Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เช้าวันอังคารที่ 23 สิงหาคมว่า มีข่าวลือจากสายข่าวทหารว่า  พลเอกตานฉ่วยถูกบีบให้เซ็นจดหมายลาออกจากตำแหน่งประธานเอสพีดีซี  ขณะถูกกักบริเวณที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง


กลุ่มผู้ยึดอำนาจครั้งนี้นำโดย พลเอกหม่องเอและขุนพลคนสนิทอีกสี่คน คือ พลเอกตุระฉ่วยมาน พลโทติน เส่ง และนายทหารระดับแม่ทัพภาคอีกสองคน  กลุ่มผู้ยึดอำนาจอ้างว่าพลเอกตานฉ่วยมีปัญหาด้านสุขภาพจึงไม่สามารถบริหารประเทศได้อีกต่อไป

ข่าวลือนี้  สร้างความกังวลให้เพื่อนบ้านอย่างไทยมากกว่าการปลดพลเอกขิ่นยุ้นต์ที่ผ่านมา เนื่องจากพลเอกขิ่นยุ้นต์ ดำรงตำแหน่งเฉพาะรัฐมนตรีและมีบทบาทสำคัญในงานข่าวกรอง ขณะที่พลเอกตานฉ่วยดำรงตำแหน่งประธานเอสพีดีซีซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศมานานถึง 13 ปี


หากข่าวการเปลี่ยนตัวผู้นำครั้งนี้เป็นความจริง จะเปรียบได้กับการเปลี่ยนคนถือหางเสือของนาวาลำใหญ่ที่มีชื่อว่า "ประเทศพม่า" เลยทีเดียว ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเราจะต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนตัวผู้นำครั้งนี้อย่างแน่นอน

หากย้อนกลับไปดูข่าวพม่าในรอบเดือนที่ผ่านมาจะพบว่า  มีสัญญาณบอกเหตุความเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลหลายครั้ง อาทิ คำสั่งปลดรัฐมนตรี 3 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ รมต. การศึกษา และ รมต. ประจำสำนักนายก 2 คน นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งปลด ผอ. สำนักงานเอสพีดีซี และสลับตำแหน่งระหว่าง พลโท จ่อวิน ผบ. เจ้ากรมการฝึก และพลโท เยมิ้นท์ ผบ. ยุทธการพิเศษ โดยพลโทจ่อวินซึ่งได้รับตำแหน่งใหม่เป็น ผบ. ยุทธการพิเศษ เคยเป็นลูกน้องเก่าของพลเอกหม่องเอสมัยคุมกำลังแถวรัฐฉานภาคตะวันออก

ปัจจัยที่คาดกันว่าอยู่เบื้องหลังข่าวลือยึดอำนาจครั้งนี้  สันนิษฐานว่ามาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน

ปัจจัยแรก คือ ปมขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งหลังจากปลดพลเอกขิ่นยุ้นต์ ผู้นำอันดับสาม พลเอก


ตานฉ่วยและพลเอกหม่องเอต่างพยายามขยายอาณาจักรธุรกิจของตนเองให้มากที่สุด เมื่อเครือข่ายธุรกิจของใครเริ่มเกินหน้าเกินหน้า อีกฝ่ายจึงต้องรีบเผด็จศึก โดยก่อนหน้าการยึดอำนาจครั้งนี้มีข่าวว่า ลูกเขยของพลเอกตานฉ่วยชื่อว่า เต่จ๊ะ ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ


พลเอกหม่องเอจึงหวาดระแวงว่า หากปล่อยให้ขยายอาณาเขตธุรกิจต่อไปเรื่อย ๆ ธุรกิจของเขาก็จะกระทบกระเทือน ทางที่ดีควรรีบกำจัดศัตรูให้พ้นทางแต่เนิ่น ๆ เช่นเดียวกับการชิงปลดพลเอกขิ่นยุ้นต์และยึดธุรกิจโทรคมนาคมทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การบริหารงานของกองทัพก่อนที่อีกฝ่ายจะลงมือดังที่ผ่านมา


คาดกันว่า หลังการปลดพลเอกตานฉ่วยครั้งนี้ ธุรกิจในพม่าจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น

แล้วพลเอกหม่องเอก็จะกลายเป็นผู้นำทางทหารและคุมเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในพม่า ขณะนี้ บรรดาธุรกิจที่เคยอยู่ภายใต้สายสัมพันธ์ของพลเอกตานฉ่วยต่างเริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ กันแล้ว เพราะหากมองบทเรียนจากการปลดขิ่นยุ้นต์ที่ผ่านมาก็จะพบว่า เมื่อสายสัมพันธ์อำนาจเปลี่ยน นอกจากธุรกิจจะเจ๊งแล้ว  เจ้าของธุรกิจอาจต้องเข้าไปนอนซังเตร่วมกับสายสัมพันธ์ในอดีตอีกด้วย

ปัจจัยที่สอง คือ เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองทุนโลก ฯ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ตัดเงินช่วยเหลือเพื่อรับมือโรควัณโรค ,มาลาเรีย และเอชไอวี/เอดส์ จำนวน 98 ล้านดอลลาร์สำหรับ 5 ปีข้างหน้า เหตุผลของการตัดเงินช่วยเหลือครั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลพม่าขัดขวางการเดินทางไปปฏิบัติงานตามพื้นที่ต่าง ๆ ของกองทุนโลกฯ การตัดเงินจำนวนดังกล่าวทำให้รัฐบาลพม่าเดือดร้อน


เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลพม่ามีงบประมาณน้อยมากที่จัดสรรให้การศึกษาและสาธารณสุข รัฐบาลพม่าพยายามออกมาเรียกร้องให้ยูเอ็นทบทวนการตัดสินใจใหม่โดยออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลแต่ไม่สำเร็จ


การเปลี่ยนตัวผู้นำ  จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งที่ต้องการแสดงให้นานาชาติเห็นว่า ผู้บริหารประเทศคนเก่าซึ่งไม่ให้ความร่วมมือกับยูเอ็นได้ลงจากอำนาจแล้ว และประเทศพม่ากำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศใหม่

ทว่า หากพิจารณาประวัติกลุ่มผู้นำที่อยู่ในข่าวลือยึดอำนาจครั้งนี้และคาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศชุดใหม่แล้ว ความเห็นใจของนานาชาติอาจลดลงไปอีก เพราะประวัติของแต่ละคน  ล้วนผ่านสนามรบกันมาอย่างโชกโชน เรียกว่าเป็นขุนพล "สายเหยี่ยว" ที่นิยมใช้กำลังอาวุธมากกว่าการเจรจาทั้งสิ้น

เริ่มจากพลเอกหม่องเอ  ผู้นำยึดอำนาจครั้งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นทหารสายเหยี่ยวที่ทำให้กองทัพพม่าเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพและรองประธานเอสพีดีซีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เป็นต้นมา กองทัพพม่าขยายกำลังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนขึ้นมีกำลังพลมากเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคนี้ กำลังพลที่เพิ่มมากขึ้นนี้  ไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน


 


แต่สำหรับสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในประเทศตนเอง พลเอกหม่องเอได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนายทหารที่เกลียดการเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยเป็นที่สุด โดยเฉพาะกับกลุ่มว้า UWSA ซึ่งเดิมมีพลเอกขิ่นยุ้นต์หนุนหลัง สำหรับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ พลเอกหม่องเอยืนยันเสมอมาว่า การปราบชนกลุ่มน้อยต้องใช้ "กำลัง" มิใช่ "การเจรจา"


เพราะการเจรจาจะนำไปสู่การต่อรองผลประโยชน์และสิทธิต่าง ๆ ซึ่งเขาไม่ต้องการให้เกิดขึ้นสำหรับเขา "สงครามเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งสงบในดินแดนชนกลุ่มน้อย"

ขุนพลทหารสายเหยี่ยวอีกสองคนที่ร่วมขบวนยึดอำนาจครั้งนี้ คือ พลเอก ตุระฉ่วยมาน ปัจจุบันตำแหน่งเสนาธิการสามเหล่าทัพ คำว่า "ตุระ" ในชื่อของเขาเป็นสมญานามที่ได้รับหลังปราบค่ายมานอปลอว์ฐานที่มั่นใหญ่ที่สุดของกะเหรี่ยงเคเอ็นยูจนพังพินาศลง  คำนี้มีความหมายในภาษาพม่าว่า นักรบที่เก่งกาจกล้าหาญ


เขาเป็นนายทหารดาวรุ่งพุ่งแรง  ที่ได้รับการจับตามองว่าจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอนาคตเนื่องจากได้รับมอบหมายให้คุมกำลังในสนามรบที่สำคัญ และได้เลื่อนยศรวดเร็วกว่าเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน

คนที่สอง คือ พลโท ติน เส่ง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาคนที่หนึ่งของเอสพีดีซีและประธานประชุมสมัชชาแห่งชาติ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการภาคสามเหลี่ยมทองคำในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางทหารที่สำคัญมากที่สุด เพราะอยู่ในเขตรัฐฉานซึ่งมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มและเป็นรอยต่อกับชายแดนจีน

เมื่อพิจารณาประวัตินายทหารทั้งสามคนข้างต้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยน่าจะหนักใจไม่น้อย หากทั้งหมดขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้บริหารประเทศในอนาคต เพราะความหวังที่พม่าจะก้าวเข้าขึ้นสู่ประชาธิปไตยดูเหมือนจะริบหรี่ลงไปอีก


โดยเฉพาะหากพลเอกหม่องเอ  ยกเลิกการเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยเกือบยี่สิบกลุ่มซึ่งพลเอกขิ่นยุ้นต์เคยประสานไว้ แผ่นดินพม่าก็คงจะคุโชนด้วยไฟสงครามอีกครั้ง ปัญหาผู้ลี้ภัย การไหลทะลักของแรงงาน ขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งไทยเผชิญอยู่แล้วก็คงจะขยายตัวมากขึ้น

หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเกิดขึ้นจริง สิ่งที่เราได้แต่หวังในก็คือ ขอให้กลุ่มผู้นำใหม่มองเห็นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ นำงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งที่เคยให้กองทัพกลับไปยกระดับคุณภาพการศึกษาและสาธารณสุขของประชาชน ปัญหาต่าง ๆ ในประเทศพม่าก็คงจะลดลง และเพื่อนบ้านอย่างไทยก็คงจะสบายใจตามไปด้วย

บทเรียนการผลัดเปลี่ยนอำนาจของกลุ่มผู้นำพม่าที่ผ่านมาสอนให้เราได้เห็นสัจธรรมข้อหนึ่งว่า ปลายทางของอำนาจที่ไม่ชอบธรรมย่อมเต็มไปด้วยความทุกข์ แม้ว่าอดีตผู้นำพม่าเหล่านี้ ทั้งนายพลเนวิน พลเอกขิ่นยุ้นต์ และพลเอกตานฉ่วย จะมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล แต่สุดท้ายทุกคนกลับถูกกักขังจองจำ ไร้เสรีภาพตราบจนวันสิ้นลมหายใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net