Skip to main content
sharethis

ปัญหาการใช้สารเคมีในสวนกุหลาบ อ.พบพระ จ.ตากจนเกิดผลกระทบต่อชุมชนเป็นวงกว้างถือเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าจับตามองอีกปัญหาหนึ่ง


ปัญหาดังกล่าว แม้จะเกิดขึ้นอย่างเงียบๆไม่หวือหวา ไม่เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะเท่าไรนัก แต่ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนรอบๆสวนกุหลาบโดยเฉพาะชาว ต.ช่องแคบ ถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเอาการ


สารเคมีที่ใช้ในสวนกุหลาบส่งผลกระทบให้ชาวบ้านจำนวนมากมีปัญหาด้านสุขภาพโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจรวมทั้งโรคผิวหนัง หลายคนต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น เพราะตำบลแห่งนี้นับว่ามีพื้นที่ปลูกสวนกุหลาบมากที่สุดแห่งหนึ่งใน อ.พบพระ


 


พืชเศรษฐกิจ จากภาคกลางถึงพบพระ


สวนกุหลาบเริ่มเข้ามาปลูกใน อ.พบพระตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา เป็นการย้ายฐานการเพาะปลูกจากบางจังหวัดในภาคกลาง เช่น นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร เหตุเพราะสภาพดินเสื่อมคุณภาพ ดังนั้นสวนกุหลาบเกือบทั้งหมดจึงเป็นของคนต่างพื้นที่


เหตุที่สวนกุหลาบเหล่านี้เข้ามาปักหลักใน อ.พบพระเพราะสภาพอากาศ สภาพดินมีความเหมาะสม อีกทั้งราคาที่ดินก็ถือว่าไม่แพงมากนัก เหล่านี้คือเหตุที่ทำให้ อ.พบพระกลายเป็นอำเภอที่เต็มไปด้วยสวนกุหลาบ ซึ่งมีพื้นที่ทั้งอำเภอประมาณ 7,000 ไร่กระจายอยู่ทุกตำบล


พันธุ์กุหลาบที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ละรุ่นให้ดอกประมาณ 5 ปี ดอกเหล่านั้นสามารถเก็บขายได้ทุกวัน ขณะที่สวนกุหลาบ 1 ไร่สามารถตัดดอกได้วันละประมาณ 700-1,000 ดอก


ราคาซื้อขายจากสวนปกติซื้อขายในราคาดอกละ 1 บาทแต่ในเดือน ก..ของทุกปีซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก ราคาของดอกกุหลาบจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 4-5 บาท ถือว่ารายได้จากการปลูกกุหลาบสามารถสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำ


ขณะเดียวกัน จากที่สวนกุหลาบเหล่านี้ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญ เจ้าของสวนจึงเอาใจใส่ดูแลแปลงกุหลาบเหล่านั้นเป็นอย่างดี สารเคมีจำนวนมากทั้งสารป้องกันแมลง ป้องกันเชื้อรา รวมทั้งปุ๋ยเคมีนานาชนิดจึงถูกนำมาใช้อย่างมากเพื่อให้ดอกกุหลาบที่ได้มีความสมบูรณ์ สีสันสวยงาม ปราศจากริ้วรอยตำหนิจากการกัดกินของแมลงอันจะมีผลต่อราคาของดอกที่จะลดลงด้วย


และแน่นอน เมื่อพื้นที่สวนกุหลาบซึ่งกินพื้นที่เป็นอาณาบริเวณกว้างพร้อมใจกันใช้สารเคมี คงไม่สามารถปฏิเสธผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อชุมชนรายรอบสวนและต่อสภาพแวดล้อมได้


 


วิกฤตสุขภาพ


นายพิสัณฑ์ ชนะกูล ชาวบ้านดอนเจดีย์ ต.ช่องแคบ เปิดเผยว่า ปัญหาสารเคมีที่ใช้ในสวนกุหลาบส่งผลกระทบต่อชุมชนดอนเจดีย์และชุมชนใกล้เคียงนานกว่า 3 ปี โดยเฉพาะบ้านดอนเจดีย์ซึ่งอยู่ในวงล้อมของสวนกุหลาบนั้นเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาก สวนกุหลาบฉีดพ่นสารเคมีอย่างหนักจนทำให้ชาวบ้านเป็นโรคผิวหนังและโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น มีอาการเป็นผื่นคัน วิงเวียนศีรษะ อาเจียน เมื่อชาวบ้านเหล่านี้ไปหาหมอก็ได้คำตอบว่าเป็นอาการแพ้สารเคมี


นายพิสัณฑ์ กล่าวต่อว่า สารเคมีที่สวนกุหลาบใช้นั้นเท่าที่ตนทราบมีสองประเภทคือยาฆ่าแมลงและยากำจัดเชื้อรา โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อรานั้นมีกลิ่นเหม็นมาก ส่วนลักษณะการฉีดพ่นนั้นโดยปกติสวนกุหลาบจะฉีดพ่น 3 วันต่อครั้งแต่หากเป็นช่วงกุหลาบออกดอกจะฉีดพ่นสูงถึง 2 ครั้งต่อวันทำให้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านเดือดร้อนอย่างหนัก


"โดยเฉพาะเวลากินข้าวหากทางสวนพ่นยาชาวบ้านต้องยกเอาหม้อข้าวหม้อแกงไปเก็บให้พ้นละอองยาและต้องปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อป้องกันสารเคมีเข้าบ้าน ชาวบ้านที่นี่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีแบบนี้มานาน และไม่รู้ว่าจะต้องยกหม้อข้าวหม้อแกงไปหลบอีกกี่ปี" นายพิสัณฑ์กล่าว


            สอดคล้องกับนางยม คำตอง ชาวบ้านดอนเจดีย์ ต.ช่องแคบ ซึ่งเป็นผู้ป่วยจากการได้รับสารเคมีจากสวนกุหลาบ ที่เปิดเผยว่า ตนเข้ารักษาตัวจากการได้รับสารเคมีจากสวนกุหลาบมานานกว่า 2 ปีแล้ว อาการที่เป็นคือมีผื่นคันตามแขนขา มีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง อาเจียน จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพะวอ อ.พบพระ ช่วงแรกต้องไปโรงพยาบาลเดือนละ 3 ครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 400-500 บาท


นางยม บอกอีกว่า บ้านของตนมีสวนกุหลาบมาปลูกติดหน้าบ้าน ห่างจากบันไดบ้านแค่ 10 ก้าวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อทางสวนฉีดพ่นสารเคมีซึ่งปกติจะฉีด 1-2 วันต่อครั้ง ตนและครอบครัวจึงได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ


"ที่ผ่านมาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีเคยไปเจรจากับเจ้าของสวนกุหลาบให้ลดการใช้สารเคมีแล้วหลายครั้ง เพราะนอกจากมีผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้านแล้ว กลิ่นสารเคมีที่เขาพ่นนั้นเหม็นมาก แต่เรื่องนี้เจ้าของสวนไม่ได้ให้ความร่วมมือ เขากลับพูดกับชาวบ้านว่าสารเคมีไม่ใช่น้ำหอม มันก็ต้องเหม็นเป็นธรรมดา ดังนั้นเรื่องนี้ชาวบ้านต้องการให้ทางราชการเข้ามาจัดการแก้ไขโดยเร็ว"นางยมกล่าว


ขณะที่นายธีรชัย ทศรส นายอำเภอพบพระ กล่าวว่า ปัญหาสารเคมีที่ใช้ในสวนกุหลาบส่งผลกระทบต่อชุมชนมานานหลายปี ชาวบ้านเป็นโรคผิวหนังและโรคระบบทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาทางอำเภอพยายามแนะนำเชิงขอร้องให้ทางเจ้าของสวนหันมาใช้สารชีวภาพเพื่อลดปัญหาต่อชุมชน แต่พบว่าสวนกุหลาบเกือบทั้งหมดไม่ได้สนองคำแนะนำดังกล่าวแม้แต่น้อย


 


ปัญหาในเขาวงกต


นายธีรชัย กล่าวต่อว่า ช่วงปลายเดือน มิ..ที่ผ่านมาตนมอบหมายให้ปลัดอาวุโส อ.พบพระไปลงพื้นที่ดูปัญหาสารเคมีจากสวนกุหลาบที่ส่งผลกระทบชุมชนบริเวณ ต.ช่องแคบ โดยใช้แนวทางให้ทั้งฝ่ายชาวบ้านและเจ้าของสวนหันหน้ามาคุยกันด้วยเหตุและผลเพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน


แต่ในการลงพื้นที่พบว่าเจ้าของสวนกุหลาบมิได้ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร หลายรายไม่เข้าร่วมหารือ ดังนั้นทางอำเภอจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการลดการใช้สารเคมีในสวนกุหลาบโดยให้สวนกุหลาบใช้สารชีวภาพแทน


นายอำเภอพบพระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตหากยังพบว่าสวนกุหลาบยังใช้สารเคมีอย่างหนักและสร้างปัญหาให้ชุมชนอีกจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาจัดการกับสวนนั้นๆ โดยจะใช้ พ...สาธารณสุข พ..2535 เข้ามาจัดการต่อไป


"ปัญหาสารเคมีในสวนกุหลาบเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน และนับวันการใช้ยิ่งจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาอำเภอพยายามขอร้องเจ้าของสวนให้ลดการใช้ลงหน่อยเพราะชาวบ้านเขาเดือดร้อน แต่เขาให้ความสำคัญของกำไรมากกว่าผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นอำเภอต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพราะสวนกุหลาบไม่มีสิทธิทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน" นายอำเภอพบพระกล่าว


ขณะที่นางบุญมา คล้ายจินดา เจ้าของสวนกุหลาบรายหนึ่งใน ต.ช่องแคบ กล่าวว่า พื้นที่ อ.พบพระส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากสวนกุหลาบแล้วยังมีพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด พืชผักชนิดต่างๆ ซึ่งใช้สารเคมีในการเพาะปลูกด้วย ดังนั้นปัญหาสารเคมีที่เกิดขึ้นหากจะกล่าวโทษเฉพาะสวนกุหลาบเพียงอย่างเดียวถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมนัก


ส่วนมาตรการของทางอำเภอที่จะให้สวนกุหลาบหันมาใช้สารชีวภาพนั้น นางบุญมา แจงว่า คงเป็นเรื่องยากเพราะสารชีวภาพไม่สามารถป้องกันโรคต่างๆโดยเฉพาะเชื้อราที่จะเกิดขึ้นได้


อีกทั้งตนเชื่อว่าหากใช้สารชีวภาพแล้วคุณภาพของดอกกุหลาบที่ได้จะมีคุณภาพต่ำกว่าการใช้สารเคมีแน่นอน นั่นหมายความว่ารายได้รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของ อ.พบพระจะตกต่ำลงด้วย ทั้งนี้เพราะในความเป็นจริงแล้วปัจจุบันรายได้หลักของ อ.พบพระก็มาจากดอกกุหลาบเหล่านี้


"การใช้สารชีวภาพในสวนกุหลาบนั้น เกษตรกรต้องมีความเสี่ยงสูงแน่ เพราะปัจจุบันแม้ใช้สารเคมีอย่างอ่อนยังป้องกันโรคและแมลงไม่ได้ หากใช้สารชีวภาพยิ่งจะมีปัญหาหนักขึ้น ดังนั้นมาตรการของทาง  .พบพระที่ให้ชาวสวนกุหลาบใช้สารชีวภาพแทนสารเคมีนั้นจะทำให้ชาวสวนกุหลาบทั้งหมดต้องเจ๊งแน่นอน" นางบุญมากล่าว


กรณีเหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆของปัญหาที่เกิดขึ้นจากสวนกุหลาบที่รอวันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้ามาประสานความร่วมมือเพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะหากปล่อยให้รูปการณ์ปัญหาดังกล่าวดำเนินต่อไปเรื่อยๆแล้ว แน่นอนว่าริ้วรอยแห่งผลกระทบต่อชุมชนยิ่งจะปรากฏลุกลามบานปลาย ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้ง การเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับเจ้าของสวนกุหลาบยิ่งจะแหลมคมขึ้นไปอีกด้วย


 


อานุภาพ นุ่นสง


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net