คำประกาศเกียรติคุณ จอน อึ๊งภากรณ์ รางวัล "รามอน แมกไซไซ" สาขาการบริการภาครัฐ ประจำปี 2548

 ในพิธีมอบรางวัลรามอน แมกไซไซ


31 สิงหาคม 2548, มนิลา ฟิลิปปินส์

 

เป็นเวลาไม่น้อยเลยในศตวรรษที่ 20 นี้ ที่รัฐบาลของประเทศไทยเป็นรัฐบาลทหารที่ผ่านมาทางการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงกระนั้นก็ดี "ประชาธิปไตย" ก็กำลังค่อยๆเกิดขึ้นอย่างช้าๆ  รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2540 ได้ทำให้ภาคประชาสังคม และกระบวนการแสดงความคิดเห็นของประชาชนสามารถเป็นไปได้มากขึ้นผ่านการเลือกตั้ง การเปลี่ยนผ่านด้านประชาธิปไตยของประเทศดูจะเป็นไปได้อย่างดี  แต่ในวันนี้ ประชาธิปไตย และ "การเมืองเรื่องเงิน" ได้สร้างโครงสร้างทางอำนาจใหม่ขึ้นในประเทศไทย "เราไม่เคยมีรัฐบาลที่มีอำนาจมากมายขนาดนี้มาก่อน" วุฒิสมาชิกจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าว และด้วยความจริงที่ว่า ยังมีประชาชนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีเสียงในสังคม จอนในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจึงต้องทำหน้าที่ส่งเสียงแทน

 

จอนเป็นบุตรของ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ซึ่งเป็น "สถาปนิกทางสังคม" ของรัฐไทยสมัยใหม่ และเป็นคนแรกๆที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ จอนเกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2490 และจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากที่นั่น เขากลับมาประเทศไทยและเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ความผันผวนทางการเมืองในช่วงปี 2516-2519 ทำให้เขาหันไปสนใจประเด็นทางสังคม และในปี 2523 เขาได้ก่อตั้ง "โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม" (ปัจจุบันคือมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) โดยมีจุดมุงหมายในการสร้างอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ให้ไปทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และคนยากคนจนในชนบท จอนยังได้ช่วยองค์กรพัฒนาเอกชนรุ่นใหม่ๆในเรื่องการจัดการและการระดมทุน อันทำให้เขามีบทบาทในการเชื่อมร้อยภาคประชาสังคมของประเทศไทยเข้าด้วยกัน

 

จอนยังเป็นบุคคลแรกๆที่ตอบสนองต่อสถานการณ์เอดส์ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2534 เขาได้ก่อตั้ง "มูลนิธิเข้าถึงเอดส์" ขึ้น โดยที่เขาเป็นผู้บุกเบิกเรื่องการให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อและครอบครัว รวมทั้งต่อสู้เรื่องการที่สังคม"ประทับตรา" ให้แก่ผู้ติดเชื้อ  ตลอดจนการรณรงค์ในเรื่องสิทธิที่คนทุกคนต้องได้รับการดูแลรักษา  และในฐานะประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) เขามีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานด้านเอดส์ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเสนอแนะในเชิงนโยบาย

 

และเมื่อรัฐธรรมนูญไทยฉบับใหม่กำหนดว่าวุฒิสมาชิกต้องมาจากการเลือกตั้ง จอนจึงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งในปี 2543 ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายการทำงานด้านเอดส์ จนทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้น จอนกล่าวว่า "ไม่มีใครฟังเสียงของ NGOs แต่ถ้าคุณคือวุฒิสมาชิก ทุกคนก็จะหันมาสนใจ"

 

วุฒิสภาไทยไม่ได้มีบทบาทในการออกกฎหมาย แต่มีบทบาทสำคัญในการติดตามการทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงการสร้างแนวทางทางด้านกฎหมาย ในฐานะที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จอนใช้บทบาทนี้ในการสร้างความตระหนักให้แก่สังคมในเรื่องประชาชนชายขอบ และใช้ช่องทางของสื่อในการวิพากษ์ และนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่คณะกรรมาธิการค้นพบต่อสาธารณะ ซึ่งถ้าหากไม่ใช้วิธีการเช่นนี้ ประเด็นทางสังคมก็มักจะถูก "ฝัง" อยู่ท่ามกลางความล่าช้าของระบบราชการ และด้วยบทบาทเช่นนี้ จอนสามารถผลักดันให้ "นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค" ครอบคลุมการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์, การต่อสู้ในเรื่องการยกเลิกสิทธิบัตรยาของบริษัทบริสทอล ไมเยอร์ส สควิบ จนทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อด้วยราคาที่ถูกกว่าถึงครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงการผลักดันให้รัฐบาลสั่งระงับการขายอาหารเสริมที่ผู้ขายโฆษณาว่าเป็นยาวิเศษสำหรับผู้ติดเชื้อ

 

จอนยังใช้บทบาทของการเป็นวุฒิสมาชิกในการเผยให้เห็นบทบาทที่โหดร้ายของรัฐบาลไทยที่มีต่อประชาชนมุสลิม รวมทั้งช่วยยืนยันสิทธิของประชาชนในชนบทที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหิน นอกจากนี้ จอนยังต่อต้านการลงโทษประหารชีวิต ต่อต้านเรื่องข้อตกลงว่าด้วยเรื่องสิทธิทางปัญญาที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชนผู้ยากจน และต่อต้านสื่อที่ไม่ยอมรายงานปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำการโดยรัฐ

 

อย่างไรก็ดี จอนไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ อย่างโดดเดี่ยวลำพัง เขายังมีเพื่อนร่วมความคิดที่เป็นวุฒิสมาชิกด้วยกัน แต่ก็เป็นกลุ่มของคนเพียงไม่กี่คน เพราะวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ต่างยอมก้มหัวให้กับรัฐบาล แต่สำหรับจอน เขารู้ว่าหัวใจและบทบาทความรับผิดชอบของเขาอยู่ ณ อีกที่หนึ่ง "ผมถูกเลือกมาโดย NGOs และชุมชนคนทำงานด้านเอดส์และผู้ติดเชื้อ" เขากล่าว "พวกเขาเป็นผู้กำหนดวาระ ผมทำหน้าที่สนับสนุน"

 

ในการเลือกจอน อึ๊งภากรณ์ เพื่อรับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาการบริการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2548 คณะกรรมการได้เล็งเห็นถึงการยืนหยัดอย่างมุ่งมั่นในฐานะวุฒิสมาชิกที่ให้ความเคารพต่อเรื่องสิทธิ และรับฟังความต้องการของประชาชนที่ด้อยโอกาสอย่างเคารพต่อความเป็นมนุษย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท