Skip to main content
sharethis

ประชาไท—31 ก.ค.48       นายสุรเกียรติ์  เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี มองความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านสำคัญ  ขณะที่อาเซียนยังเดินช้า  พร้อมแนะเอาความแตกต่างเป็นพลังผลักดันประชาคมเอเชียในอนาคต


 


ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การบริหารจัดการการต่างประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์"  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมา นายสุรเกียรติ์  เสถียรไทย  รองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า  4 ปีต่อจากนี้  ประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญที่สุด  โดยต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ต้องทำให้แต่ละประเทศอยู่ดีมีสันติสุข  ไม่ต้องกลัวการไปแผ่อิทธิพล  เพื่อให้สามารถจับมือเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งขณะนี้ก็สำเร็จบ้างแล้วในโครงการร่วมมือที่ดีระหว่างกัน  ขณะที่การทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีความสุขความเจริญถือเป็นนโยบายหลักของไทย 


 


นายสุรเกียรติ์  กล่าวว่า  "การที่ยุโรปสามารถพัฒนาเป็นสหภาพได้ก็มาจากการมีถนนหนทางที่ดี  ซึ่งตอนนี้มีโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว แต่ไทยยังไม่มีแผนดำเนินการจัดการต่อ เราต้องทำอะไรบางอย่าง  ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็คล้ายกับเปิดแค่ทางผ่านเฉยๆ"


 


ยิ่งไปกว่านั้น นายสุรเกียรติ์  กล่าวว่า  "ผมเห็นว่านโยบายต่างประเทศเบื้องต้น คือการไม่ไปแทรกแซง ผมไม่สนับสนุนให้ใครไปแทรกแซง  เราต้องพร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างกัน"


 


นอกจากนี้  อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศ  ได้ขยายภาพไปถึงอาเซียนช่วง ซึ่งท่านมองว่าระยะหลังมีความเข้มแข็งขึ้น และพัฒนาเข้าร่วมในประชาคมเอเชียตะวันออก ทั้งยังกำลังเป็นอิฐค่อยๆ ก่อไปสู่ประชาคมเอเชียในที่สุด  โดยมีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง 


 


"อาเซียนใน 4 ที่ผ่านมา คืบหน้าในความร่วมมือมากขึ้น  เช่น  ความตกลงเป็นประชาคมอาเซียน 3 ขา  ประชาคมความมั่นคงอาเซียน  มีทั้งด้านความมั่นคง  เศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม  แต่อย่างไรก็ตาม อาเซียนเริ่มเห็นว่าความร่วมมือยังไปไม่ถึงไหน เพราะหลายประเทศเริ่มมี เอฟทีเอ,  WTO เมื่อวงใหญ่ไปเร็วกว่าวงเล็ก  โดยที่วงเล็กก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย  ต้องมองว่าเราจะไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร" อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ชี้ถึงความเป็นไปของอาเซียน


 


ขณะเดียวกัน  นายสุรเกียรติ์  เปิดเผยว่า จีนบอกจะทำเอฟทีเอกับอาเซียนภายในปี 2010  แต่อาเซียนเองกลับยังไม่มีแผน  ยังไม่เคยคุยเรื่องเปิดเสรีภาพด้านการลงทุน  ส่วนอินเดียจะเข้ามาทำเอฟทีเอเช่นกันภายในปี 2011  ญี่ปุ่น จะเข้ามาภายใน 2012 สำหรับเกาหลีใต้ก็บอกว่าจะมาทำเอฟทีเอไม่เกินปี 2009  แน่นอนว่าอาเซียนหนีไปไหนไม่ได้  ต้องเดินเต็มที่  แต่จะทำให้ข้างในกลวงไม่ได้


 


จากการขยายด้านความร่วมมือด้านการลงทุนดังกล่าว  เป็นเหตุให้อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศ  เห็นว่าในเอเชียที่มีกลุ่มร่วมมืออยู่อย่างกระจัดกระจายนั้น  ก็น่าที่จะมีความร่วมมือกันในเอเชียซึ่งจะเป็นสิ่งดีและควรทำ โดยประเทศไทยเป็นผู้เสนอให้มีประชาคมเอเชียเกิดขึ้น


 


"หัวใจสำคัญคือการให้ความร่วมมือในเอเชีย  แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในความเป็นเอเชียที่มีความหลากหลายและมีระดับที่ต่างกันมาก  เช่น  ศาสนา  จำนวนประชากร  ขนาดของประเทศ  ฯลฯ  จึงต้องสร้างความร่วมมือที่สามารถอยู่บนความแตกต่างกันได้  โดยเอาความหลาก หลายแตกต่างให้มีพลังในประชาคมเอเชีย ซึ่งตอนนี้มี 28 กว่าประเทศแล้วที่พร้อมเข้าร่วมใน 19 โครงการ นายสุรเกียรติ์  กล่าว


 


ทั้งนี้  ประชาคมเอเชียเป็นข้อเสนอสำหรับกลไกความร่วมมือเพื่อสอดรับกับความหลากหลายดัง กล่าว  โดยจะถูกยกเป็นประเด็นในการประชุมประชาคมเอเชียตะวันออก (East  Asia  Summit: EAS)  ที่มาเลเซียปลายปีนี้  เพื่อความสมดุลด้านเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคเอเชีย   ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีประเทศในแถบเอเชียใต้  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  เข้าร่วมด้วย 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net