเรียนจบ  แต่ตลาดแรงงานเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก  หลังจากจบการศึกษาแล้วผู้จบการศึกษาจึงอาจไม่มีงานทำหรืออาจได้งานทำรายได้ไม่ดีก็ได้  ประเด็นนี้อาจส่งผลให้การกู้ยืมเงินธนาคาร  หรือการกู้ยืมเงินของรัฐแต่ธนาคารเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องชำระคืนเกิดปัญหาได้

 

หลักการและวิธีการเก็บค่าเล่าเรียนที่ประเทศออสเตรเลียนำมาใช้


  1. ค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเรียนในแต่ละสาขาวิชาจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความแตกต่างของต้นทุนในแต่ละสาขาวิชานั้น  โดยทั่วไปต้นทุนทางสาขาวิชาแพทยศาสตร์  ทันตแพทยศาสตร์  สัตวแพทยศาสตร์จะสูงกว่าสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์

  2. วิธีการชำระค่าเล่าเรียนจะมี 2 ลักษณะ คือ

2.1     การกู้ยืมเงิน IR-HECS  และชำระหนี้ภายหลังเมื่อมีรายได้ตามที่กำหนด

2.2     การชำระเงินทั้งหมดทันทีหรือชำระอย่างน้อย 500 ดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อลงทะเบียน  กรณีนี้จะได้รับส่วนลด 25% (ส่วนใหญ่ผู้เรียนเลือกใช้วิธีการ 2.1 มากกว่า)  และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ส่วนลดนี้ถูกปรับเปลี่ยนเป็น 20%)


  1. กรณีเลือกวิธีการข้อ 2.1 นักศึกษาจะต้องลงนามในสัญญากู้ยืม  โดยระหว่างการศึกษาและระหว่างการว่างงานหรือมีงานทำแต่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำต้องชะระหนี้  นักศึกษายังไม่ต้องใช้หนี้คืนแต่อย่างใด

  2. มหาวิทยาลัยจะแจ้งยอดหนี้กู้ยืมให้แก่กรมสรรพากรเพื่อจะได้บันทึกยอดหนี้ไว้กับทะเบียนภาษีของนักศึกษา

  3. ในปี 2546-2548  หากนักศึกษามีรายได้ขั้นต่ำถึง 25,348  ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ปี  จะต้องเริ่มชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 3 ของรายได้  และชำระหนี้เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นอัตราสูงสุดของการชำระหนี้อยู่ที่ร้อยละ 6 ของรายได้ (อัตรารายได้ขั้นต่ำนี้ถูกปรับเปลี่วนเป็น 35,000 ดอลลาห์ออสเตรเลีย/ปี  ในปี 2547-2548 และเป็น 36,184 ดอลลาห์ออสเตรเลีย/ปี ในปี 2548-2549)

  4. การชำระหนี้จะไม่ใช่เป็นการชำระหนี้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง  เมื่อใดที่ผู้กู้ขาดรายได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม  สามารถพักชำระหนี้ได้จนกว่าจะมีรายได้อีก

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

Chapman,(2004)  Chapmon,B.  ตามเอกสารประกอบการบรรยายในการประชุมสัมมนาระดมความคิดเรื่องระบบการเงินอุดมศึกษาแนวใหม่ (Income  Contingent  Loen:ICL),  วันที่ 29 ตุลาคม  2547    โรงแรมสยามซิตี้  กรุงเทพฯ

เสนอว่า  ปัจจัยสำคัญในการจัดเก็บเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก


  1. การมีเลขหมายประจำตัวผู้เสียภาษี  กรณีของประเทศออสเตรเลียนั้นการไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

  2. ความถูกต้องในการบันทึกรายการหนี้

  3. การมีระบบการจัดเก็บภาษีที่ครอบคลุมและรัดกุม

  4. การคำนวณรายได้ที่แท้จริงของผู้กู้และระยะเวลาที่ผู้กู้ต้องเป็นหนี้อย่างถูกต้อง  เช่น 10 ปี หรือ 20 ปี

ประเทศที่ต้องการนำระบบนี้มาใช้ต้องคำนึงถึงความพร้อมในปัจจัยสี่ประการข้างต้นเป็นสำคัญ

 

ตัวอย่างของประเทศที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ระบบ IRLหรือ  ICL  (Chapman,2004)

 






ประเทศที่นำไปใช้

 


สาเหตุสำคัญที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

 


1.สหรัฐอเมริกา

 

2.สวีเดน

 

 

3.นิวซีแลนด์

 

 

 

4.ชิลีและแอฟริการใต้


การขาดการประชาสัมพันธ์โครงการ

 

ระบบการจัดเก็บเงินกู้ขาดประสิทธิภาพและไม่ได้ให้กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานดำเนินการ

 

อัตราดอกเบี้ยของระบบเงินกู้สูง  ประชาชนมักเดินทางออกนอกประเทศและไม่ชำระเงินกู้

 

ให้สำนักงานเงินกู้เพื่อนักศึกษา  ระดับอุดมศึกษาจัดเก็บเงินกู้ทำให้ขาดประสิทธิภาพ

 

 

การนำมาใช้ในประเทศไทย

1.  ในคำแถลงนโยบายาของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23  มีนาคม  2548  การจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (Income  Contingent  Loan: ICL)  ได้ถูกกำหนดเป็นนโยบายของรํบบาลภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ  ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ได้เห็นชอบแนวทางตามข้อเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปการเงินอุดมศึกษาตามที่คณะทำงานด้านทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษาและคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเรื่องกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเสนอ  ซึ่งหลักการของกองทุนประกอบด้วย

            1.1  กองทุนฯให้เงินกู้ยืมกับผู้เรียนเฉพาะระดับอุดมศึกษา  ส่วนระดับต่ำกว่าอุดมศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น  ควรจัดสรรเป็นทุนการศึกษาแบบให้เปล่าแก่ผู้เรียนที่ยากจนเพื่อมิให้ผู้เรียนต้องเป็นหนี้เมื่อเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

            1.2 ผู้เรียนต้องรับภาระค่าธรรมเนียมการเรียนตามต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ(Cost  recovery)

            1.3 ผู้เรียนสามารถกู้เงินกองทุนเพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการเรียน  ซึ่งไม่เกินค่าใช้จ่ายรายหัวมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด

            1.4 หากผู้เรียนมีความสามารถที่จะจ่ายก็ให้จ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนได้ทันที  โดยจะมีส่วนลดให้ (Discount)  ส่วนผู้เรียนที่ไม่สามารถจ่ายได้  รัฐจะให้เงินกู้ที่ผูกกับรายได้ในอนาคตแก่ผู้เรียน  และให้ผูเรียนมาใช้คืนเมื่อเรียนจบ  มีงานทำและมีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่เพียงพอกับการครองชีพ  ซึ่งเสมือนหนึ่งผู้เรียนได้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืนเพื่อการศึกษา

            1.5 ผู้กู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องชำระเงินกู้ (ระดับรายได้ขั้นต่ำที่เพียงพอกับการครองชีพ)  ยังไม่ต้องชำระหนี้  และในระหว่างที่ชำระหนี้เงินกู้หากปีใดไม่มีงานทำ  หรือมีงานทำแต่มีรายได้ต่ำหว่าเกณฑ์ของการชำระหนี้เงินกู้ก็ให้หยุดชำระหนี้  จนกว่าจะมีรายได้ถึงเกณฑ์ของการชำระหนี้เงินกู้จึงเริ่มชำระหนี้ต่อไป  และหากผู้กู้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นก็จะต้องชำระหนี้ในอัตราที่สูงขึ้นตามสัดส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งเป็นการชำระหนี้ในอัตราก้าวหน้าตามความสามารถในการหารายได้ของผู้กู้(Ability  to  pay) 

            1.6 ผู้กู้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่กู้ยืม  แต่ผู้กู้ต้องชำระหนี้กู้ตามมูลค่าของเงนิกู้ตามดันชะนีค่าครองชีพ  เพื่อรักษาฐานของเงินกู้ยืมตามราคาปัจจุบัน

            1.7 เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ชำระหนี้เร็วขึ้น  กองทุนฯ ให้สิทธิพิเศษในการลดเงินต้นของผู้กู้ให้มากกว่าจำนวนเงินที่ผู้กู้ใช้คืนแก่กองทุนฯ ตามอัตราที่กองทุนกำหนด

            1.8 ให้กรมสรรพากรเป็นผู้รับชำระหนี้เงินกู้  ผ่านระบบการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับระบบการเสียภาษีเงินได้ของกรมสรรพากร

            1.9 เงินกู้ยืมที่กู้ยืมจากกองทุนฯ เป็นเงินกู้เฉพาะบุคคล  หากผู้กู้ตายหรือทุพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้  กองทุนฯ จะตัดเป็นหนี้สูญและยกเลิกสัญญาเงินกู้  ด้วยวิธีการชำระคืนเงินกู้ยืมตามความสามารถของผู้กู้ดังกล่าว  กองทุนฯ จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาการปลอดหนี้และระยะเวลาในการชำระคืนหนี้เงินกู้

 

2.  คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้จัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับกองทุนในประเด็นต่างๆ ดังนี้

            2.1  กลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาเริ่มต้น

            นิสิต  นักศึกษาปีที่ 1 ทุกคน  ของทุกสถาบัน  ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549  จะเข้าสู่ระบบกองทุนในเดือนมิถุนายน 2549  ส่วนนักศึกษาเดิมจะอยู่ในระบบกองทุนกู้ยมเดิมจนกว่าจะจบ

            2.2 การกำหนดค่าเล่าเรียนพื้นฐาน

                        2.2.1  จะมีการกำหนดค่าเล่าเรียนพื้นฐานของหลักสูตรทั้งหมดใน 6 กลุ่มสาขาวิชา  คือ 1)  สังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์  และศิลปะศาสตร์   2) ศิลปกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์  3)  วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์  4)เกษตรศาสตร์  5)  บริการสาธารณสุข  6) บริการทางการแพทย์

                        2.2.2 ค่าเล่าเรียนพื้นฐานนี้จะสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงของการผลิบัณฑิตแต่ละคน  ในแต่ละหลักสูตร  และประเภทสถาบัน  โดยยอมให้สถาบันปรับค่าเล่าเรียนให้สูงขึ้นหรือต่ำกว่าค่าเล่าเรียนพื้นฐานได้ตามความแตกต่างของแต่ละสถาบัน

                        2.2.3 ค่าเล่าเรียนพื้นฐานในแต่ละกลุ่มสาขาวิชานี้  ภาครัฐจะช่วยออกให้ครึ่งหนึ่งโดยเฉลี่ย  ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือจะเป็นภาระของนักศึกษา  ซึ่งหากจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดโดยทันทีก็จะมีส่วนลดร้อยละ 25 เพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสของเงินที่จ่ายให้สถาบัน

                        2.2.4 ส่วนนักศึกษาที่ไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้นก็แสดงความจำนงขอรับการอุดหนุนจากภาครัฐได้  โดยเงินอุดหนุนหรือเงินกู้ส่วนนี้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแต่รัฐจะปรับค่าของเงินด้วยดัชนีราคาในแต่ละปี

                        2.2.5 สัดส่วนความช่วยเหลือค่าเล่าเรียนโดยรัฐอาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละสาขาวิชา  สาขาวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก  เช่น  วิทยาศาสตร์หรือการแพทย์  รัฐอาจจะอุดหนุนถึงร้อยละ 80 หรือ 90 ได้  ส่วนสาขาวิชาที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนมากกว่า  เช่น  บริหารธุรกิจ  รัฐอาจจะอุดหนุนน้อยลงเพียงร้อยละ 20  หรือ 30 เป็นต้น

                        2.2.6 เมื่อจบการศึกษาแล้ว  การชำระคืนเงินที่ได้รับการอุดหนุนจะไม่เริ่มจนกว่ารายได้ของบัณฑิตผู้นั้นจะสูงถึงระดับขั้นต่ำที่จะเริ่มชำระ  ซึ่งในขณะนี้ระดับที่ว่านี้จะเสนอให้อยู่ที่ระดับรายได้เดือนละ 10,000 บาท  และให้เริ่มชำระเพียงร้อยละ 2 หรือเดือนละ 500 บาท  โดยทางกรมสรรพากรจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บ

                        2.2.7 งบประมาณที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐได้รับจากรัฐในช่วงเปลี่ยนผ่าน  คือตั้งแต่ปีงบประมาณ2549-2552  จะไม่น้อยลงกว่าเดิม  ตามขนาดการรับนักศึกษาตามปกติ  แต่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป  งบประมาณที่รัฐจะจ่ายให้ในส่วนการดำเนินการ  จะถูกกำหนดตามขนาดของจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียน  และระดับของค่าเล่าเรียนที่แตกต่างกันออกไป  ส่วนนี้เป็นส่วนที่เรียกว่า  งบประมาณด้านอุปสงค์ (Demand  side  budget) 

                        2.2.8 ส่วนงบประมาณทางด้านอุปทาน (Supply  side  budget) เช่น  ค่าก่อสร้าง  เงินอุดหนุนการวิจัย  เงินพัฒนาอาจารย์/บุคลากร  จะถูกกำหนดในอีกระบบหนึ่งแยกออกจากกันสำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่จะจัดสรรงบประมาณด้านอุปทานนี้  ขณะนี้คณะกรรมการฯ กำลังพิจารณาว่าจะสามารถทำในรูปองค์กรหรือหน่วยงานพิเศษที่ทำหน้าที่จัดสรรทุนทางด้านอุดมศึกษา  (Higher  Education  Funding  Agency) แต่เพียงอย่างเดียวได้หรือไม่

                        2.2.9 สำหรับนักเรียนที่ยากจน  ถึงแม้จะได้รับความช่วยเหลือทางด้านค่าเล่าเรียนแล้วก็ยังไม่เพียงพอ  เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อการครองชีพ  เช่น  ค่าอาหาร  ค่าเช่าบ้าน  ค่าเดินทาง  ค่าเครื่องแต่งกาย  เป็นต้น  จะได้รับเงินทุนให้เปล่าไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท  ระบบการจัดการทุนให้เปล่านี้  ขณะนี้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษารายละเอียดอยู่

……………………………..

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท