Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา ปรานีเสมอ ขอความสันติ จงมีแด่ศาสดามุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่าน  และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


 


ปัจจุบันมีใบปลิวมากมายกระจาย 3-4 จังหวัดชายแดนใต้ให้ประชาชนหยุดทำงานวันศุกร์โดยดึงเหตุผลศาสาอิสลามมาประกอบ หากใครไม่ปฏิบัติจะถูกข่มขู่เรื่องความปลอดภัย  ความเป็นจริงศาสนาอิสลามมีทัศนะเกี่ยวกับการประกอบศาสนกิจและทำงานวันศุกร์ดังนี้


 


อัลลอฮฺได้ดำรัสในคัมภีร์กุรอานความว่า


 


"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อได้ยินเสียงเชิญชวนการทำละหมาดวันศุกร์ (อะซาน) ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั้นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้  เมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺและจงรำลึกถึงพระองค์มากๆ เพื่อเจ้าจะประสบความสำเร็จ และเมื่อพวกเขาได้เห็นการค้าขายและการละเล่น พวกเขาก็กรูกันไปที่นั้นและปล่อยเจ้า (ศาสดามุฮัมมัด)ยืนอยู่คนเดียว  จงกล่าวเถิด โอ้ศาสดามุฮัมมัด สิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นดีกว่าการละเล่นและการค้าและอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นเลิศในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ" อัลกุรอาน 62 : 10-12 )


  


จากพระดำรัสของอัลลอฮฺได้ชี้แจงให้เราทราบว่า


1.       การละหมาดวันศุกร์เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทุกคน (ที่มีเงื่อนไขครบ) จะต้องละหมาดที่มัสยิดของชุมชน (อยู่ระหว่างเวลาประมาณ 12.15-13.15) ไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพใดและกระทำสิ่งใดนอกจากศาสนกิจดังกล่าวด้วยความตั้งใจและจิตใจทีบริสุทธิเท่านั้น


2.       เมื่อถึงเวลาละหมาดวันศุกร์ทุกคนจะต้องละทิ้งทุกกิจกรรมแต่จะต้องไปประกอบศาสนกิจทันทีเพราะการประกอบศาสนกิจดังกล่าวดีกว่าทุกกิจกรรม                                                                   


      "ในโองการนี้มีภูมิหลังการประทานโองการของพระเจ้าต่อศาสดามุฮัมมัดว่า ในขณะที่ท่านศาสดากำลังให้ธรรมเทศนาก่อนละหมาดนั้นจู่ๆมีกองคาราวานสินค้าบรรทุกเครื่องบริโภคของชายผู้หนึ่งผู้มีนามว่า ดะฮียะฮฺ อัลกัลบีย์ มาจากประเทศซีเรีย กอร์ปกับชาวเมืองมะดีนะฮฺขณะนั้นประสบความหิวโหยและเครื่องบริโภคมีราคาแพง ทำให้ชาวเมืองที่กำลังฟังธรรมเทศนาได้วิ่งกรูไปที่คาราวานสินค้าด้วยความเคยชินเหมือนวันปกติ ปล่อยท่านศาสดาแสดงธรรมเทศนาและเหลือผู้ร่วมฟังเพียง 12  คน  ดังนั้นอัลลอฮฺจึงประทานโองการนี้เพื่อตักเตือนอัครสาวกศาสดาต่อพฤติกรรมหลงผิดดังกล่าวและเปรียบเทียบ การละหมาดและระลึกถึงพระองค์นั้นนั้นดีกว่าการละเล่นและการค้าเพราะระองค์นั้นเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพที่แท้จริง"  โปรดดู al-Zuhaili, Wahbah .1991 : al-Tafsir al-Munir.Berut  : Dar alfikr al-Muasorah. 22/195-196                                                                             


3.       เมื่อเสร็จการปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวทุกคนมีสิทธิที่จะออกไปประกอบอาชีพที่สุจริต


4.       ไม่เพียงเท่านั้นมุสลิมจะต้องละหมาดทุกวันวันละ 5 เวลา (ประมาณ เวลาละ 5-10 นาที  ณ ที่ใดก็ได้)เพราะฉะนั้นการปฏิบัติศาสนกิจจึงมิได้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพเพียงแต่ในวันศุกร์มุสลิมจะต้องใช้เวลามากหน่อยในการประกอบศาสนกิจและจะต้องทำที่มัสยิดของชุมชนเท่านั้นดังนั้นเราจะเห็นว่าในชุมชนมุสลิมโดยเฉพาะมัสยิดกลางปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาสเต็มไปด้วยข้าราชการ  นักธุรกิจ ชาวบ้านและคนทุกสาขาอาชีพไปร่วมละหมาดแต่ที่เป็นปัญหาสักหน่อยคือข้าราชการมุสลิมเขาต้องรีบออกจากที่ทำงานเพื่อประกอบศาสนกิจก่อนเวลา12.00น. และรีบออกจากมัสยิดให้ทันที่ทำงานก่อนเวลา 13.00 น ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับข้าราชการมุสลิมที่จะสามารถทำงานเต็มเวลา (8.30-12.00น.และ13.00-16.30น.เพราะการละหมาดวันศุกร์  12.15-13.15น.)  การหยุดราชการในวันศุกร์จึงเป็นเพียงทางออกหนึ่งในชุมชนมุสลิมเท่านั้นในการแก้ปัญหาการประกอบศาสนกิจแต่อีกหลายปัญหาที่เป็นเชิงระบบในการบริหารแผ่นดินทั่วประเทศที่มีความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายของคน 3 จังหวัดกับทั่วประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องผ่านขบวนการเรียนรู้ ประชุม ปรึกษาหารือของชุมชนโดยเฉพาะพยายามใช้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติมากที่สุดในเรื่องนี้และทุกเรื่องเกี่ยวกับภาคใต้เพราะคนส่วนใหญ่ที่มีแนวคิดแนวสันติให้การยอมรับ


                   


ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอยู่แล้วยิ่งเพิ่มปัญหาเข้าไปอีก


 


โดย อ.อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ดินอะ(อับดุลสุโก  ดินอะ)


shukur2004@chaiyo.com 


 


นักศึกษาปริญญาเอก(ศาสนาเปรียบเทียบ) มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net