สื่อแฉไม่เคยรับประสานเตือนประชาชน เปิดสายเพราะสำนึก /ที่พึ่งยามฉุกเฉิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทั้งเมืองจะโกลาหลมากขึ้นแต่ไหน  หากไม่มีตัวกลางถ่ายทอดความเดือดร้อนและประสานความช่วยเหลือของหน่วยงาน  และนี่คือตัวอย่างความเห็นที่สะท้อนสถานการณ์ฉุกเฉินของเมืองเชียงใหม่ผ่านสื่อวิทยุที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสถานการณ์ฉุกเฉินของคนเชียงใหม่

 

นางสาวปาริสสา กาญจนกุล ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน F.M.100

 

พลเมืองเหนือ : F.M.100 ตัดสินใจอย่างไรเป็นสื่อกลางในสถานการณ์นี้ทันที

ปาริสสา :  วันอาทิตย์ก็มาทำงานที่สถานีตามปกติ พอตอนเช้าเริ่มรู้ว่าน้ำเริ่มท่วมขึ้นฝั่งมา หัวหน้าสถานีคือ  ผศ.นาฏยา ตนานนท์  โทรเข้ามาให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด  พอดีช่วงเช้าเป็นรายการสด เลยเปิดสายให้ประชาชนโทรเข้ามา ก็มีการรายงานตามพื้นที่ต่างๆ ว่าน้ำได้ท่วมแล้ว และขอความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนแจ้งปิดเรียน  แต่พอช่วงหลังจากเที่ยงตามปกติจะเป็นรายการเทป  อาจารย์ก็ให้ยกเลิกผังรายการเดิมทั้งหมด และเรียกผู้ดำเนินรายการของสถานีกลับเข้ามาทั้งหมดบอกว่าจะจัดรายการพิเศษ และขอความร่วมมือกับร่วมด้วยช่วยกัน และนักข่าวจากสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น โดยคุณยุวนันท์ จึงเจริญ ผู้จัดการรายการร่วมด้วยช่วยกันก็ให้ความร่วมมือจัดรายการพิเศษตั้งแต่บ่ายวันอาทิตย์จนถึงสถานการณ์คลี่คลาย

 

พลเมืองเหนือ : ทำหน้าที่ทั้งประสานความช่วยเหลือและติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปาริสสา : เปิดสายหน้าไมโครโฟน  ประชาชนก็แจ้งมาว่าไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ  มีบางองค์กรก็จะช่วยเหลือ รวมทั้งติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   บางทีเขาโทรมากบอกว่ายังไม่ได้รับอาหาร ก็ให้เทศบาลฯ เข้าสายคุยกันออกอากาศเลย  ส่วนใหญ่วันอาทิตย์จะโทรมาถามเส้นทางว่าเข้าทางไหนได้บ้าง จากนั้นก็เป็นเรื่องของอาหาร  และการแก้ไขสถานการณ์ อย่างเช่นประชาชนอยากได้อาหาร รองนายก เทศมนตรีฯ พรชัยบอกว่าให้คนแข็งแรงลุยน้ำออกมาเอา เขาก็เข้าสายมาว่าออกมาไม่ได้นน้ำสูงมากเป็นอันตราย ก็เปลี่ยนมาเป็นหาจุดนัดที่เหมาะสมระหว่างเจ้าหน้าที่เทศบาลกับประชาชน พอเขาได้รับแล้วก็โทรมาขอบคุณ  ก็ดีใจและภูมิใจที่เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

 

พลเมืองเหนือ: มีอุปสรรคในการทำงานไหม

ปาริสสา :  ช่วงแรกก็ขลุกขลัก เลยใช้วิธีโทรเข้าเบอร์ตรงทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี  รองนายกเทศมนตรี ศูนย์อุทกวิทยาฯ ศูนย์อุตุฯ  จราจร ก็ติดต่อได้ ยกเว้นป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยที่ยังติดต่อไม่ได้เลยจนถึงวันนี้  อาจกำลังยุ่ง หรือต้องเตรียมข้อมูลรายงานผู้ใหญ่ 

 

พลเมืองเหนือ: F.M.100 ได้รับการประสานให้แจ้งเตือนประชาชนก่อนล่วงหน้าหรือไม่

ปาริสสา :ไม่ได้รับแจ้งโดยตรง เป็นข่าวที่ได้จากกรมอุตุฯ ก่อนหน้านี้ว่าให้ระวังฝนตกหนักเท่านั้น  สถานีประกาศข่าวไปตามปกติ ไม่ได้เจาะจง  และเทศบาลฯ ก็บอกว่าประกาศเตือนประชาชนแล้วตอนสี่ทุ่มของวันนั้น  แต่ว่าชาวบ้านบอกว่าไม่ได้รับการประกาศ  และสถานีก็ไม่ได้รับ ซึ่งประชาชนที่เข้าสายมาก็พูดว่าน่าจะมีการเตือนภัยกันก่อน ซึ่งคนทำงานในสถานีก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะเชื่อว่าสถานีวิทยุทุกสถานีสามารถประกาศแจ้งประชาชนได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว

 

พลเมืองเหนือ: คิดเห็นต่อการอำนวยการภาวะวิกฤตนี้อย่างๆไร

ปาริสสา: ในการประสานงานนั้นเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ต่างคนต่างทำงาน ในขณะที่ประชาชนเดือดร้อน  น่าจะมีคนที่เป็นหลักที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน  เพราะประชาชนแตกตื่นมาก  คืนวันอาทิตย์มีข่าวลือตลอด  คนหนึ่งบอกน้ำเพิ่ม อีกคนบอกน้ำลด  ส่วนการอำนวยความช่วยเหลือขณะนี้เห็นภาพของเทศบาลฯชัดกว่าของจังหวัด  ที่สำคัญคิดว่าถ้านายกรัฐมนตรีไม่ลงพื้นที่ก็ไม่รู้จะมีศูนย์ให้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยมามาควบคุมดูแลหรือไม่   เพราะตอนที่ไปทำข่าวสัมภาษณ์รัฐมนตรีเสริมศักดิ์ ก็บอกว่านายกรัฐมนตรีต้องการให้มากระจายงานไม่ให้สับสน ก็ไม่แน่ใจว่าถ้านายกฯ ไม่มาจังหวัดจะประชุมหรือไม่ 

 

อภิชัย มัทวพันธ์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุอ....เชียงใหม่ 100.75

 

พลเมืองเหนือ : อสมท.ตัดสินใจให้ประชาชนเข้าสายขอความช่วยเหลือเมื่อไหร่

อภิชัย : เมื่อวันเสาร์ผมเฝ้าฟังวิทยุสื่อสารก็รู้ว่าที่เชียงดาวมีน้ำท่วมผิวจราจร จากนั้นก็มีน้ำป่าไหลบ่าเข้ามาและดินสไลด์  ก็โทรเข้ามาแจ้งเหตุให้กับสถานี พอวันอาทิตย์เข้ามาทำงานแต่เช้าก็ได้พูดถึงเรื่องการเตือนภัยน้ำท่วมว่าหากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องอย่างนี้น้ำจากตอนเหนือจะใช้เวลาไหลมาถึงตัวเมืองราว 6-7 ชั่วโมงตามข้อมูลที่ศูนย์อุทกฯ ให้ไว้ แต่ปรากฏว่ามีผู้ฟังที่บ้านอยู่หนองหอยใกล้สะพานเม็งรายสะท้อนมาว่าน้ำมาถึงหนองหอยแล้ว เลยตรวจสอบกับศูนย์อุทกวิทยา  ระหว่างนั้นเป็นการถ่ายทอดข่าวและรายการถ่ายทอดของสถานี เลยใช้เวลาช่วงนั้นตรวจสอบข้อมูลจากหลายหน่วยงาน  และก็มีประชาชนโทรเข้ามาเรื่อยๆ เลยตัดสินใจใช้เวลา 10.00 . เป็นต้นไปที่จะต้องมีนักจัดรายการมาดำเนินงาน ก็คุยกันขอแจมเขาเป็นรายการสด ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ประชาชนแจ้งความเดือดร้อนร่วมกันทันที ทั้งเรื่องเส้นทางจราจร และการขอความช่วยเหลือ

 

พลเมืองเหนือ : เกิดเหตุวิกฤตวันอาทิตย์ ทำงานยากไหม

อภิชัย : ต้องใช้ความพยายามในช่วงวิกฤตซึ่งลำบากมาก เพราะไม่มีส่วนราชการใดที่มีคนทำงานเลย จนต้องโทรเข้ามือถือผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ว่าจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไร กว่าจะได้  ถือว่าส่วนใหญ่ช่วงแรกของเหตุการณ์เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประชาชนกันเอง และแพร่กระจายออกไป  ไม่มีหน่วยงานราชการใดที่เกี่ยวข้องโทรเข้ามาแจ้งอย่างเป็นทางการเลย   มีเพียงหัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเท่านั้นที่เข้าสายมาขอให้นายจ้างยืดหยุ่นการทำงานให้ลูกจ้าง นอกนั้นเราประสานเข้าไป ซึ่งพยายามประสานกับศูนย์ 191  หรือศูนย์ของเทศบาล 199 ก็ใช้ไม่ได้ต่อเนื่องจนถึงวันจันทร์ก็ยังติดต่อลำบาก

             

พลเมืองเหนือ : อสมท.ได้รับประสานให้ประกาศเตือนประชาชนก่อนหรือเปล่า

อภิชัย: ไม่ได้รับการประสานมาก่อนเลย พอเราเปิดให้ประชาชนโทรเข้า  หัวหน้าสถานีก็ให้เกาะติดสถานการณ์ตลอด

 

พลเมืองเหนือ : มีข้อคิดเห็นต่อการเตือนภัยและการอำนวยการช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์อย่างนี้อย่างไร

อภิชัย: ที่จริงเหตุการณ์เช่นนี้  มีการคาดการณ์มาล่วงหน้า แต่ผมคิดว่าเราเตรียมการป้องกันช้าเกินไป หรือไม่ทัน หรือไม่ได้เตรียมการเลย  รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุแล้วการออกให้ความช่วยเหลือก็ไม่มี ยิ่งใกล้เย็นวันอาทิตย์ยิ่งวิกฤต  นี่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการช่วยเหลือ   ข้อด้อยที่เกิดขึ้นคือน่าสังเกตคือ ศูนย์บรรเทาสาธาณภัยไปไหน  การติดต่อของประชาชนยากมาก เหตุการณ์ขยายวงกว้างอย่างนี้ ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพช่วยตัวเอง  เบื้องต้นหน่วยงานท้องถิ่นออกก่อน  ป้องกันภัยจังหวัดไปไหน หน่วยงานกรมป้องกันอยู่ที่ไหน อุปกรณ์ต่างๆ ไม่พร้อม  เรือท้องแบบไม่มีใช้  และไม่รู้ว่าตอนเย็นทหารที่ออกมาเพราะกระแสจากข่าว หรือได้รับบัญชาจากไหนก็ไม่รู้ จนเหตุการณ์วิกฤตแล้วถึงเริ่มออกมา  และไม่มีการบัญชาการเลยเกิดข่าวลือเช่นแม่งัดจะปล่อยน้ำ ต้องตรวจสอบว่าไม่เป็นความจริง   หรือแม้แต่พยายามจะตั้งศูนย์ขึ้นในวันอาทิตย์ การประสานงานก็ไม่ดี ข้อมูลก็สับสนอลหม่าน  แล้วพอติดต่อได้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีใครกล้าให้ข้อมูลอีก อีกอย่างพอนายกรัฐมนตรีมา เจ้าหน้าที่ต้องไปอำนวยความสะดวกอีก เกิดช่องว่างความช่วยเหลือ ชะงักไป

 

เหตุการณ์ลักษณะนี้หากเราไม่พูดถึงการป้องกันเพราะเป็นเหตุกะทันหัน แต่การช่วยเหลือนี่สิ ช้ามาก  หรือเป็นวันหยุดเลยช่วยเหลือประชาชนกันไม่ได้  เลยทำให้ประชาชนพึ่งสื่อทุกสื่อเป็นคำตอบสุดท้าย หลายๆ สถานีหลักต้องเปิดสายให้เป็นสื่อของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท