Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางสายลมอ่อนๆ ในคืนเดือนหงาย "สายัณห์ น้ำทิพย์"พนักงานพิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ  และสหายเปิดคอนเสิร์ตเล็กๆ กลางป่าบ้านเขาเหล็ก จ.กาญจนบุรี ให้บรรดาผู้สื่อข่าวหลายสำนักที่เดินทางมาสำรวจโครงการ "จอมป่า" กับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้รับชม


 


บางคนร้องคลอไปในบางเพลง ขณะที่บางคนเหมือนต้องมนต์สะกดกับบทเพลง และบทพูดที่คั่นกลางเพลงต่างๆ อันสะท้อนความยากลำบาก แต่มุ่งมั่นในอาชีพ "พิทักษ์ป่า" 


 


เมื่อใครก็ตามที่ความมุ่งมั่นในบางสิ่งบางอย่างอย่างแรงกล้า ย่อมเป็นเสน่ห์ดึงดูดความสนใจของผู้คนโดยตัวเอง ยิ่งเป็นความมุ่งมั่นบนความลำบากตรากตรำและไม่เข้ายุคเข้าสมัยโดยสิ้นเชิงอย่างอาชีพคนเฝ้าป่านี้ด้วยแล้ว ไม่แปลก ที่วงสนทนาเล็กๆ จะเกิดขึ้น หลังสิ้นสุดเสียงเพลง


 


"มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ผมไปทำงานอื่นคงไม่มีความสุข ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดแล้ว ผมอยู่ตรงนี้แล้วมีความสุขก็จะอยู่ตรงนี้ แม้ว่าจะแลกมาด้วยอันตรายต่างๆ และผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า หมายถึงทุกคนที่อยู่ตรงนี้เลยนะ มันต้องคนที่รักจริงๆ " สายัณห์เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าอยู่เป็นเวลาเกือบ 20 ปี


 


เขาค่อยๆ บรรยายภาพชีวิตที่ต้องจมหายอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรให้ฟังว่า เต็มไปด้วยความแร้นแค้นที่เป็นสุข การตั้งหน่วยในป่าลึกที่การส่งเสบียงต้องเดินทางอย่างน้อย 2 วัน ทำให้ขาดแคลนทั้งน้ำ ไฟ และเสบียงอาหาร ปลากระป๋อง มาม่า ข้าวสาร พริกและเกลือ คืออาหารหลักที่ขาดเสียไม่ได้ เมื่อประกอบกับผักป่าสารพัด โดยเฉพาะมะเขือขื่นแล้ว มันรวมกันเป็นอาหารเลิศรส


 


"อร่อยมาก อร่อยทุกมื้อ ถึงแม้ข้าวจะดิบบ้าง ไหม้บ้าง ก็อร่อย เพราะเราเดินกันเต็มที่" คำบอกเล่ากับชีวิตการลาดตระเวนครั้งละประมาณ 1 สัปดาห์ตลอดแนวป่าลึก ที่พวกเขาต้องหมุนเวียนกันทำเป็นกิจวัตรนับเดือน นับปี นับสิบปี


 


แล้วพวกเราก็ถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างแรงบันดาลใจของเขากับ "สืบ นาคะเสถียร"  ขุนเขาอันยิ่งใหญ่ของบรรดาผู้พิทักษ์ป่า และต้นธารของกระแสกระอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยังมีพลังอยู่จนปัจจุบัน..... โดยหารู้ไม่ว่า.......สายัณห์คนนี้ผูกพันกับสืบมากว่าหนึ่งปี ก่อนที่เสียงปืนจะดังขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533


 


"ผมเริ่มต้นเป็นลูกจ้างป่าไม้ที่จังหวัดราชบุรี เริ่มใช้ชีวิตที่แตกต่างเป็นครั้งแรก ได้อยู่กับป่า ได้เห็นสัตว์ป่า ทำให้เรารู้สึกรัก ก็เลยมาสอบเป็นพนักงานพิทักษ์ป่าได้ที่ห้วยขาแข้งเมื่อปี 2532 วันเดียวกับที่หัวหน้าสืบไปเป็นหัวหน้าที่นั่น"


 


เขาเล่าว่าหัวหน้าสืบนั้น เรียกแทนตัวเองว่า "พี่" และให้ความช่วยเหลือดูแลลูกน้องโดยตลอด นอกจากงานลาดตระเวนแล้ว ก็ยังคอยชี้แนะให้ทำงานรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น การจดบันทึกพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์


 


"ผมจำหลายอย่างจากการทำงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตัว ครั้งหนึ่งเขาเคยให้เจ้าหน้าที่ทุกคนดื่มน้ำสาบานร่วมกัน ห้ามกินเนื้อสัตว์ป่า ทำให้เราเห็นว่าเขาคิดยังไงกับสัตว์ป่า"


 


"หัวหน้าสืบมีผลต่อความคิดผมมาก มันเหมือนมีห้องความคิดหนึ่งเพิ่มมาเพื่อจดจำตรงนี้ไว้ เหมือนตัวผมมีอะไรบางอย่างเพิ่มมา เพื่อนสมัยเก่าหลายคนก็บอกว่าผมเปลี่ยนไป ไม่ใช่สมัยที่เรียน หลายๆ อย่างที่ผมทำ ผมทำโดยคุ้นจากที่เขาถ่ายทอดมาให้ ผมพยายามทำสม่ำเสมอ แต่อาจจะไม่ครบถ้วนทุกอย่าง แต่เรารู้ได้ว่าบางอย่างยังคงอยู่"


 


สายัณห์เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่แววตาโชนกล้าด้วยแรงศรัทธาที่ไม่มีวี่แววจางหาย


 


15 ปีผ่านไปแล้ว แต่สายัณห์ยังคงต้องแบกร่างเพื่อนจากการยิงปะทะกับคนลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่า ลูกน้องหลายคนต้องสูญเสียชีวิต แทบไม่ต่างกับสถานการณ์ช่วงที่สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งถือว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่การบุกรุกผืนป่ามีความรุนแรงมาก


 


"มีหลายคนที่คล้ายกับผม พอเข้ามาทำงานตรงนี้แล้วผูกพัน แม้จะยากลำบาก เสี่ยงประทะกับคนล่าสัตว์ ถึงขั้นเสียชีวิตก็มี ผมก็เคยแบกเพื่อที่บาดเจ็บจากการปะทะหลายครั้ง แม้สถานการณ์โดยรวมตอนนี้จะดีขึ้น"


 


เราถามเขาว่า  "การปะทะ"ที่ว่านั้นหมายถึงชาวบ้านโดยทั่วไป หรือ นายทุน สายัณห์ตอบกลับอย่างรวดเร็ว.....เรื่องนี้ต้องทำกันเป็นกระบวนการอยู่แล้ว มีชาวบ้านลงมือและนายทุนคอยหนุนหลังทั้งเงิน ทั้งอาวุธ และอิทธิพล


 


สำหรับเรื่องสวัสดิการและค่าความเสี่ยงของผู้พิทักษ์ป่าทั้งผืนนั้น เชื่อหรือไม่ว่า พ.ศ.2548 นี้เงินของลูกจ้างที่ช่วยดูแลป่าอยู่ที่ 4,000 บาทต่อเดือน


 


"มีเยอะเลยที่ได้ 4,000  อยู่ด้วยกันนี่แหละ ทำงานด้วยกัน ลำบากด้วยกัน แล้วเราก็ต้องดูแลเขาด้วย เพราะเงินเดือนเรามากกว่าเขา แต่พอหลายๆ คนเข้าบางทีคนเงินเดือน 4,000 อาจมีเงินเหลือมากกว่าคนเงินเดือนหมื่นเศษเสียอีก"สายัณห์เล่าไปหัวเราะไป อย่างสะเทือนใจคนฟัง


 


15 ปีผ่านไป กระแสการอนุรักษ์ป่าเพิ่มมากขึ้น แต่ชีวิตของ "พิทักษ์ป่า" ดูเหมือนไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก  .......


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net