Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


"ชาติพันธุ์บริสุทธิ์" ในสยาม เป็นลักษณะมักถูกนำมาใช้อ้างความเป็น "คนไทย" เพื่อแสดงความ"รักชาติ" อย่างคลั่งไคล้ และปฏิเสธชาติพันธุ์อื่นที่อยู่ในประเทศว่าไม่ใช่คนไทย จนกลายเป็น อคติอย่างหนึ่ง สุดท้ายก็กลายเป็นเชื้อปัญหาความขัดแย้งที่รอวันประทุขึ้นมา หรืออย่างที่เกิดขึ้นแล้วใน พื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศ


 


ความยึดถือว่า "ความเป็นคนไทย" คือ เจ้าของประเทศ คงต้องกลับมานั่งตีความหมาย ของคำว่า "คนไทย" เสียใหม่ เพราะกว่าจะมาถึงปัจจุบัน ชาติพันธุ์ต่างในประเทศได้ร่วมสร้างและผสมผสานกันจนหาเชื้อไทยบริสุทธิ์ไม่ได้ และคงหาไม่ได้มาตั้งแต่ สมัยสุโขทัยแล้ว เพราะความเป็นจริง "รัฐสยาม" สร้างขึ้นมาด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม


 


คงไม่ต้องย้อนกลับไปไกล แต่แค่ลองมองในกรุงเทพฯ สักสองสามย่าน จะพบว่าแต่ละย่าน มาจากชาติพันธุ์ต่างๆ  ที่มีอายุประวัติศาสตร์มาเป็น ร้อยปีที่มาตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่แห่งนี้ และนานพอที่จะผสมผสานกลมกลืนกัน จนเรียกได้ว่า ทุกเผ่าพันธุ์คือ ผู้สร้างประเทศสยาม และมีสิทธิ์ที่จะรู้สึก ถึงความเป็น "ไทย"ได้ โดยเท่าเทียมกัน


 


แต่ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน เมื่อเกิดปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาติพันธุ์ "แขก" อันเป็นคนส่วนมากในพื้นที่ 3 จังหวัด และเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือที่เรียกว่า มุสลิม กลับเป็นเป้าถูกมองว่าสร้างปัญหา และกำลังถูกทำให้เป็นอื่นในสังคมไทยมากที่สุด


 


ทั้งๆที่ความจริง "มุสลิม" คือส่วน หนึ่งที่ร่วมเป็นผู้สร้างรัฐสยาม มาโดยตลอด ในทางกลับกัน หากมีการพิจารณากันจริงๆ รัฐ "ไทย" เอง ต่างหาก คือผู้ยัดเยียดความเป็นไทยแบบเดียวจนเป็นจิตสำนึกสั่งสมในสังคม ที่ทำให้ความแตกต่างที่เคยอยู่ร่วมกันได้ในอดีต เริ่มจะมีร่องรอยแห่งความไม่เข้าใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ และรัฐเองก็กำลังทำให้ผู้ที่มีชาติพันธุ์ต่าง วัฒนธรรม ต่าง กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ที่มีศักดิ์ศรีด้อยลงมาจากผู้ที่ทำตามวัฒนธรรมส่วนกลาง


 


ใน 3 จังหวัดที่กำลังเป็นปัญหาในเวลานี้ ในอดีต รัฐสยาม พยายาม ยัดการปกครองจากส่วนกลางไปให้ โดยความชอบธรรมในศักยภาพทางการทหาร และไม่คำนึงถึงบริบทที่มีความแตกต่างในหลายๆด้าน ซึ่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความชัดเจนอย่างมาก


 


"การสร้างความแตกต่างทางวัฒนธรรมแท้จริงแล้วไม่ใช่ตัวปัญหาหลัก แต่ภาครัฐบาลหรือการเมืองที่เข้าไปแทรกแซงตรงนี้ทำให้ความต่างทางวัฒนธรรมกลายเป็นปัญหาขึ้น ที่อาจารย์ธเนศ ยกตัวอย่างคือเรื่อง เชื่อผู้นำชาติ พ้นภัย ก็มีการพูดถึงเรื่องการให้สร้างเอกภาพของประเทศ เช่น รณรงค์เรื่องการแต่งกาย มีอันนึงน่าสนใจมาก เป็นเรื่องอย่า ผู้ชายอย่านุ่งโสล่ง อย่าเปลือยกายท่อนบน อย่าโกนหัว อย่าใส่หมวกแขก หรืออย่าโพกหัว ประกาศอันนี้ติดอยู่ที่ จ. สงขลาซึ่งเป็นหนึ่งที่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ได้อย่างไร ถ้าเราไม่เคารพซึ่งความแตกต่างอันนี้" นายรุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์กล่าว ไว้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ในงานห้องเรียน สัญจร "เข้าใจวิถีมุสลิม"


 


จากเหตุผลดังกล่าว ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องคำนึงถึงความเป็น "ไทยมลายู" ที่มีภาษาเฉพาะ อันเป็นสิ่งสำคัญในการแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่รัฐเองควรปรับตัวเพื่อการสื่อสารกับคนในพื้นที่ให้มากขึ้น "อิสลาม" อันเป็นทั้งกฎหมายสูงสุด อันมาจากพระเจ้า ที่ไม่อาจบิดเบือนได้ในความคิดของศาสนาอิสลาม ดังนั้น การจัดการของภาครัฐต้องคำนึงถึง ข้อจำกัดทางศาสนาด้วย


 


ข้อสังเกตประการหนึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ชาวไทยพุทธเองกลับเป็นคนกลุ่มน้อยที่ชาวมุสลิมไม่เคยตั้งกำแพงทางวัฒนธรรม จนให้รู้สึกถึงความเป็นอื่นในพื้นที่ ความสัมพันธ์ในแนวระนาบจึงไม่เคยมีปัญหาในเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้อง แต่ทุกครั้งที่ปัญหาภาคใต้ประทุ น่าจะเป็นปัญหาที่ต้องการส่งสัญญาณบางอย่างไปถึง "ภาครัฐ" มากกว่า


 


ดังนั้น ความเข้าใจ ในวิถีมุสลิม และชาติพันธุ์"แขก" ในสังคมสยาม คือสิ่งที่ควรหันกลับมาให้ความสำคัญที่สุด  ก่อนที่ ปัญหาอันเกิดจากความไม่เข้าใจ และความ "คลั่งชาติ" อย่างเป็นบ้าเป็นหลังจะย้อนกลับมาทำลายระบบความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างความต่างทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาจากอดีตกาล จนไม่อาจเยียวยาได้อีกต่อไป


 


 


 


มุสลิม : หุ้นส่วนการสร้างรัฐสยาม


 


เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา  "ประชาไท" คณะวิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชพัฏ ธนบุรี สร้างห้องเรียนสัญจรเล็กขึ้น ทำ "ความเข้าใจในวิถีมุสลิม" โดย ลงพื้นที่ชุมชนมุสลิมฝั่งธนบุรี ซึ่ง ไม่ไกล จาก สามองค์กรพันธมิตรดังกล่าวนัก 


 


ก่อนหน้าที่จะเดินทางสู่ชุมชน อาจารย์เสาวนีย์ จิตต์หมวด รศ.ประจำภาควิชา มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏธนบุรี ได้ปูความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคนมุสลิม แก่เหล่านักเรียนสัญจร ทั้งค่อนข้างเด็กและทั้งที่มีอายุ ว่า มุสลิมในไทยมาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ภาคเหนือก็เป็นเชื้อสายจีน ภาคใต้เป็นเชื้อสายมลายู นอกจากนี้ก็มีทั้ง เขมร มอญ จาม ลาว อินเดีย


 


ส่วนลักษณะเด่นๆที่มุสลิมทุกเชื้อสายทำคล้ายๆกันคือ การรวมเป็นกลุ่ม เช่น จาม หรือ มอญ เป็นตั้งชุมชนบ้านครัว กลุ่มเชื้อสายชวารวมกลุ่มที่มัสยิดยะหวา กลุ่มเชื้อสายมลายูปัตตานีตั้งชุมชนบ้านแขก หรือกลุ่มเชื้อสายอินเดียก็รวมกลุ่มกันบริเวณมัสยิดฮารุน ในระหว่างกลุ่มก็จะมีการสัมพันธ์กันอยู่ หรือมีการแต่งงานกัน จนปัจจุบันมีความกลมกลืนกันไปหมด


 


หลังจากฟัง อาจารย์ เสาวนีย์ เล่าอย่างเพลิดเพลินแล้ว เมื่อลองมามองในบริบทรอบข้างที่มากกว่าความเป็นมุสลิมที่ต่างกลุ่มชาติพันธุ์กัน กลับพบคำถามที่น่าสนใจว่า ชุมชนมุสลิมเหล่านี้ อยู่ท่ามกลาง วัฒนธรรมพุทธ อันเป็นวัฒนธรรมหลัก ในสยามอย่างไม่แปลกแยกมาตั้งแต่อดีตได้อย่างไร


 


อาจารย์ ทำเนียบ แสงเงิน นักวิชาการมุสลิมชุมชนมัสยิดต้นสน ได้ช่วย อธิบายให้ฟัง ระหว่างการเดินทาง ไปมัสยิดต้นสน ว่า ความสัมพันธ์ของรัฐสยาม กับ มุสลิมว่า มีมาตั้งแต่ใน สมัยสุโขทัย หรืออยุธยา โดยจะเห็นบทบาทเด่นชัดในช่วง สมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่ง ขณะนั้น  "เฉกอะห์หมัด"[i] เชื้อสายอาหรับ จาก เปอร์เชีย เข้ามารับราชการ ตำแหน่งกรมท่าขวา


 


เฉกอะห์หมัด มีบทบาทต่อรัฐสยามมากโดยเฉพาะในด้านการค้าและการทูต ทำให้ในสมัยนั้นมีชุมชนชาวมุสลิม อยู่กว่า 3000 หลังคาเรือน มีมัสยิดเติร์กเป็นศูนย์กลาง และต่อมา ได้รับตำแหน่งเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี[ii] มีความสำคัญด้านการศึก ในฐานะผู้คุมกำลังกองอาสามุสลิม ในกองทัพสยามด้วย


ครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้เกิดกบฏญี่ปุ่นขึ้น เฉกอะห์หมัด ก็ได้นำกองกำลงอาสาแขก อาสาชาติต่างๆและกองกำลังทหารไทย เข้าปราบกบฏดังกล่าว  


 


ชาวมุสลิม ที่มีบทบาทต่อรัฐสยามอีกคนหนึ่ง ได้แก่ หลวงศักดิ์นายเวร(หมุด.มะห์มุด) เป็นเชื้อสาย ของสุลต่านสุลัยมาน[iii] ซึ่งต่อมาเป็นพระยาจักรีศรีองครักษ์ หลังกรุงศรีอยุธยาแตกได้เก็บเงินอากรจากภาคตะวันออกรวม 300 ชั่ง เข้าร่วมกับพระยาตากสิน รวมพลสร้างกองทัพและกองเรือ เข้าตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า ใน พ.ศ.2310  และได้มาร่วมสร้างเมืองหลวงใหม่  ที่ กรุงธนบุรี


 


ใน พ.ศ.2314 พระยาจักรีฯ(หมุด)แม่ทัพเรือกองเรือทัพหลวง ร่วมทัพกับ สมเด็จพระเจ้าตากสิน จัดทัพปราบกัมพูชา และ ในพ.ศ. 2317 ได้ถึงแก่กรรม สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาร่วมพิธีศพที่มัสยิดต้นสน และพระราชทานที่ดินด้านหลังกุบุร เพิ่มด้วย ต่อมามัสยิดต้นสน ก็กลายเป็นที่ฝังศพของ จุฬาราชมนตรีอีกหลายคนด้วย


 


ในบันทึกปาฐกถา ฯพณฯ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ ห้องประชุมคุรสภา สวนกุหลาบวิทยาลัย 12 กค. 2501 ก็ได้กล่าวถึงบทบาทของชาวมุสลิมกับรัฐสยาม โดยเฉพาะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถึง สมัยรัชกาลที่ 5 กับการรักษาเอกราชจากการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกไว้อย่างชัดเจน และยอมรับว่า มุสลิม คือผู้ร่วมสร้าง "ประเทศไทย"


 


"โดยเฉพาะในตอนท้ายๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 มา ประเทศตะวันตกในแพร่อาณาเขตในตะวันออกอย่างขนานใหญ่เป็นลัทธิล่าเมืองขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาอย่างหนัก ข้าราชการที่เป็นมุสลิมในกรมท่าขวาซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย เรียกได้ว่าร่วมมือในการพิจารณาปัญหา ที่จะช่วยประเทศไทยรอดจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา จนถึงรัชกาลที่ 4 ตลอดจนถึงรัชกาลที่ 5 ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น คติใดๆก็ดีที่ว่ามุสลิมีนเป็นชนอีกพวกหนึ่ง ไม่มีอะไรผูกพันกับประเทศไทย เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นจริงโดยทั้งสิ้น หลักฐานต่างๆถึงแม้จะมีน้อย แต่เท่าที่มีก็ปรากฏชัดว่า มุสลีมีนได้มีส่วนร่วมสร้างประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนตกมาเป็นประเทศไทยที่เราเห็นในทุกวันนี้..."( คัดจากเอกสารเผยแพร่สภาศิลปะวัฒนธรรมมุสลิมสยาม)


 


 


มุสลิม : ส่วนร่วมความหลากหลายในอดีตสู่ความเป็นอยู่ในสยามปัจจุบัน


 


จากการเดินทางไปกับห้องเรียนสัญจร เมื่อวันที่ 30 กค. ที่ผ่านมา เมื่อไปถึง มัสยิดต้นสน ก็ยังตั้งอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมไทยพุทธอย่างไม่ขัดเขินเหมือนดังอดีตที่หลายท่านเล่าให้ฟังระหว่างทาง วิทยากรท่านหนึ่งผู้ให้ความรู้ในห้องเรียนสัญจรครั้งนี้ บอกว่า หากเรามองภาพรวมไปถึงสมัยตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ละแวกนี้ จะประกอบไปด้วยมัสยิด 3 แห่ง วัดอีก 4-5 วัด และโบสถ์คริสต์อยู่ใกล้กัน และอยู่ด้วยกันมาได้อย่างไร้ความขัดแย้งมาจนปัจจุบัน


 


นาย พันทิน จิตต์หมวด เล่าประสบการณ์ชีวิตในชุมชนท่ามกลางความหลากหลายดังกล่าวให้ฟังว่า ระหว่างชุมชนพุทธกับมุสลิมที่เขาอยู่ บ้านเขาอยู่ห่างกันกับวัดเพียง 3 เมตร มีเพียงคลองกั้นกลางเท่านั้น ตั้งแต่เด็ก คุณแม่จะตื่นมาละหมาดแต่เช้าราวๆ ตี 5 แต่พอฟังก็หลับต่อ เวลาที่ตื่นมาละหมาดเช้ากลับเป็นเวลาที่ พระตีระฆัง เป็นความใกล้ชิด หรือโตมากับวัฒนธรรมที่หลากหลายและยอมรับความต่างอย่างไม่แปลกแยก


 


อิหม่ามพัฒนา หลังปูเต๊ะ ประธานกรรมการมัสยิดต้นสน ได้เล่าให้ฟังถึงคำชื่นชมของประเทศในโลกอาหรับ ที่เชื่อกันว่าเป็นมุสลิมที่เคร่งในศาสนา เมื่อกล่าวถึงประเทศไทย หลังมาเยือนชุมชนมุสลิมที่มัสยิดต้นสนว่า "นี่คือประเทศไทยที่ให้อิสรภาพมากกว่าหลายประเทศทั้งๆที่เป็นประเทศมุสลิมเองก็ตาม ชุมชนมัสยิดต้นสนทั้งๆที่อยู่ระหว่างวัดวาอาราม แต่ก็สามารถอยู่ได้โดยไม่มีปัญหากว่า 400 ปี อยากจะเรียนให้มุสลิมในประเทศไทยทราบว่า ไทยให้สิทธิเสรีภาพมากกว่าประเทศอาหรับเสียอีก"


 


นอกจากนี้ อิหม่ามพัฒนา ยังได้กล่าวถึงความเป็นศาสนูปถัมป์ภกขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สนใจในมุสลิมทั้งที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และใส่ใจในทุกศาสนาอย่างที่ไม่มีกษัตริย์องค์ใดในโลกเสมอเหมือน


 


"ยกตัวอย่างคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ มุสลิมอ่านได้จบตั้งแต่ 6 ขวบ แต่ไม่รู้ความหมาย แต่บุคคลแรกที่ทำให้เราเข้าใจคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะทุกๆปีจะมีการเชิญพระคัมภีร์อัลกุรอานมาอ่าน โดยท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน ทรงชื่นชมพระคัมภีร์ทุกครั้งว่ามีความซาบซึ้งเข้าไปในหัวใจ และจะทรงหลับตาเพื่อรับฟังอย่างทราบซึ้ง และพระองค์ทรงตรัสว่าจะทำอย่างไรให้ได้รู้ความหมายด้วย จากนั้นจึงประทานเงินส่วนพระองค์ให้ท่านจุฬาราชมนตรี แปลพระคัมภีร์ อัลกุรอาน ฉบับ ภาษาไทยเล่มแรกขึ้นมา" อิหม่ามพัฒนากล่าว


 


หลังจากนั้น ที่มัสยิดได้มีการทำพิธีละหมาด ซึ่งทำให้นักเรียนสัญจรได้มีโอกาสเห็นการทำพิธีของชาวมุสลิมอย่างใกล้ชิด ที่คงพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก เพราะปกติ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นเรื่องที่กระทำกันในกลุ่มชาวมุสลิมเองมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ปกปิดอะไร บรรยากาศของพิธีวันนั้นเต็มไปด้วยความสงบ สันติ และดูเคร่งขรึมสร้างพลังทางศาสนาอย่างมากทีเดียว


 


หลังจากมัสยิดต้นสน คณะนักเรียน สัญจร ได้เดินทางต่อไปยัง มัสยิดบางหลวง ที่นี่หากใครไม่เคยไปหรือเคยเห็นมาก่อน คงสับสนไม่น้อยว่ามัสยิดหลังนี้คือ วัดหรือมัสยิดกันแน่ เพราะรูปทรงของมัสยิดบางหลวงนี้ ขัดกับจินตภาพของมัสยิดที่เคยเห็นกันทั่วไปจนคุ้นชินตา เพราะไม่มีทั้งโดม หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้รู้ว่า เป็นมัสยิด


 


รูปทรงอาคารดังกล่าวกลับไปคล้ายกับสถาปัตยกรรมไทย ที่เป็นอาคารโบสถ์ วิหาร ในวัดไทย โดยเฉพาะที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่พอเข้าไปข้างในแล้วพบกับภาษาอาหรับ และพระพุทธรูปนั่นเองจึงทำความรู้สึกกลับมาว่า นี่คือ มัสยิด จริงๆ


 


เมื่อฟังจากคุณลุง ชาย จอนสุข ผู้รู้ในชุมชน จึงทำให้ทราบว่า มัสยิดแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ในขณะเดียวกัน แม้เรามักจะเห็นมัสยิดรูปโดมจนชินตา แต่นั่นกลับเป็นความเข้าใจผิด ว่ารูปทรงของมัสยิดต้องเป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีการปรับตัวทางวัฒนธรรม รูปทรงโดมของมุสลิมเองก็รับมาจากโบสถ์ของชาวคริสต์ ที่เห็นว่าสวยงาม โดยมุสลิมได้ให้ความหมายแทนท้องฟ้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า เสียงที่กล่าวถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ตามพระคัมภีร์อัลกุรอาน จะกระจายไปทั่วท้องฟ้า


 


ดังนั้น มัสยิดที่ไม่มีโดม แบบที่ มัสยิดบางหลวง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหลักศาสนาแต่อย่าง ใด ใน จ. ปัตตานีเอง ซึ่งเป็นมุสลิมที่มีเชื้อสาย ไทยมลายู ก็มีการสร้างมัสยิดแบบสถาปัตยกรรมไทยหลายแห่ง


 


สิ่งที่ต้องระวังมากกว่า ในมัสยิด คือ ต้องไม่ให้มีรูปเคารพใดๆ เพราะขัดหลักศาสนา และต้องเป็นพื้นที่ที่สะอาด เท่านั้น จึงพอจะกล่าวได้ว่า รูปทรงของมัสยิดบางหลวงคล้ายกับเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันถึงความกลมกลืนทางวัฒนธรรมของไทย กับวัฒนธรรมมุสลิมตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 


 


บทส่งท้าย


 


จากการเรียนประวัติศาสตร์บนความหลากหลายใน "ห้องเรียนสัญจร" เมื่อวันนั้น ทำให้เห็น รูปธรรมของ "ความแตกต่าง" ที่สามารถอยู่ด้วยกันได้ เพียงแต่อยู่ภายใต้การเคารพและให้เกียรติ รวมทั้งไม่ก้าวก่ายในความต่างนั้น ความสงบสุขสันติ หรือความสมานฉันท์ ที่แท้จึงจะเกิดขึ้นได้จริง


 


ดังนั้น การเข้าใจและยอมรับความแตกต่าง โดยนำประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ "สร้างขึ้น" มาเป็นตัวตั้ง ปัญหาในภาคใต้ก็อาจจะมีทางคลี่คลายลงได้ ภายใต้การให้เกียรติ กันและกัน อย่าง น้อยทางภาครัฐผู้มีส่วนในการออกนโยบายควบคุมความสงบสันติบนพื้นที่ ก็ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมบนพื้นที่ให้ถ่องแท้เสียก่อน เพราะความจริงแล้ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่ได้มีบริบทที่แตกต่างไปจาก ชุมชนมัสยิดต้นสน หรือชุมชนมัสยิดบางหลวง เลย เพียงแต่รัฐไปทำการศึกษาเสียก่อน ว่า "ก่อนกาลไม่มี "สมานฉันท์" เขาอยู่กันอย่างไร จาก


 


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=157&SystemModuleKey=SepcialReport&SystemLanguage=Thai


 


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=158&SystemModuleKey=SepcialReport&System_Session_Language=Thai


 

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=159&SystemModuleKey=SepcialReport&System_Session_Language=Thai




[i] ต้นสายตระกูลบุนนาค ในปัจจุบัน ซึ่งสายตระกูลบุนนาค นี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในราชสำนักสยาม และมีผู้ได้รับตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาถึง 3 คน ได้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ(ทัต บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) ซึ่ง บุคคลสุดท้าย ต่อมา เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อครั้งรัชกาล ที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ด้วย



[ii] คำว่า จุฬา น่าจะมาจาก คำว่า ชูฬอ ในภาษา อาหรับ แปลว่าคณะที่ปรึกษา ในสมัยอยุธยาไม่ใช่เพียงตำแหน่งผู้นำทางศาสนาอย่างเดียวดังปัจจุบัน แต่เป็นผู้นำทางการทหารมุสลิมด้วย


 



[iii] มุสลิมเชื้อสายเปอร์เชียที่มาจากชวา ต่อมาได้เข้ามาเป็นเจ้าเมืองสงขลา และไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ส่วนลูกหลานน่าจะเข้ามาทำการค้าและตั้งถิ่นฐานในบริเวณธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองด่านการค้า ต่อมากลายเป็นชุมชนจึงมีการตั้งมัสยิดต้นสนขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net