เราจะอภิวัฒน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นอย่าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้อย่างไร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา  สำนักพิมพ์ฃอคิดด้วยฅน เจ้าของหนังสือ "รู้ทันทักษิณ" ได้จัดเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นอย่าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้อย่างไร"  โดยเชิญผู้ทรงคูณวุฒิ ประกอบด้วย พระศรีปริยัติโมลี  อาจารย์สุลักษณ์ ศิวะรักษ์  และ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น และมีผมเป็นผู้ดำเนินการ

            โจทย์ในการเสวนาวันนั้น ก็สืบเนื่องมาจากดำริของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวในงาน 60 ปี สันติภาพไทย ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ว่าอยากเป็นเหมือนรัฐบุรุษ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และเสรีไทย ที่แม้เวลาผ่านไปนานแล้ว แต่ยังมีผลงานชีวิตฝากไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังชื่นชม  โดยเฉพาะเรื่องสันติภาพ เรื่องความสามัคคีกันในชาติ  อีกสัก 60 ปีข้างหน้า

            ในวงเสวนาวันนั้น ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายประการ

 

1) ผู้ทรงคุณวุฒิต่างมีความรู้สึกร่วมกันว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีเจตนามุ่งมั่นอยากจะเดินตามรอยของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สำเร็จราชการแทนฯ  โดยความสัตย์จริงแล้ว  ทุกคนก็ขออนุโมทนา ขอให้กำลังใจ และสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ  แต่ทั้งหมดก็ไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความอยากเช่นนั้นจริง ที่พูดก็คงเป็นเพียงสร้างภาพ หาเสียงกับคนในงานที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งรักอาจารย์ปรีดี

ผมเชื่อว่า หากสังคมไทยในปัจจุบัน มีนายกรัฐมนตรีที่มีเจตนาบริสุทธิ์ มุ่งรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย มีสำนึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพี่น้องร่วมแผ่นดินทุกชั้นชน มีคุณธรรมจริยธรรม มีความกล้าหาญ เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  อย่างที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยแสดงให้เห็นมาในประวัติศาสตร์  ประเทศชาติของเราในปัจจุบันก็คงจะสงบสุข มีสันติภาพและภราดรภาพ  ไม่เหลวแหลกด้วยปัญหาสังคม และไม่เกิดการรั่วไหล ไร้ประสิทธิภาพ เท่ากับวันนี้ 

 

2) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจจะสามารถเดินตามรอยรัฐบุรุษ ดร.ปรีดีพนมยงค์ ได้ หากว่ามีจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งใหญ่ ที่ช่วย "พลิกความคิด" ทำให้มองเห็นสัจธรรม ความไม่เที่ยงแท้ของอำนาจ ทรัพย์สิน และลูกเมีย เครือญาติ หรือพวกพ้อง

การ "อภิวัฒน์ทักษิณ" จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ "หลุดพ้น" จากอำนาจและความมั่งคั่งนี้เสียก่อน  เพราะในสังคมไทยนั้น คนที่อยู่ในอำนาจ และความมั่งคั่ง จะไม่มีทางได้สัมผัสกับสัจธรรมที่แท้จริง เพราะนอกจากจะหูอื้อตามัวเพราะฤทธิ์ของอำนาจและผลประโยชน์แล้ว ยังต้องถูกผู้คนที่ไม่มีความจริงใจห้อมล้อม เยินยอ ปิดบังจากความจริง เพื่อหวังปอกลอกเอาผลประโยชน์ของสังคมเข้าพกเข้าห่อของตน

การหลุดพ้นนั้น อาจมีความหมายได้กว้างขวาง นับตั้งแต่การพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปสัก 5-6 ปี, การประสบปัญหาทางธุรกิจหรือการเมืองจนทำให้สูญเสียทรัพย์, การสูญเสียในด้านอื่นๆ  รวมไปถึงการต้องเดินทางออกนอกประเทศ ต้องไปพำนักอยู่ในต่างประเทศ

 

3) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนต่างจังหวัด และเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลเช่นเดียวกันกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์  เมื่อสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ทั้งคู่ก็เดินทางกลับมาทำงานบนแผ่นดินเกิด เพียงแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากราชการเพื่อไปทำธุรกิจผูกขาดส่วนตัว ในขณะที่ ดร.ปรีดี ยังคงทำงานใช้ทุนแผ่นดินต่อไป

เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ ก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสและมุ่งให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาวิชาความรู้คู่หลักธรรม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อไป  ส่วน ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อประสบความสำเร็จการผูกขาดทางธุรกิจแล้ว ก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยชินวัตร เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน

ในประการสำคัญ  อาจารย์สุลักษณ์ ศิวะรักษ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อจะเข้าสู่การเมืองเต็มตัวนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สละธุรกิจส่วนตัว คือสละโรงพิมพ์ส่วนตัว มอบให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อใช้พิมพ์ตำราเรียน และผลงานวิชาการ เผยแพร่สู่วงกว้าง และเมื่อได้เข้ามามีตำแหน่งการเมืองแล้ว ก็ยุติธุรกิจส่วนตัวทั้งหมด แต่ได้ลงทุนซื้อธนาคารเอเชีย เพื่อเป้าหมายว่าจะให้เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลี้ยงตัวเองได้ พร้อมๆ กับผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมออกไปดูแลรับใช้บ้านเมือง

น่าสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เข้าสู่การเมือง โดยโอนหุ้นและโอนทรัพย์สินต่างๆ ไปให้แก่ลูกชาย คนรับใช้ คนขับรถ โดยไม่ยอมเลือกทำตามแนวทางของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรี ที่ให้โอนทรัพย์สินไปให้บริษัทจัดการทรัพย์สินดูแลแทน จะได้ไม่ต้องมีปัญหาผลประโยชน์ส่วนได้เสียในการบริหารประเทศ  และเมื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว รัฐบาลทักษิณก็ได้ขายทรัพย์สินของแผ่นดินจำนวนมาก เช่น บริษัท ปตท. การบินไทย ฯลฯ และกำลังจะขายการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และรัฐวิสาหกิจต่างๆ

 

4) ดร.ปรีดี พนมยงค์  เป็นผู้วางหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย และการแบ่งแยกอำนาจในการปกครอง โดยที่เคยชี้แนะไว้ว่า

            "อำนาจสูงสุดในประเทศนั้น แยกออกได้ 3 ประการ คือ

(1) อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย หรืออำนาจนิติบัญญัติ 

(2) อำนาจในการปฏิบัติตามกฎหมาย หรืออำนาจบริหาร 

(3) อำนาจในการวินิจฉัยกฎหมาย หรืออำนาจตุลาการ"

            การวางหลักในการแบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 ออกจากกัน เพื่อให้เกิดการคานและดุลย์อำนาจ นอกจากนี้ ดร.ปรีดร พนมยงค์ ก็ได้เข้าสู่อำนาจทางการเมืองขณะที่การเมืองมีอำนาจกระจุกตัว แต่ได้ดำเนินการกระจายอำนาจออกไปสู่ท้องถิ่น ระบบเทศบาล  พยายามทำอำนาจที่กระจุกตัวให้กระจายตัวออกไป 

ยิ่งกว่านั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้วางหลักการของระบบศาลปกครอง เพื่อหวังจะให้ทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการ มีอำนาจหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนมิให้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จนในที่สุด ก็เริ่มต้นที่การมีคณะกรรมการกฤษฎีกา และในที่สุด ประเทศของเราก็มีศาลปกครองในปัจจุบัน

แต่น่าแปลกใจ  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาสู่การเมือง โดยทำให้ระบบที่รัฐธรรมนูญวางไว้สำหรับการกระจายอำนาจ กลับต้องกระจุกอำนาจกลับเข้ามารวมศูนย์ ไม่ว่าจะโดยการงบประมาณ งบกลาง การบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้าย ผู้ว่าซีอีโอที่บูรณาการอำนาจ

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลทักษิณ ได้ออก พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ อันเป็นการตอนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และล่วงละเมิดทำลายอำนาจฝ่ายตุลาการ ที่กำหนดไว้ใน พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ไม่สามารถเอาผิดผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ทางแพ่ง อาญา และวินัย นับเป็นกฎหมายที่ลิดรอนอำนาจตุลาการยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติ ที่ยังให้ฝ่ายตุลาการคงอำนาจอยู่เหมือนเดิม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังได้เป็นการทำลายฐานอำนาจของศาลปกครองเป็นการเฉพาะอีกด้วย!

 

5) ในแง่ของการเป็นนักคิดและความกล้า  ดร.ปรีดี พนมยงค์ กล้าคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิและเสรีภาพ  มีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ  ตลอดจนหลัก 6 ประการ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้มีเอกราชและมีส่วนร่วมที่แท้จริง   แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็กล้าคิดใหม่ กล้าเสนอและดำเนินการหวยบนดิน และกำลังจะเสนอบ่อนการพนัน  ในขณะที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของต่างชาติ แต่พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไปจับคู่ตกลงการค้าระหว่างประเทศ (FTA) และการใช้กลวิธีการตลาดมารับใช้การเมืองได้อย่างแยบยล 

ข้อนี้ ความกล้าจึงมีอยู่แล้ว ความฉลาดก็มีอยู่แล้ว  ขอเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ "พลิกความคิด"  พบสัจจธรรมด้วย "จุดเปลี่ยนชีวิต"  เกิดการหลุดพ้นจากอำนาจและผลประโยชน์ของคนรอบตัว เท่านั้น! 

 

หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความบริสุทธิ์ใจที่มุ่งมั่นจะถือเอาชีวิตของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นแบบอย่างจริง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะต้องช่วยตัวเองด้วยการละทิ้ง สัมภาระที่เกินจำเป็นของชีวิตรัฐบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ธุรกิจของครอบครัว  ความหยิ่งลำพองในอำนาจ และเลิกคบพวก "ขันที" ที่คอยป้อยอเอาใจ สอพลอหาผลประโยชน์อยู่ใกล้ตัว 

คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเจ๊ นายหญิง หรือคุณหนู ก็จะต้องช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย  โดยเลิกเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากอิทธิพลและอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ และดูท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ และครอบครัวเป็นแบบอย่าง

จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด  หมั่นรับฟังกัลยาณมิตร และประชาชนผู้หวังดีต่อบ้านเมือง  มุ่งลดอำนาจของตน แต่เพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน

รีบเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ก่อนที่ผู้อื่นจะมาบังคับให้เปลี่ยน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท